26 พ.ค. 2023 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

"China Threat Theory" สู่ทางเลือกขั้วอำนาจใหม่ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

"ทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน" โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งได้เผยแพร่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป และพันธมิตรทั่วโลก ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำลายล้างการแผ่ขยายอำนาจของจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ที่เชื่อมโยงโลกหลายระบบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค (คมนาคม พลังงาน และระบบการสื่อสาร) โครงสร้างดิจิทัล รวมทั้งความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และขณะนี้จีนกำลังก้าวขึ้นสู่ผู้นำระบบการเงินโลก
หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม จีนได้เปลี่ยนแปลงประเทศไปอย่างมาก ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นเป้าหมายหลักทางการเมือง และความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก นั่นคือสหรัฐอเมริกา
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีนทำให้ชาติตะวันตกเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองของจีนทำให้จีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังคุกคามทั้งต่อสถานะของสหรัฐอเมริกาและโครงสร้างโลก เมื่อเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รัสเซีย-ยูเครน การคว่ำบาตรรัสเซีย ผลักดันให้รัสเซียหันไปเชื่อมความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีนได้เปลี่ยนจากการแข่งขัน ไปสู่ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้า จนปัจจุบันแทบไม่ปรากฏให้เห็นถึงโอกาสแห่งความร่วมมือกันอีกเลย
หลายประเด็นตาม "ทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน" ที่ขั้วประชาธิปไตยนำมากล่าวอ้างเพื่อต่อต้านจีน ได้แก่
- ลัทธิคอมมิวนิสต์และวัฒนธรรมทำให้จีนเป็นภัยคุกคาม เช่นการตั้งสำนักขงจื๊อ เพื่อเผยแพร่อารยธรรมของจีนในประเทศต่าง ๆ
- จีนใช้ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐกิจ แสวงหาผลประโยชน์และอำนาจให้กับตนเอง
- มีความกังวลว่าจีนอาจสร้างสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น วิกฤตโรคระบาด สงครามกลางเมือง และการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ
ในปี 2561 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา เปิดฉากสงครามการค้ากับจีน โดยการประกาศให้ปักกิ่งเป็นศัตรูหลักระหว่างประเทศของวอชิงตันในระดับเดียวกับรัสเซียในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลทรัมป์ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมากกว่า 1,300 รายการ และคว่ำบาตรผู้ผลิตชิปของจีน ซึ่งจีนได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อสัตว์ ผลไม้ เศษอลูมิเนียมของอเมริกา รวม 120 ชนิด
ในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ระบุว่า “จีนเป็นคู่แข่งที่อันตรายเพียงรายเดียวที่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศ โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร และเทคโนโลยีทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้" .
และฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ไบเดน ได้สั่งห้ามการจัดหาชิปให้กับชาวจีน รวมถึงชิปที่ผลิตนอกสหรัฐอเมริกาโดยใช้เทคโนโลยีของอเมริกา
Liz Truss อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
นางลิซ ทรัส (Liz Truss ) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวเตือนถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อชาติตะวันตกที่จีนก่อขึ้น ระหว่างการเยือนไต้หวันเมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 เธอยกย่องไต้หวันในการต่อต้านลัทธิเผด็จการจีน และชื่นชมนายRishi Sunak ที่ยึดถือหลักการว่าจีนเป็นภัยคุกคามของสหราชอาณาจักร
“การปิดล้อมหรือการรุกรานไต้หวันจะบ่อนทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยในยุโรป เช่นเดียวกับชัยชนะของรัสเซียในยูเครนจะบ่อนทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยในมหาสมุทรแปซิฟิก”
Liz Truss อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร  กล่าว
Mike Gallagher สมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน
ล่าสุด นายไมค์ แกลลาเกอร์ (Mike Gallagher) สมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน ประธานของชมรมต่อต้านจีนในรัฐสภาสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า House Select Committee on the Strategic Competition หนึ่งในกลุ่มนักการเมืองสาย "เหยี่ยวจีน" ที่ต่อต้านจีนอย่างรุนแรง ได้ออกมาพูดปลุกเร้าถึง "ทฤษฎีภัยคุกคามของจีน" ในระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักร โดยกล่าวหาว่าเป้าหมายของจีนที่ "รังแกสหรัฐอเมริกา" คือต้องการให้สหรัฐอเมริกาเป็นรองจีน อับอาย และไม่เกี่ยวข้องในเวทีโลก
ในการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา) และQuad Leaders (ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา) ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่มีการวิพากษ์ก็คือ เรื่องภัยคุกคามจากจีน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนและรัสเซียอย่างมาก
นายซุน เหวยตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เรียกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เข้าพบเพื่อประท้วงเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ซึ่งมีการพูดโจมตีจีนเรื่องในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ รวมทั้งสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ทิเบตและซินเจียง ซึ่งจีนระบุว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการแทรกแซงในกิจการภายในของจีนเท่านั้น แต่เป็นการป้ายสีจีน และกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า ส่วนรัสเซียกล่าวว่า การแถลงการณ์ของกลุ่ม G7 เป็นการบ่มเพาะความเกลียดชังที่ต่อต้านจีนและรัสเซีย
และเพื่อตอกย้ำคำแถลงการณ์ในการประชุม G7 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซียและกระทรวงพาณิชย์ของจีนก็ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือเชิงลึกในการค้า โดยคู่สัญญาตกลงที่จะพัฒนาการค้าและบริการระหว่างภูมิภาครัสเซีย-จีน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบริษัทต่างๆ ของทั้งสองประเทศ ในนิทรรศการและงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าบริการและกระตุ้นธุรกิจรัสเซียและจีนในการจัดงานร่วมกันในด้าน การศึกษา การดูแลสุขภาพ การเงิน การขนส่ง การก่อสร้าง ด้านเทคนิค และบริการอื่นๆ
จีนได้เผยแพร่แนวคิดของ Global Security Initiative : GSI ซึ่งเป็นแผนสันติภาพของจีน โดยมีแนวคิดว่า การรักษาสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลกและการส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของโลกควรเป็นความปรารถนาของประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาจีนสามารถเป็นตัวกลางเจรจาคู่ขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน จนสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ จีนยังได้ผลักดันกรอบความร่วมมือขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มอาร์เซป หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-Regional Comprehensive Economic Partnership) ข้อตกลงมีผลบังคับเมื่อ 1 มกราคม 2565 มีสมาชิกประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่จงใจกีดกันสหรัฐอเมริกา ไม่ให้เข้าร่วม
ทางสหรัฐอเมริกาก็ได้เสนอยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิก" เรียกด้วยคำย่อว่า เอฟโอไอพี (FOIP – Free and Open Indo-Pacific strategy) เพื่อขันแข่งกับจีน เจ้าของไอเดีย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-OBOR) หรือปัจจุบันเรียกว่า แถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives-BRI) หรือเรียกว่า "เส้นทางสายไหมใหม่"
"อินโด-แปซิฟิก" เป็นโครงการริเริ่มทางเศรษฐกิจที่เปิดตัวโดย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีพันธมิตรร่วมกัน 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิจิ และไทย เจตนาของอินโด-แปซิฟิก ก็คือ การสร้างกรอบความร่วมมือที่แยกจีนออกไปนอกวง
สำหรับประเทศไทยเราเลือกที่จะเข้าร่วมมือทั้งกลุ่มอาร์เซป และอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นนโยบาย "เข้าได้ทุกพวก" แต่ขณะนี้แนวโน้มการแข่งขันในขั้วอำนาจเก่าและขั้วอำนาจใหม่ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และได้บีบกระชับเข้ามารอบด้านในภูมิภาคของเรา
ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด ( ขวา ) ให้การต้อนรับดมิทรี เมดเวเดฟ หัวหน้าคณะผู้แทนจากพรรคสหรัสเซีย ประธานพรรค United Russia
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) หัวหน้าคณะผู้แทนจากพรรคสหรัสเซีย รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซียและหัวหน้าพรรค United Russia ร่วมกับนายอันเดรย์ คลิมอฟ (Andrey Klimov) รองประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศของสภาสหพันธรัฐรัสเซีย พบกับประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด ในเวียงจันทน์ โดยนายดมิทรี เมดเวเดฟ และคณะได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงสาธารณะด้วย
ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Russian Gertsen State Pedagogical University และ Laotian National University บันทึกความเข้าใจในด้านการส่งเสริมการศึกษาภาษารัสเซียในลาว และได้รับลงนามความร่วมมือระหว่าง Tomsk State University และกระทรวงศึกษาธิการและการกีฬาของลาว
นอกจากลาวจะมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซียแล้ว ลาวยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอีกด้วย
ในฐานะที่เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเพียงแห่งเดียวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) พื้นที่มีภูเขาและที่ราบสูงซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ลาวมีความคาดหวังในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทางบกในภูมิภาค ดังนั้น รถไฟจีน-ลาวซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างโครงการ Belt and Road Initiative ที่จีนเสนอ จะทำให้ยุทธศาสตร์ของลาวที่จะเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล กลายเป็นศูนย์กลาง logistics ที่เชื่อมโยงทางบก
สถานีเวียงจันทน์ของทางรถไฟจีน-ลาว
และกลายเป็น "กุญแจทอง" สำหรับลาวในการเชื่อมต่อกับจีนและสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนและประเทศอื่น ๆ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเชื่อมโยงเมืองหลวงเวียงจันทน์ของลาวกับคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้สร้างประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ชาวลาว และเปิดเส้นทางใหม่สำหรับการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของลาว
ทางรถไฟดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยสำหรับลาว
นายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีลาวกล่าวในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564
11 เมษายน 2566 รถไฟจีน-ลาว บริการผู้โดยสารข้ามพรมแดนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ที่ยังมีความสับสน ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มีระดับความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะเดินไปทิศทางใด ผู้นำที่รักษาการณ์ หรือผู้นำที่จะได้รับการแต่งตั้งในอนาคต จำเป็นต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Debt Ceiling Crisis ของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ จะสะเทือนระบบการคลัง และระบบการเงินโลก จนกลายเป็น "Financial Armageddon" หรือไม่?
โฆษณา