25 พ.ค. 2023 เวลา 10:59 • ธุรกิจ

ค่าแรงขั้นต่ำ เขาวงกตเศรษฐกิจไทย....

ประเทศไทยมักมีปัญหาเสมอ เมื่อจะมีใครขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
คือ กลัวจะไปกระทบต้นทุนการผลิต แล้วไม่มีใครลงทุน
ในขณะที่การมองถึงค่าครองชีพรายวันของแรงงาน
ว่าเพียงพอไหม ดูจะเป็นประเด็นรองลงไป
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทย ค่อนข้างห่วงคนรวย
เจ้าของธุรกิจ มากกว่าคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานจนๆ
หรือถ้าพูดให้สวยๆ คือ ห่วงภาพรวมของเศรษฐกิจ
...พูดเอาหล่อแหละ พวกนี้นะ....
ผมขอออกตัวก่อนว่า อยู่ในฐานะ "ผู้จ่าย" ค่าแรง
ผมอยู่ในธุรกิจก่อสร้าง มีลูกน้องในมือพอสมควร
ที่เขียนนี้จึงไม่ใช่ว่าออกมาเรียกร้องในฐานะผู้รับประโยชน์ ถ้ามีการขึ้นค่าแรง
...แต่คิดว่าเราควรแก้ปัญหางี่เง่าเรื่องนี้เสียที เพราะมันเป็นเหมือนกับดักของสังคมไทยมานานแล้ว...
ค่าแรงในโลกของธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะ SME รายย่อยนั้น ไม่ใช่แบบที่เห็นในกระดาษ ของนักวิชาการ
หรือที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ มักอ้างกัน
ที่เป็นประเด็นในปัจจุบัน คือเรื่องค่าแรง 450 ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล หลายฝ่ายกังวลว่ามันจะทำภาพรวมของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ด้วยทฤษฎีว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้า
( 450 นี่ ที่จริงแล้วเป็นนโยบายของพลังประชารัฐ ตั้งแต่เลือกตั้ง 62 แต่ทำไม่ได้ )
แต่ในความจริง ผู้ประกอบการทราบดีว่า ทุกวันนี้
เราจ่ายกันวันหนึ่งต่อแรงงานหนึ่งคน มากกว่า 450
อยู่แล้ว เป็นส่วนมาก
คือ น้อยกว่านี้มันมีแหละ แต่แทบหาคนทำงานไม่ได้
ถ้าคุณให้ตามค่าแรงขั้นต่ำทุกวันนี้น่ะนะ
ตามร้านอาหารทุกวันนี้ เด็กเสริฟถ้าทำงาน 8 ชั่วโมง
คุณหาไม่ได้หรอก ต่ำกว่า 400 น่ะ ต่างด้าวยังเมิน
( ปัจจุบันจ้างกันที่ 400 ถ้ามีอาหารเย็น หรือสวัสดิการอื่นให้ ก็ได้ต่ำกว่านั่น แต่ไม่ต่ำกว่า 350 แน่นอนสำหรับ กทม. )
ดังนั้นในภาคบริการ ถ้าขึ้นอีกวันละ 50 บาทต่อคน
มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก ว่ากันตามจริง มันแค่กำไร
น้ำแข็ง 2 ถัง สำหรับร้านอาหาร ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก
และถ้าคนเยอะเพราะกำลังซื้อที่ดีของคนชั้นแรงงาน
มันจะได้กำไรมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
ส่วนภาคก่อสร้าง ได้มากกว่านี้เป็นปกติอยู่แล้วเพราะถือเป็นงานเสี่ยง และบางที่อาจนับเวลาทำงานแค่ 7 ชั่วโมง
ดังนั้นส่วนนี้กระทบต้นทุนน้อยมาก
...ผู้เขียนทดลองทำ BoQ ดู โดยใช้ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน เทียบกับ 450 บาท มันส่งผลต่อกำไรโดยรวมต่องาน
ไม่ถึง 0.5 % เท่านั้นนะ เมื่อถัวกับกำไรส่วนอื่นแล้วน่ะ
ผมคิดว่าส่วนนี้ ผู้ประกอบการก็ควรเสียสละบ้าง
มันไม่ได้ทำให้ขาดทุนกำไรมากมายอะไรนักหรอก ...
...ยืนยันเลยว่างานก่อสร้างปลายทางระดับ SME
จะไม่กระทบ ถ้าราคาวัสดุไม่ขึ้นจากปัจจุบันมากเกินไป...
...คนทำ SME ด้านนี้ ปัจจุบันก็ไม่ค่อยจ้างประจำอยู่แล้ว มีงานค่อยเรียกมา มันจึงไม่ใช่ภาระที่ตัองแบกเมื่อไม่มีงานเข้ามา
...แต่รายใหญเนี่ย หนักหน่อย เพราะต้องมีประจำในมือมากพอสมควร ซึ่งมันก็เป็นความเสี่ยง ที่ธุรกิจต้องแบกบ้าง ไม่ใช่จะเสือนอนกินแบบที่ผ่านมาก...
ส่วนผู้ผลิตสินค้าต่างรายใหญ่ ที่มีคนมาก นักวิชาการท่านให้ความเห็นไว้ว่า ปัจจุบันธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับมาใช้เครื่องจักรมากขึ้นเยอะ
มันจะไม่กระทบอะไรมากอย่างที่กลัวกัน
โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ ที่จะเข้ามา
เขาดูที่สิทธิพิเศษทางภาษี พวก FTA หรือ ศักยภาพของแรงงานทักษะสูงมากกว่า การขึ้นค่าแรงในระดับ 450
บาทนั้น กระทบพวกเขาน้อยมาก
...ซึ่งจะเห็นจากค่าแรงของอินโดนีเซียที่สูงกว่าไทยในปัจจุบัน มันไม่ได้ทำให้การลงทุนในอินโดนีเซียนัอยกว่าเราเลย
...ตรงข้าม การที่ FTA ของอินโดนีเซียมีตีอหลายประเทศ
โดยเฉพาะโซน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กลับทำให้อินโดนีเซีย มีคนไปลงทุนมากกว่าไทย...
แน่นอน ว่าผู้ผลิตรายใหญ่ทราบเรื่องนี้ดี
แต่เพราะยังต้องการกำไรมากเกินไปหรือไม่
จึงพยายามพูดในสิ่งที่มันไม่ได้สะท้อนความจริงมากนัก...
...หรือจะเป็นเกมส์การเมือง อันนี้ก็ไม่ทราบได้....
ขึ้นค่าแรงไม่ได้ แต่อยากพัฒนาฝีมือแรงงาน ...
อันนี้แหละ คือ สิ่งที่ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็น
เขาวงกต ของเศรศฐกิจไทยในทุกยุคสมัย
เพราะเมื่อแรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก
การพัฒนาแรงงาน ให้มีทักษะดีขึ้นมันจึงไม่เกิด
ทั้งกับรุ่นปัจจุบัน และอนาคต
กับรุ่นปัจจุบัน เงินไม่เหลือ เวลาไม่มี จะหาความรู้เพิ่ม
และเมื่อไม่มีเงินมากพอ จะให้ลูกเรียน เด็กรุ่นต่อไป
มันก็จะไม่มีทักษะที่ดีพอ ตามระดับและคุณภาพ
การศึกษาที่ได้รับนั่นเอง
...นี่แหละ มันถึงกลายเป็นเขาวงกต ที่หาทางออกไม่ได้
สำหรับเศรษฐกิจไทยมานานแสนนาน....
อย่างไรก็ตาม
เราจะปฏิเสธว่าการขึ้นค่าแรงไม่กระทบเลย
กับเศรษฐกิจภาพรวมไม่ได้
และในอีกทาง ค่าแรงย่อมกระตุ้นเงินเฟ้อ
ตามจิตวิทยาการตลาด ทำให้คนได้เพิ่ม ก็ไม่มีประโยชน์
จากข้าวของที่แพงขึ้น
ข้อแรก ผมมองว่า แม้จะกระทบจริง กับผู้ประกอบการ
แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเสียสละบ้างเพื่อส่วนรวม
เพราะดูแล้ว มันไม่ได้กระทบมากมาย ขนาดว่าจะทำให้
ธุรกิจเจ๊งได้ ไม่ควรผลักภาระไปที่ลูกค้าทั้งหมด จนเกิดเงินเฟ้อ เพราะสุดท้าย มันจะกลับมากระทบตัวเอง จากกำลังซื้อของระบบที่ลดลง
ขัอที่สอง ผมมองว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล ที่จะต้องควบคุม
ราคาข้าวของจากผลของการขึ้นค่าแรงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ไม่ใช่แบบที่เป็นๆมา ที่ขึ้นทีแซงผลกระทบตลอดเวลา
เช่น กระทบ 50 สตางค์ต่อหน่วย พวกเล่นขึ้นกันที
ห้าบาทสิบบาท แบบนี้เป็นต้น
...การควบคุมดูแลค่าครองชีพ ให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงๆนี่แหละ ปัญหาจริงๆของเศรษฐกิจไทย ยิ่งกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก...
...ถ้าควบคุมตามผลกระทบที่แท้จริงได้ บางครั้งเราอาจไม่ต้องมาวุ่นวายกับค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้เลย....
ในประเทศที่เจริญแล้วนั้น ค่าแรงจะถูกคิดเป็น
รายชั่วโมง ไม่ใช่รายวัน
ผมมองว่าการคิดลักษณะนี้น่าจะถูกนำมาใช้ใน
บ้านเราบ้าง เพราะมันจะกระทบกับผู้ประกอบการน้อย
แต่ก็ยังเป็นธรรมกับลูกจ้างด้วยเช่นกัน
มันต่างกับ การเอาค่าแรงทั้งวันมาหาร เพราะนั่นหมายถึง
ค่าเสียเวลาช่วงพักของลูกจ้าง มันได้ถูกคิดเข้าไปด้วย
มีงานทำมาก ทำเต็มที่ ก็ได้มาก ได้เต็มที่
มีน้อยก็ได้น้อย คนจ่ายก็ไม่กระทบมาก แบบนี้แฟร์ดี
และนี่คือเหตุผล ที่ฝรั่งได้ค่าแรงมาก
ก็เพราะเขาไม่ได้เหมา ค่าพักระหว่างวันไปด้วยนั่นเอง
...แต่ก็อีกแหละ แรงงานบางคนอาจไม่ชอบนัก
เพราะเหมือนไม่มั่นคง และทำแบบเช้าชามเย็นชามไม่ได้
โดยสรุป
ผมคิดว่า ค่าแรง 450 เป็นอะไรที่ผู้ประกอบการรับได้
แต่ต้องยอมรับผลกระทบเองบ้าง และไม่กระทบกับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ แบบสมัยก่อน
แต่ถึงขึ้น แรงงานก็คงไม่พอใช้ ถ้ารัฐยังไม่มีปัญญา
ควบคุมราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
การที่ค่าแรงต่ำเกินไป สุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้อง
เดือดร้อนเพราะคนในสังคมขาดกำลังซื้อ
มันจะส่งผลสะท้อนไล่จากล่างขึ้นมาเรื่อยๆ
ประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่มีนโยบายแบบบนลงล่าง
กับทุกเรื่อง การมองจากด้านบนลงไปอย่างเดียว
ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น
ในยุคที่ค่าแรงเราสูงกว่าประเทศเกิดใหม่ เราจำเป็น
จะต้องให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาทักษะตัวเอง
ดังนั้น เราจึงต้องยกระดับความเป็นอยู่พวกเขาด้วย
คนรวยที่สุดในประเทศนี้ หากินกับคนจนที่สุด
ผ่านร้านขายของชำติดแอร์
นั่นพิสูจน์ว่า กำลังซื้อคนจน หรือแรงงานนั่น
สำคัญขนาดไหนสำหรับกำลังซื้อของ
ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
...ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเสียสละกันบ้างล่ะครับ...
...เพราะทุกอย่างมันสัมพันธ์กัน เวลามีปัญหา มันไม่แยกคนจนคนรวยหรอก...
...และผู้ประกอบการเองต้องระลึกเสมอว่า ไม่มีเขา
ก็ไม่มีเรา ดังนั้น ก็คงต้องยอมเสียกันบ้าง เพื่อส่วนรวม....
ปล. โพสต์นี้ไม่ได้อิงการเมือง แต่เพราะคิดว่า ถ้าค่าแรงขึ้น กำลังซื้อในสังคมมันก็น่าจะดีขึ้นด้วย มันคงดีกว่าตอนนี้สำหรับคนทำธุรกิจ
โฆษณา