25 พ.ค. 2023 เวลา 11:38 • การตลาด

MAYA กลยุทธ์ Apple ที่อธิบายว่า ทำไมออก “รุ่นใหม่” แต่หน้าตา “คล้ายเดิม” ทุกปี

หลายคนคงมีคำถามในใจ ว่าเวลาที่ Apple ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ในแต่ละปี
ทำไมถึงปรับเปลี่ยนดิไซน์ หรือเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ เข้ามาแค่นิดเดียว
ยกตัวอย่างเช่น
iPhone 14 ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว แทบจะไม่ต่างจาก iPhone 13
เพราะทั้งชิป, กล้อง, หน้าจอ, ขนาดเครื่อง หรือขนาดแบตเตอรี่ ก็เกือบจะเหมือนกันทั้งหมด
หรือ Apple Watch ที่ซีรีส์ใหม่ หน้าตาไม่ต่างจากซีรีส์เดิม เพียงแค่เพิ่มฟีเชอร์ใหม่ไม่กี่อย่างเข้ามา
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ มีกลยุทธ์เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไม Apple ถึงปรับเปลี่ยนดิไซน์ หรือฟังก์ชัน ให้กับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ทีละเล็กทีละน้อย
แล้วกลยุทธ์เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ คือกลยุทธ์อะไร ? มาหาคำตอบกัน..
หลายคนคงคุ้นเคยกับ โลโก Shell หรือขวดโค้ก Coca-Cola กันเป็นอย่างดี
ซึ่งชายผู้อยู่เบื้องหลังของผลงานเหล่านี้ก็คือ คุณเรย์มอนด์ โลวี (Raymond Loewy) นักออกแบบลูกครึ่งฝรั่งเศส-อเมริกัน
คุณเรย์มอนด์ มีผลงานการออกแบบที่โดดเด่นมากมาย
จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดา” แห่งวงการการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Design)
หนึ่งในแนวคิดการออกแบบของ คุณเรย์มอนด์ คือ “MAYA”
ย่อมาจาก Most Advanced Yet Acceptable
หรือที่แปลว่า ทันสมัยที่สุด เท่าที่ยังคงเป็นที่ยอมรับได้
2
อธิบายง่าย ๆ แนวคิดการออกแบบ MAYA คือ การหาจุดสมดุลระหว่าง “นวัตกรรม” และ “ความคุ้นเคย”
1
โดยเชื่อว่า ส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริโภคมักจะชื่นชอบสินค้าที่มีความก้าวหน้า มีนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเป็นสินค้าที่เมื่อลูกค้าเห็นแล้ว มีความรู้สึกคุ้นเคย หรือเห็นแล้วรู้ว่าคืออะไร เมื่อซื้อแล้ว จะตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อหลายปีก่อน Spotify ได้เปิดตัวฟีเชอร์ใหม่คือ Discover Weekly
ฟีเชอร์ที่จะจัดเพลย์ลิสต์ให้ลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ
1
ซึ่งในตอนแรกฟีเชอร์ได้รวบรวมเพลง เฉพาะที่ผู้ใช้งานไม่เคยฟัง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ค้นพบเพลงใหม่ ๆ
แต่ด้วยความผิดพลาดของอัลกอริทึมในการเลือกเพลง ทำให้เพลย์ลิสต์นี้ ได้รวบรวมทั้งเพลงที่ลูกค้าเคยฟัง และเพลงที่ลูกค้าไม่เคยฟัง เข้าไว้ด้วยกัน
พอเป็นแบบนี้ ทางทีม Spotify ก็รีบแก้ไขปัญหาให้เพลย์ลิสต์กลับมามีแต่เพลงใหม่
แต่ผลปรากฏว่า หลังจากแก้ปัญหา เพลย์ลิสต์กลับมียอด Engagement ของผู้ใช้งาน ลดลงอย่างชัดเจน จน Spotify ต้องนำเพลงที่ลูกค้าเคยฟังกลับมาใส่ตามเดิม
2
เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การที่ลูกค้าจะยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ได้
สิ่งนั้นจะต้องสอดแทรก หรือมีสิ่งเก่า ๆ ที่ลูกค้าคุ้นเคย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “Safe Zone” สำหรับลูกค้าอยู่ด้วยนั่นเอง..
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจแนวคิดการออกแบบ MAYA กันแล้ว
ซึ่งหลัก MAYA นี้เอง เป็นสาเหตุที่ Apple ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ โดยปรับเปลี่ยนดิไซน์ หรือฟังก์ชัน แค่เพียงทีละเล็กทีละน้อย
ก็เพื่อให้ลูกค้าค่อย ๆ ทำความรู้จัก และสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
และจริง ๆ แล้ว Apple ไม่ได้ใช้แนวคิด MAYA กับการออก iPhone เท่านั้น
แต่ยังใช้กับการออก iPod ในสมัยก่อนอีกด้วย
ย้อนกลับไป iPod เปิดตัวครั้งแรกในปี 2001
จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย เช่น เริ่มจากปุ่มกด หน้าจอดำ สู่หน้าจอสี แล้วจึงค่อยปรับโฉมใหม่เป็นหน้าจอทัชสกรีน
ซึ่งต้องบอกว่า เจ้า iPod นี้เอง ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ iPhone ในทุกวันนี้
เพราะ iPod เปรียบเสมือนเป็นตัวที่ทำให้คนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น หน้าจอทัชสกรีน ทำให้คนเปิดใจกับ iPhone แม้ว่าในตอนนั้นโทรศัพท์ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบปุ่มกดก็ตาม
ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงต้องปรับเปลี่ยนดิไซน์ทีละเล็กทีละน้อย
นอกจากจะเป็นการทำให้ลูกค้าค่อย ๆ คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว
ยังเป็นการกั๊กดิไซน์ หรือฟีเชอร์ไว้สำหรับรุ่นถัด ๆ ไปด้วย
1
เพราะต้องอย่าลืมว่า Apple ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่แทบทุกปี
ถ้าหาก Apple ใส่ทุกอย่างเข้ามาไว้ในรุ่นเดียว
ลูกค้าก็อาจจะไม่ซื้อรุ่นถัดไป ซึ่งอาจทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงในอนาคต นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่ง Apple บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีมากมาย ก็เคยล้มเหลวมาก่อน
โดยในปี 1993 บริษัทได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์แบบพกพา โดยใช้ชื่อว่า “Apple Newton”
Apple Newton เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้าย ๆ กับ iPad ในปัจจุบัน
โดยความสามารถของมันก็คือ เป็นเครื่องแปลงลายมือ ให้กลายเป็นตัวอักษรบนไฟล์งาน, เครื่องจัดเก็บรายชื่อ, บริหารจัดการปฏิทินงาน และสามารถส่งแฟกซ์ได้ด้วย
1
อย่างไรก็ดี หลังจากวางขายได้ 5 ปี พบว่า “ล้มเหลวไม่เป็นท่า”
เพราะสามารถขายได้แค่ 500,000 เครื่อง และยอดขายที่ได้ ก็ยังไม่ครอบคลุมเงินที่เสียไปกับการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย
ซึ่งถ้าถามว่า ทำไม Apple Newton ถึงล้มเหลว ?
นอกจากเรื่อง ความเสถียรหรือประสิทธิภาพในการใช้งาน ที่ไม่ดีแล้ว
อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ ผู้คน “ไม่คุ้นเคย” กับเทคโนโลยีนี้ ที่ใหม่เกินไป จนไม่รู้ว่า เจ้า Apple Newton จะเข้ามาตอบโจทย์ในชีวิตได้อย่างไร..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดีๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
 
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่
Facebook : JCB Thailand
LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
#อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
โฆษณา