Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Winny Lawyer
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2023 เวลา 07:50 • ยานยนต์
ผ่อนรถแบบบอลลูนไม่ดีตรงไหน??? ชำแหละไส้ในของสัญญาและข้อควรระวัง!!!
ถ้าพูดถึงการผ่อนรถแบบบอลลูน หลายคนคงคุ้นเคยกับคำโฆษณาเชิญชวนของโชว์รูมรถต่างๆ ที่เป็นวลีเด็ดติดหูว่า “ใช้เงินออกรถ 0 บาท” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาค่ายรถหรูแบรนด์ต่างๆ จากฝั่งยุโรป ที่มีราคาค่าตัวตั้งแต่ 2 ล้านต้นๆ ไปจนถึงราคาหลักสิบล้าน ที่หากใครคิดอยากจะครอบครองเป็นเจ้าของแล้วล่ะก็ ต่อให้จัดไฟแนนซ์เต็มที่ ผ่อน 7 ปี อย่างไรก็หนีไม่พ้นเงินดาวน์ก้อนแรกที่ทำให้หลายคนกระเป๋าฉีกเลยทีเดียว
เพราะด้วยราคาที่แพงดังกล่าว หากฐานะทางการเงินหรือเครดิตคุณไม่ได้ดีระดับเศรษฐี PANTIP เหล่าสถาบันการเงินมักไม่ยอมปล่อยสินเชื่อประเภทดาวน์ 0% ให้คุณอย่างแน่นอน
เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย หาทางเร่งระบายรถ ในขณะที่ราคารถแต่ละรุ่นพุ่งสูงขึ้นสวนทางสัดส่วนรายได้ต่อค่าครองชีพของประชากร บรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายรถจึงมักตั้งบริษัทย่อยของตัวเองขึ้นมา เช่น “บริษัท (ชื่อยี่ห้อรถ) ลีสซิ่ง จำกัด” เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่งให้แก่ลูกค้าที่ประสงค์จะออกรถหรูราคาแพง แต่ไม่มีเงินดาวน์ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังกล่าว มีชื่อเรียกที่นิยมในท้องตลาดว่า “บอลลูน”
ลักษณะโดยทั่วไปของการผ่อนรถแบบบอลลูน คือจะเป็นการผ่อนในทิศทางย้อนกลับของการผ่อนรถแบบปกติ ยกตัวอย่างให้เห็นคร่าวๆ คือ ถ้าคุณผ่อนรถแบบปกติ คุณจะต้องจ่ายเงินก้อนแรก เป็นเงินดาวน์ 10% 20% 25% 30% หรือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป หลังจากนั้นก็ค่อยทยอยผ่อนจ่ายค่างวดส่วนที่เหลือ ตามจำนวนที่เรียกว่า “ยอดจัด” ไปเรื่อยๆ จนครบ แต่สำหรับการผ่อนแบบบอลลูนนั้น จะเป็นไปในทิศทางกลับกัน คือ คุณจ่ายแค่ค่างวดแต่ละงวดไปเรื่อยๆ จนถึงงวดสุดท้าย แล้วคุณค่อยเอาเงินก้อนใหญ่ไปโปะปิดท้ายสัญญา หรือที่เรียกว่า “ก้อนบอลลูน”
หากจะพูดถึงข้อดีของการผ่อนแบบบอลลูนแล้ว หลายคนคงเห็นตรงกันว่า มันเป็นการใช้จ่ายที่กระจายความเสี่ยงได้พอสมควร สำหรับใครที่ต้องการเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ลงทุนต่อดอกออกผลให้งอกเงยระหว่างใช้รถทำมาหากิน ให้ได้มีรถดีๆ หรูๆ ใช้ ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินไม่ตึงมือจนเกินไปนัก
และเมื่อพูดถึงข้อเสียของมัน เชื่อว่าหลายคนคงตะโกนออกมาพร้อมกันแทบจะในทันทีว่า “ดอกฯ แพงมาก” กล่าวคือ เมื่อคำนวณค่างวดครบทุกงวดจนถึงก้อนบอลลูนที่จ่ายเต็มจนครบสัญญาแล้ว คุณแทบจะออกรถคันใหม่ในรุ่นเดียวกันเพิ่มได้อีกคันเลยทีเดียว
แต่นั่นเป็นข้อเสียเฉพาะในมุมมองของนักวางแผนทางการเงิน หากจะว่ากันในทางกฎหมายแล้ว สัญญาผ่อนรถแบบบอลลูนยังมีไส้ในบางอย่างที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และหลายคนไม่เคยทราบถึงรายละเอียดเหล่านี้มาก่อน วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปชำแหละสัญญาผ่อนรถแบบบอลลูน เพื่อวิเคราะห์ถึงข้อควรระวังและรายละเอียดสำคัญที่ผู้บริโภคทุกคนควรศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจจรดปากกาเซ็นชื่อลงไป
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างในทางกฎหมายระหว่างการผ่อนรถแบบธรรมดา กับการผ่อนแบบบอลลูนกันก่อน
การผ่อนรถแบบธรรมดา ไม่ว่าจะดาวน์ 10% 20% 25% 30% หรือแม้แต่ดาวน์ 0% ก็ตาม ค่างวดทุกงวด (ไม่นับเงินดาวน์ก้อนแรก) จะคงที่เท่ากันจนถึงงวดสุดท้าย และเมื่อผ่อนครบจนถึงงวดสุดท้ายแล้ว “กรรมสิทธิ์ในรถจะตกเป็นของเราทันที” (แต่ในระหว่างที่ยังผ่อนไม่หมดถือว่ากรรมสิทธิ์ในตัวรถยังคงเป็นของไฟแนนซ์)
ในทางกฎหมายเรียกสัญญาประเภทนี้ว่า “สัญญาเช่าซื้อ” ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญารูปแบบหนึ่งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว”
สัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้นนอกจากมีกฎหมายบัญญัติประเภทของสัญญาไว้แล้ว ยังมีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถยนต์ด้วย เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบของสัญญาไว้ให้เป็นมาตรฐาน ป้องกันมิให้ผู้ประกอบการหรือสถาบันการเงินกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป
ตัวอย่างของข้อสัญญาที่ถูกบังคับให้ต้องระบุไว้เป็นมาตรฐานตามกฎหมายเลยก็เช่นเงื่อนไขในการค้างค่างวดที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการยึดรถและฟ้องร้องดำเนินคดี ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
เริ่มจาก ......
- ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดๆ กัน
- ผู้ให้เช่าซื้อส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อ ให้เวลาชำระหนี้ 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ
- ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้
- ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถ
- ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อรถได้ในราคาตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อและให้ส่วนลดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
- หากผู้เช่าซื้อไม่มาใช้สิทธิ ให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันที่สิ้นระยะเวลาใช้สิทธิของผู้เช่าซื้อ โดยให้สิทธิผู้ค้ำประกันซื้อรถได้เช่นเดียวกับสิทธิของผู้เช่าซื้อ
- ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบถึงกำหนดวัน สถานที่ และชื่อผู้ทำการขายทอดตลาด ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดวันขายทอดตลาด
- ผู้ให้เช่าซื้อจัดให้มีการขายทอดตลาดด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยผู้ให้เช่าซื้อห้ามเข้าสู้ราคาเองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
- ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขายถึงส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องชำระ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย
หากผู้ให้เช่าซื้อดำเนินการข้ามขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดไปแม้เพียงขั้นตอนเดียว ก็จะนำไปสู่สิทธิของผู้เช่าซื้อที่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อหักลบจำนวนหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกันในชั้นศาลได้ (อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ข้อ 4 (4), (5) และ (6))
แต่สำหรับการผ่อนรถแบบ “บอลลูน” นั้น ทางฝ่ายผู้จัดไฟแนนซ์มักไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่เป็นบริษัทย่อยของค่ายรถดังที่กล่าวข้างต้น และรูปแบบสัญญาที่ใช้นั้น จะไม่ใช่สัญญา “เช่าซื้อ” หากแต่เป็นสัญญา “เช่ารถ”
รูปแบบการดำเนินการคือทางค่ายรถจะตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาบริษัทหนึ่ง ใช้ชื่ออะไรก็ตามแต่ ส่วนมากก็จะใช้ชื่อ “บริษัท (ชื่อยี่ห้อรถ) ลีสซิ่ง จำกัด” แล้วใช้บริษัทนั้นซื้อรถที่เราจองไว้จากดีลเลอร์ จากนั้นก็นำรถคันดังกล่าวมาให้เราเช่า โดยการทำสัญญาที่มักตั้งชื่อเรียกกันเอาเองตามอัธยาศัย เช่น “สัญญาเช่าแบบดวงดาวของฉัน”
ลักษณะของถ้อยคำในสัญญาจะแตกต่างจากสัญญาเช่าซื้อรถที่ใช้ในการผ่อนรถแบบธรรมดา เช่น
ค่างวด จะไม่ใช้คำว่า “ค่าเช่าซื้อ” หรือ “ค่างวด” แต่จะใช้คำว่า “ค่าเช่า”
และเงื่อนไขหลักของสัญญาที่พอสรุปใจความได้คือ ลูกค้า คือ “ผู้เช่า” ตกลงเช่ารถคันดังกล่าวจากบริษัท “ผู้ให้เช่า” โดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ xx,xxx บาท เมื่อ “ผู้เช่า” จ่าย “ค่าเช่า” จนครบแล้ว “ผู้เช่า” มีสิทธิขอ “ซื้อ” รถคันที่เช่าได้ใน “ราคาซาก”!!!
อ่านไม่ผิดครับ เงิน “ก้อนบอลลูน” ก้อนสุดท้ายที่เราต้องจ่าย ในสัญญาจะเรียกว่า “ค่าซาก” เป็นการตกลงซื้อซากรถที่เราเช่าคันนั้นมาใช้ต่อ ซึ่งเรา “มีสิทธิเลือกจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้”
ในทางปฏิบัติของลูกค้าผู้เจนสนามจึงมักเห็นคนผ่อนจนครบแล้วทิ้งบอลลูน เพื่อเทิร์นเอารถคันใหม่แทน เพราะไม่ประสงค์จะใช้สิทธิซื้อรถใน “ราคาซาก” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ไม่จ่ายบอลลูน” แต่ยอมคืนรถให้เขาไปนั่นเอง
แต่ไส้ในที่อันตรายของสัญญาผ่อนรถแบบบอลลูนมันไม่ได้อยู่แค่ประเด็นเรื่องถ้อยคำที่ไม่คุ้นหูกับวิธีการจ่ายเงินแต่ละก้อนนะครับ ประเด็นสำคัญของมันคือ “รูปแบบและเงื่อนไขของสัญญา” นั่นเอง
อย่างที่ได้บรรยายไว้ข้างต้น ในการผ่อนรถแบบธรรมดานั้น ต่อให้ผ่อนแบบดาวน์ 0% ก็ยังคงทำในรูปแบบของสัญญา ”เช่าซื้อ” ที่มีกฎหมายคุ้มครองและกำหนดรูปแบบของสัญญาไว้
แต่เมื่อกลายมาเป็นการผ่อนแบบ “บอลลูน” และรูปแบบสัญญาถูกปรับแต่งให้กลายเป็นสัญญา “เช่ารถ” แบบมีเงื่อนไขพิเศษ สัญญาดังกล่าวจึงถูกตีความว่าไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อที่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด แต่เป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการกำหนดเงื่อนไขเป็นสัญญาสำเร็จรูปได้เองตามใจชอบ และไม่สามารถนำรูปแบบของสัญญาตาม “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” มาใช้บังคับกับสัญญาประเภทนี้ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อเรามาพลิกอ่านดูสัญญาผ่อนรถแบบบอลลูน หรือ “สัญญาเช่าแบบดวงดาวของฉัน” หรือสัญญาเช่ารถแบบอะไรก็ตามที่ค่ายรถหรูๆ เขาจะตั้งชื่อกัน จะพบว่ามีเงื่อนไขสำคัญหลายอย่างที่แตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แบบมาตรฐานทั่วไป และเป็นเงื่อนไขที่เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคหากไม่ทำการศึกษาให้ละเอียดก่อนทำสัญญา เช่น
- ห้ามไม่ให้ผู้เช่าใช้รถที่เช่าเกิน 30,000 กิโลเมตรต่อปี
- หากค้างค่าเช่าเพียง 1 งวด ผู้ให้เช่าจะมีหนังสือทวงถามและให้เวลาเพียง 15 วัน หากไม่ชำระค่าเช่า เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายและเงินต่างๆ ให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน ทางไฟแนนซ์หรือผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครอง (ยึด) รถได้ทันที
2
- หลังจากไฟแนนซ์หรือผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครอง (ยึด) รถได้แล้ว จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าและผู้ค้ำประกันทราบและมีเวลาเพียง 7 วันที่เราจะสามารถติดต่อขอซื้อรถกลับคืนไปได้ในราคาเท่ากับ “หนี้ส่วนที่ค้างชำระทั้งหมด”
เงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายละเอียดข้อตกลงต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ในสัญญา “เช่ารถ” ที่ใช้ในการผ่อนแบบบอลลูน และเป็นเงื่อนไขข้อตกลงที่ “แตกต่าง” จากสัญญา “เช่าซื้อ” ที่ใช้ในการผ่อนรถแบบธรรมดาที่เราคุ้นเคยกันดี นอกจากนี้ยังอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะออกแบบเงื่อนไขสัญญาขึ้นมาเพราะปราศจากกฎหมายใดๆ ควบคุม
สาเหตุที่ผมบอกว่ามันเป็น “ไส้ในที่อันตราย” ก็เพราะว่า หลายๆ คนมักเคยมีประสบการณ์ผ่อนรถญี่ปุ่น หรือรถตลาดทั่วไปที่ราคาไม่แพงมากนัก และใช้วิธีผ่อนรถแบบธรรมดาตามสัญญา “เช่าซื้อ” มาก่อน เราจึงมักคุ้นเคยกันดีกับเงื่อนไขและข้อตกลงที่ใช้เป็นมาตรฐาน ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของคู่สัญญา
เช่น หลายคนทราบดีว่า สามารถเลทค่างวดได้กี่วัน ค้างค่างวดได้ไม่เกินกี่งวด หรือที่หลายคนท่องเป็นสูตรมาตรฐานเลยว่า “3+30” กล่าวคือ ถ้าค้างค่างวด 3 งวดติดๆ กัน เมื่อไหร่ถึงจะโดนหนังสือทวงถาม และมีเวลาหายใจหายคออีก 30 วัน ก่อนจะถูกบอกเลิกสัญญาและยึดรถคืน
ความเคยชินในหลักปฏิบัติสากลที่เป็นมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว มักทำให้ผู้บริโภคหลายคนไม่ทราบหรือไม่ทันระวังว่า ถ้าผ่อนแบบบอลลูน คุณค้างค่างวด “แค่งวดเดียว” ความบรรลัยก็บังเกิดแล้วนะครับ
แถมถ้ามีโนติสส่งมาที่บ้าน จากที่เคยมีเวลาหาเงินสักเดือน คุณเหลือเวลาแค่ 15 วัน ก่อนจะโบกมือลาแม่ย่านางของคุณอย่างแทบจะไม่มีวันหวนคืน เพราะหลังจากรถถูกยึดไปแล้ว ขั้นตอนการซื้อคืน ระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆ ก็แตกต่างและรวบรัดไปจากการผ่อนรถแบบธรรมดา และราคาที่จะซื้อคืนก็ไม่มีส่วนลดให้เหมือนตอนผ่อนแบบใช้สัญญาเช่าซื้อด้วย
เรียกได้ว่า เป็นบอลลูนที่ตึงเปรี๊ยะ เผลอแปปเดียว ลอยสูง ลอยไกล ลอยระเบิดกันเลยทีเดียว
แต่ก็ใช่ว่าการผ่อนแบบบอลลูนจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขในลักษณะนี้ทุกรายไปนะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าการผ่อนแบบบอลลูนไม่มีกฎหมายกำหนดแบบของสัญญาไว้เป็นมาตรฐานโดยเฉพาะ จึงทำให้รูปแบบและเงื่อนไขของสัญญามักแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นผู้มีวินัยทางการเงินและมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษาเงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ ในสัญญา รวมทั้งไม่ได้วางแผนที่จะชักดาบหรือเบี้ยวค่างวดในอนาคต การผ่อนรถแบบบอลลูน ก็ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับคนที่ต้องการมีรถยุโรปป้ายแดงขับ และได้เปลี่ยนรถใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เพียงแต่ท่านต้องคอยระมัดระวังปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญา อย่าได้อาศัยความคุ้นชินกับการผ่อนรถคันเก่าจนหลงลืมข้อสัญญาที่แตกต่างเหล่านี้ไป
ถึงแม้บทความนี้อาจจะยาวไปสักหน่อย เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่หวังว่าทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้จะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยเอาไว้ใช้วางแผนในการซื้อรถคันต่อไปของคุณ และเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเอง ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบครับ
สงวนลิขสิทธิ์บทความโดย Winny Lawyer (ทนายวิน)
รถยนต์
กฎหมาย
การเงิน
4 บันทึก
6
17
4
6
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย