25 พ.ค. 2023 เวลา 10:31 • กีฬา

เหตุใด "แอร์แซ ล็องส์" จึงฟอร์มแจ่มในลีกเอิง 2022-23 ? | Main Stand

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดฤดูกาลฟุตบอล 5 ลีกใหญ่ในโลกตะวันตก หลายที่จะทราบผลในการคว้าโควตาไปลุย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ไปเรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าทีมที่คว้าสิทธิ์นี้ไปครอง ส่วนมากจะเป็นทีมใหญ่ ๆ ที่มีการทุ่มเงินเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จึงไม่แปลกอะไรที่แม้จะมีที่แปลกตาบ้างอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หรือ อูนิโอน เบอร์ลิน ก็ตาม
แต่ใน ลีก เอิง ของฝรั่งเศส ไม่ใช่แบบนั้น ลีกนี้สามารถเซอร์ไพรส์แฟนบอลได้ตลอดเวลา ในฤดูกาล 2022-23 นี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะทีมใหญ่ ๆ ในลีกอย่าง โอลิมปิก ลียง, ลีลล์ และ แอแอส โมนาโก ต่างต้องหลีกทางการไปประชันถ้วยบิ๊กเอียร์ให้กับสโมสร "แอร์แซ ล็องส์ (Racing Club de Lens)" ไปอย่างหน้าตาเฉย
เท่านั้นยังไม่พอ พลพรรค “โลหิต-สุวรรณ (Les Sang et Or)” ยังอาจหาญในการคั่วแชมป์กับ เปแอชเช จนถึงท้ายฤดูกาล แถมยังทำสถิติไม่แพ้ใคร 10 แมตช์รวด และแพ้เพียง 4 แมตช์ เสียเพียง 28 ประตู ซึ่งน้อยที่สุดในลีก ทั้งที่ในฤดูกาลก่อน ๆ หน้านั้นทีมเพิ่งขึ้นมาจากลีกรอง และวนเวียนอยู่กลางตาราง
เกิดอะไรขึ้น ? เรื่องนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ติดตามไปพร้อมกับเรา
3-4-1-2 ระบบแปลก กระแทกยับ
ที่จริงใน 2 ฤดูกาลหลังสุดของลีกเอิง ล็องส์นั้นจบด้วยอันดับที่ 7 ของตารางคะแนน ซึ่งถือว่าไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อะไรสำหรับทีมที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างลีกสูงสุดกับลีกรอง แต่ทว่าในรายละเอียดการเล่นจะพบว่า ล็องส์มีความแตกต่างจากทีมอื่น ๆ ในลีกทั่วไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องของระบบการเล่นที่กราฟิกมักจะโชว์ขึ้นในทุกสัปดาห์ว่ายืนกันแบบ “3-4-1-2”
จริงอยู่ที่การยืนหลัง 3 หรือเน้นกลางแน่น ๆ วิงแบ็กมีพื้นที่เยอะๆ ในโลกฟุตบอลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ระบบที่ ฟรองซ์ เฮส (Franck Haise) กุนซือของทีมวางมาให้เล่นกันเกือบ 3 ฤดูกาลมีสิ่งที่แปลกแหวกแนวไปอีกขั้น นั่นคือการยืนในแดนหน้าที่ “หุบ” เข้ามาข้างในเสียหมด ยืนเป็นกระจุก ๆ หรือไม่หนึ่งในนั้นก็ลงต่ำมาเป็นกลางรุก ผสานกับกองกลาง 2 ตำแหน่งข้างล่าง
หากอธิบายตามตำราของการยืนหลัง 3 แบบใช้แดนหน้า 3 คน ปกติจะต้องยืน “ถ่าง” ออกมาทางด้านกว้างเพื่อแบ่งเบาภาระของวิงแบ็ก อย่างน้อย ๆ ก็เพื่อรับบอลและคอยสอดประสานการเติมเกมขึ้นลง หรือคอยซ้อนหากวิงแบ็กโดนตัดบอล ดังนั้นการยืนแบบหุบเป็นหย่อมข้างในจึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเปิดพื้นที่ให้คู่ต่อสู้สวนกลับ หรือเปิดเกมรุกเข้าใส่ทางวิงแบ็กทั้งสองข้าง
แต่ 3-4-1-2 ของเฮสมีอะไรมากกว่านั้น โดยเขาได้คิดค้นการสร้าง “สี่เหลี่ยม” ขึ้นมาจากกองกลางประจำการ 2 คน และแนวรุกทางด้านข้าง 2 คน เพื่อทำให้เกมแดนกลางแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ส่วนวิงแบ็กก็ให้ประจำการสูงกว่าปกติ เรียกได้ว่าแทบจะยืนแทนตำแหน่งแนวรุกด้านข้าง ส่วนเซ็นเตอร์แบ็ก 3 คนให้ยืนห่าง ๆ กันคอยช่วยเกมแดนกลางอีกทอดหนึ่ง ซึ่งระบบนี้ได้รับการเรียกขานกันว่า “3 - Diamond - 3”
ตรงนี้เฮสได้เคยเปิดเผยไว้ที่ Onze Mondial นิตยสารฟุตบอลสัญชาติฝรั่งเศส ความว่า
“ผมก็ไม่ได้มีแผนอะไรที่พิเศษหรอกครับ … แต่ตอนนี้ บางทีเราก็จัดแบบ 3-4-1-2 หรือ 3-5-2 โดยที่ให้แดนกลางเคลื่อนตัวตลอด [แบบ Diamond - เสริมโดยคนเขียน] ที่ผมเลือกใช้แผนนี้ เพราะทรัพยากรที่เรามีเหมาะกับการเล่นแบบนี้ที่สุด จริง ๆ ผมก็เคยยึดติดกับการเล่นหลัง 4 นะครับ แต่ผมก็เปลี่ยนมาเล่นแบบที่เห็นกันอยู่”
“อาชีพแบบเราต้องเป็นสายปฏิบัติ แฟนบอลอยากให้ทีมชนะ ชนะ และชนะ หากผมดึงดันจะใช้ 4-3-3 หรือ 3-5-2 แล้วทีมดันจมปลัก ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก หรือยังต้องถอย ๆ ลงไปรับต่ำเหมือนเดิม แบบนี้ผมรับไม่ได้ หลักการก็ควรจะแยกขาดจากระบบ เอาเข้าจริง [หมายถึง ระบบที่ตีตราว่าเน้นรุก เวลานำมาใช้ก็ไม่ได้รุกเสมอไป - เสริมโดยคนเขียน] ในทางกลับกัน ระบบไหนที่ใช้แล้วเหมาะกับนักเตะของเราก็ให้เป็นไปตามนั้น ตรงนี้สำคัญ เราสร้างระบบจากสิ่งที่เราเป็นโดยไม่ได้ไปยัดใส่หัวพวกเขา”
หรือก็คือ ระบบ 3 - Diamond - 3 เป็นระบบที่สร้างขึ้นมาจาก “เบื้องล่าง” เป็นระบบที่นักเตะสบายใจในการเล่น สบายใจที่จะใช้ ซึ่งเป็นฉันทามติของทีม แน่นอนว่าเมื่อเข้าใจตรงกันก็จะไร้ซึ่งคำถาม ข้อสงสัย หรือการขบคิดว่าระบบนี้ดีหรือไม่ ผลลัพธ์ที่ออกมาในสนามคือ ไม่ว่าจะจับใครใส่ลงไป 11 ตำแหน่งก็ล้วนแล้วแต่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ส่วนเรื่องรายละเอียดให้ไปแก้หน้างาน
แต่คำถามคือ ทำแบบนี้ได้เปรียบกว่าการยืนตามระบบแบบปกติอย่างไร ?
การยืนแบบ 3 - Diamond -3 คือการยืนโดยที่ หน้า-หลัง ป้องกันกลาง 4 แบบ “ไข่ในหิน” เพราะยืน Cover ครอบคลุมพื้นที่แดนกลางแบบ 360 องศา ในขณะเดียวกัน กลาง 4 ก็จะสามารถเชื่อมต่อ หลัง-หน้า ได้แบบ 360 องศาเช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากในแง่ของการ “กระจายบอล” เพราะความใกล้ชิดในแต่ละตำแหน่งมีมาก ไม่ต้องจ่ายบอลเสี่ยงอะไรมากก็ต่อกันติดได้
โดยเฉพาะการป้องกันการโดนเจาะทางด้านข้างเป็นช่องที่เป็นฉากของการยืนหลัง 3 ที่เปิดประเด็นไว้ เพราะการยืน Diamond สามารถที่จะถ่ายเทไปซ้าย-ขวา แบบยกกระบิได้ หลุดมาก็เพียงแต่เคลื่อนไปหาบอล ซึ่งหมายถึงจะมีอย่างน้อย 4 คนในการหาโอกาสเข้าแย่งบอลกลับคืนมาเสมอ เพราะปกติ การสวนกลับทางด้านข้างมักจะใช้นักเตะไม่เยอะ หรือหมายถึง การยืน Diamond เป็นการ “รุม” โดยนัยทีเดียว
แต่หากคิดแบบ Logic การยืนที่ชิดกันแบบนี้หมายถึงการใช้พื้นที่ในสนามน้อยตามไปด้วย ดังนั้นคู่ต่อสู้สามารถที่จะใช้ “บอลโยน” ในการตักข้ามกลาง Diamond หรือการยืน Cover ได้เลยแบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ
แต่เฮสคิดมาเป็นอย่างดี เพราะเขาออกตัวว่าเป็นโค้ชนักปฏิบัติย่อมมองขาดถึงจุดนี้ โดยเขาได้ใส่วิธีการที่เรียกว่า “เพรสซิ่ง” เข้าไปด้วย
Pressing มา กระบวนท่าเกิด
แน่นอนว่าบรรดา 5 ลีกใหญ่ ลีกเอิง ถือได้ว่ามีการเล่นที่ “Tempo” น้อยที่สุด หรือก็คือลีกทั้งลีกไม่ได้เล่นกันแบบสายฟ้าแล่บแบบที่พรีเมียร์ลีกเป็น งัดทุกสกิลมาต่อกรแบบที่ ลา ลีกา เป็น เปี่ยมวินัยสุดเขี้ยวแบบที่ บุนเดสลีกา เป็น หรือกระทั่งบ้าเกมรับแบบที่ เซเรีย อา เป็น แต่ลีกเอิงนั้นเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ขนาด เปแอสเช ทีมที่ Tempo โหดที่สุดในลีกยังโดนกลืนได้ในบางแมตช์
และเมื่อ Tempo ช้า ย่อมหมายถึง “เวลา” ในการคิดหน้างานที่นานขึ้น ว่าจะออกบอล บิลด์อัพ ส่งคืน หรือครองบอลดี ซึ่งหมายถึงการจะสร้างให้เกิดการเล่นเพรสซิ่งที่เน้นเข้าหาแบบรวดเร็ว ฉับพลัน และรุนแรงนั้น แทบเป็นไปไม่ได้
คำถามคือ ในขณะที่แผนนี้ยากต่อการใช้ แล้วล็องส์นำมาใช้ได้อย่างไร ?
คำตอบต้องย้อนกลับไปที่ระบบ 3 - Diamond - 3 ที่ยืดชิดกันที่มีผลดีต่อการนำเพรสซิ่งเข้ามาใช้ เพราะเวลาพุ่งเข้าหาสามารถไปกันทั้งยวงได้ง่ายมาก ซึ่งการจะเพรสซิ่ง หากไม่ได้มีทรัพยากรระดับเทพ การเข้ารุมแบบหมาหมู่จะสามารถการันตีผลลัพธ์ในการแย่งบอลกลับมาได้ดีกว่าการเข้าแบบประปรายเป็นไหน ๆ
ซึ่งวิธีการเช่นนี้ เฮสใช้ปราบพยศ เปแอสเช มาแล้วในแมตช์ที่ 17 ของลีกเอิง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 ที่ ล็องส์ เปิดบ้านกำชัยชนะไป 3-1
ทั้ง 3 - Diamond - 3 ก็ดี หรือเพรสซิ่งก็ดี ถือเป็น “ของแปลกใหม่” สำหรับลีกเอิงอย่างมาก ซึ่งของใหม่มาอะไร ๆ ก็ไฉไลไปหมด การรับมือของคู่ต่อสู้ย่อมยากขึ้นเป็นเท่าทวี เพราะไม่รู้ว่าจะหาวิธีมารับมืออย่างไร ล็องส์จึงสามารถเฉิดฉายขึ้นมาได้
แต่คำถามคือ ล็องส์เล่นแบบนี้มาร่วม 3 ฤดูกาล เหตุใดฤดูกาลนี้จึง “ปังปุริเย” กว่าฤดูกาลอื่น ๆ การจะตอบคำถามนี้ได้อาจจะต้องกลับไปหาการให้เหตุผลแบบพื้นฐานที่สุด นั่นคือเป็นเพราะ “ทรัพยากร” ของทีมพร้อมใจกันเข้าฝักอย่างไม่น่าเชื่อ
The League of Talents
จริง ๆ แล้วล็องส์เองก็ใช่ว่าจะไก่กา เพราะทีมได้รับการขนานนามว่า “The League of Talents” ซึ่งหมายถึง เป็นแหล่งบ่มเพาะชั้นดีของบรรดานักเตะเยาวชนที่มากพรสวรรค์ ทั้งในฝรั่งเศสหรือละแวกใกล้เคียง รวมถึงนักเตะที่มาจากอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกา
ตัวอย่างที่เด่นชัดมาแต่ไกล นั่นคือ “ราฟาเอล วาราน (Raphaël Varane)” ตอนที่ขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ใหม่ ๆ บรรดาบิ๊กทีมในทวีปก็จ้องตาเป็นมัน ก่อน เรอัล มาดริด จะมาดึงตัวไป
ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นของวารานก็ถือได้ว่าทำกำไรในการส่งออกให้สโมสรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ธอร์ก็อง อาซาร์ (Thorgan Hazard), เจฟฟรี่ย์ ก็องด็อกเบีย (Geoffrey Kondogbia), อัลฟรองซ์ อาเรโอลา (Alphonse Areola), เซิร์ซ ออริเยร์ (Serge Aurier), กาแอล กากูตา (Gaël Kakuta) หรือ ทิโมธี โคลอดซีจ์ซัค (Timothée Kolodziejczak)
หรือรุ่นเก๋าไปเลยก็จะมี อเดล ทารับท์ (Adel Taarabt) ตำนานโมร็อกโก, เบนัวต์ อัซซู-เอคอตโท (Benoît Assou-Ekotto) อดีตนักเตะสเปอร์สและแคเมอรูน, เซย์ดู เกย์ตา (Seydou Keita) ที่เคยอยู่บาร์เซโลน่าและมาลี หรือ เอล ฮัดจิ ดิยุฟ (El Hadji Diouf) ตำนานเซเนกัล
กระนั้นนักเตะที่เอ่ยชื่อมาล็องส์แทบจะไม่ได้ใช้งานให้คุ้มค่าเลย เพราะสำหรับนักเตะแล้วล็องส์ก็เป็นแค่ “ขอนไม้” ที่เป็นที่บ่มเพาะ ฟูมฟัก และพัฒนาศักยภาพจนเติบใหญ่ ต่อให้รักนักเตะมากเพียงไหนแต่ปลายทางขอไปสู่สโมสรที่ใหญ่กว่า และที่สำคัญฝ่ายบริหารของสโมสรก็ยินดีให้เป็นแบบนั้นตามกลไกของโลกทุนนิยม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
แน่นอนว่าล็องส์เองก็ใช่ว่าจะสร้างสตาร์ได้ตลอด ก็ต้องมีช่วงเสื่อมถอยลงไปบ้างเป็นเรื่องปกติ หากแต่ในระยะหลัง ๆ ก็เสื่อมถอยเสียจนตกชั้น ดังนั้น The League of Talents จึงต้องมาคิดและถกเถียงกันเสียใหม่ และได้ตออกมาว่า จากแต่เดิมคือการสร้างเป็นฟาร์ม ที่กำลังการผลิตไม่แน่นอน เปลี่ยนมาเป็นการรับเข้ามา จะให้ผลที่แน่นอนมากกว่า
หรือก็คือ ล็องส์ทำตัวเป็น “ศาลาริมทาง” ให้บรรดานักเตะที่มีความสามารถมาพักพิง อิงอาศัย เมื่อฉายแววแล้วก็นั่งรถโดยสารไปที่อื่นต่อได้ ซึ่งที่ได้มานั้น ส่วนมากจะเป็นแข้งที่โดนคัดทิ้งจากทีมใหญ่ๆ นักเตะวัยคาบลูกคาบดอก จะพ้นวัยพีค แต่ยังไม่แน่ว่าจะพีค หรือกระทั่ง ใครก็ไม่รู้จากลีกระดับรองๆ ในทวีป
แต่ใครเลยจะรู้ ว่าการทำเช่นนี้ กลับส่งผลดีอย่างมาก อย่างน้อย ๆ ก็ในฤดูกาล 2022-23
เซโก โฟฟานา (Seko Mohamed Fofana) คือกองกลางกัปตันทีมที่เป็น Keyman หลักของเฮส โดยอดีตเยาวชนของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อยู่กับทีมมานานตั้งแต่ 2020 และเป็นศูนย์กลางในการบัญชาเกมในการยืนแบบ Diamond มาตลอด ในวัย 28 ปีถือเป็นการกลับมาแจ้งเกิดได้อีกครั้ง จากการรับเหมาทั้งยิงทั้งจ่ายทำเกมรุก-รับ ได้อย่างเนียนกริบ เป็นหนึ่งในนักเตะที่ไม่ว่าจะไปหาอ่านจากสื่อต่างประเทศที่วิเคราะห์ล็องส์ย่อมต้องปรากฏชื่อเขาให้เห็น
ฌอง โอนานา (Jean Emile Junior Onana Onana) กองกลางลูกหาบของโฟฟานาที่เคยหมดอนาคตกับลีลล์ แต่ข้อมีดีคือพลังวัยฉกรรจ์ อายุยังน้อย และวิ่งได้ไม่มีหมด เหมาะกับการเพรสซิ่งอย่างมาก ซึ่งงานหลักของเขาไม่ใช่ทั้งยิงทั้งจ่าย แต่คือการวิ่งที่เน้นพลังงานและการเข้าปะทะล้วน ๆ
ฟลอริยง โซโทกา (Florian Sotoca) ศูนย์หน้าที่อยู่มานานพอ ๆ กับโฟฟานาแต่กลับเป็นสายเน้นมีส่วนร่วมกับเกม ทำให้เฮสต้องจับเขามาเป็นหนึ่งในการยืนแบบ Diamond ในรายละเอียดให้เป็นทั้งในการเพรสซิ่งเป็นหมู่คณะหรือรับบอลจากโฟฟานาไปทำอะไรต่อในแดนหน้า
แต่ที่พีกที่สุดคือ การได้ อิโคมา-ลุยซ์ โอแปงดา (Ikoma-Loïs Openda) มาในตลาดซัมเมอร์ 2022-23 เพราะศูนย์หน้าที่ คลับ บรูซ เลือกจะปล่อยทิ้งรายนี้สอดประสานกับแผนการเล่นของทีมได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้รับภาระหนักแบบการยืน Diamond หรือหลัง 3 ที่ต้องคอย Cover แต่หน้าที่หลักอย่างการรับบอลจากโซโทกาแล้วปิดบัญชีให้ได้ เขาทำได้อย่างหมดจดไม่มีผิดพลาด เขาทำได้ 19 ประตูในลีกเอิง รั้งดาวซัลโวอันดับที่ 6
ข้างต้นคือจตุรเทพของล็องส์ที่ช่วยให้ทีมรั้งอันดับ 2 ของลีก ณ ขณะนี้ ซึ่งไม่มีใครเป็นลูกหม้อของทีม และเกือบจะหายไปจากสารบบฟุตบอลระดับสูงแทบทั้งสิ้น แต่มนต์ขลังของ The League of Talents นับว่าแรงจริง ๆ เพราะนักเตะเหล่านี้กลับพลิกฟื้นขึ้นมาโชว์ฟอร์มได้อย่างเหลือเชื่อ และเหลือเชื่อยิ่งกว่าคือทำให้ฟอร์มโดยรวมของทีมโหดสุด ๆ ได้
สุดท้ายนี้การที่ทีมม้านอกสายตาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การสรรเสริญ และแสงควรจะสาดส่องลงมาหา แต่อย่าลืมว่ายิ่งแสงส่องหามากแค่ไหน การรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ยิ่งยากขึ้นเป็นเท่าทวี
กลไกตลาดในระบบทุนนิยมนั้น แม้จะสร้างคุณแก่วงการฟุตบอลในแง่ของการทำให้แฟนบอลทีมใหญ่ ๆ ดูบอลสนุกขึ้น แต่ก็เป็นโทษแก่แฟนบอลทีมเล็ก ๆ ที่ต้องเห็นนักเตะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าออกไปทีละคน ๆ ล็องส์เองก็เข้าใจดี แม้จะเปลี่ยนวิถีมาเป็นศาลาริมทางแต่ใช่ว่าจะหลีกหนี “การซื้อขาย” ไปพ้น
ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นล็องส์ลงสนามใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ด้วยนักเตะที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตาจากฤดูกาลก่อน หรือกระทั่ง “โค้ช” ที่เป็นคนละคนกันก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา