Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วุฒิสภา
•
ติดตาม
26 พ.ค. 2023 เวลา 09:26 • ข่าว
กฎหมายคุ้มครอง กรณีรากไม้ กิ่งไม้ หรือดอกผลของผู้อื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เมืองมีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ถนนหนทางและรถไฟฟ้า แต่การพัฒนาดังกล่าวทำให้ทรัพยากร
ธรรมชาติบางส่วนถูกทำลายลงไปเพื่อนำพื้นที่มาสร้างชุมชนเมืองและการพัฒนาต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น ด้วยการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักและเห็นความสำคัญว่าพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองมีผลต่อสุขภาวะของประชาชนในชุมชนเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง และทำให้ชุมชนเมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรร่วมกันปลูกต้นไม้ รักษา และส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น
จากสถิติของกรมป่าไม้ ได้จัดโครงการและกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน สืบสานสู่ ๑๐๐ ล้านต้น” มีจำนวนผู้ลงทะเบียนปลูกต้นไม้ จำนวน ๓๘๖,๒๖๕ คน โดยทั้งประเทศไทย มีผู้ลงทะเบียนเพื่อรับต้นไม้ไปปลูกแล้ว จำนวน ๑๐๑,๙๓๑,๘๘๖ ต้น
อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้มีข้อควรระมัดระวังมิให้ต้นไม้รุกล้ำหรือยื่นเข้าไปในที่ดินของเพื่อนบ้าน เนื่องจากในชุมชนเมืองมีปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานและพบเห็นได้ทั่วไป คือ เจ้าของที่ดินได้รับความเดือดร้อนจากรากไม้ กิ่งไม้หรือดอกผลของเพื่อนบ้านหรือที่ดินข้างเคียงยื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ทำให้เป็นภาระแก่เจ้าของที่ดินต้องกวาดใบไม้ที่ร่วงหล่นมา
หรือบางกรณีที่กิ่งไม้ร่วงหล่นทำให้รางน้ำหรือท่อระบายน้ำอุดตัน หรือที่หนักไปกว่านั้น คือ รากไม้ขนาดใหญ่ทำลายกำแพงหรือสิ่งปลูกสร้างแตกร้าวหรือเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายคุ้มครองเจ้าของที่ดินที่มีรากไม้ กิ่งไม้ หรือดอกผล ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของตน ยกตัวอย่างที่สำคัญ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๗ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา ๑๓๔๗ เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้”
บทบัญญัติดังกล่าว แยกได้เป็น ๒ กรณี
๑. กรณีรากไม้ มีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำสามารถตัดรากไม้ที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินได้ โดยไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าของต้นไม้ก่อน
๒. กรณีกิ่งไม้ ยื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้อื่น เจ้าของที่ดินจะต้องแจ้งต่อผู้ครอบครองที่ดินติดต่อที่เป็นเจ้าของต้นไม้ให้ทำการตัดภายในเวลาอันสมควร ถ้าพ้นกำหนดเวลาแล้ว ไม่ทำการตัด เจ้าของที่ดินนั้นสามารถตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเองได้
ทั้งสองกรณีดังกล่าว เจ้าของที่ดินมีสิทธิตัดได้เพียง “รากไม้” หรือ “กิ่งไม้” ที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนเท่านั้น ไม่มีสิทธิตัด “ต้นไม้” ของที่ดินติดต่อนั้น เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และมีกรณีตัวอย่าง ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๖๕/๒๕๐๒
โจทก์จำเลยมีที่ดินเขตติดต่อกัน กิ่งยางพาราในที่ดินของจำเลยได้ยื่นล้ำและปกคลุมที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยตัดกิ่งไม้ที่ปกคลุมที่ดินของโจทก์ออกไปให้พ้น โดยกล่าวในฟ้องว่า โจทก์เตือนจำเลยให้ตัดกิ่งยาง จำเลยรับจะตัดแล้วไม่ยอมตัด แต่จำเลยให้การไม่รับรองข้อเท็จจริงข้อนี้ กลับต่อสู้ว่า โจทก์เคยจัดการตัดเอาเอง จำเลยก็ไม่ว่ากล่าวอย่างไร โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องห้ามปรามจำเลย จำเลยไม่เคยสัญญาจะตัดกิ่งยางให้
ดังนี้ ข้อเท็จจริงเรื่องการบอกกล่าวยังไม่แจ้งชัด ฉะนั้น ศาลจะชี้ขาดว่า โจทก์อาจตัดกิ่งยางเอาเองนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๗ หาได้ไม่
ตามมาตรา ๑๓๔๗ มิได้ห้ามเจ้าของที่ดินติดต่อใช้สิทธิทางศาล หากเป็นเพียงอนุญาตให้ตัดกิ่งไม้ไว้เพราะในบางกรณีอาจฉุกเฉินรีบด่วน และเจ้าของที่ดินติดต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ละเลยเพิกเฉยต่อคำบอกกล่าว และถ้าจะไปใช้สิทธิทางศาลอาจไม่รวดเร็วทันกับความจำเป็น ก็ให้เจ้าของที่ดินที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น จัดการเอาเองได้โดยกฎหมายไม่ถือเป็นละเมิด
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของที่ดินตัดต้นไม้ของผู้อื่นหรือตัดกิ่งไม้โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยพลการ อาจมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา ๓๕๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้ง ปรับ”
ทั้งนี้ เว้นแต่พฤติการณ์จะแสดงให้เห็นว่า เจ้าของที่ดินที่ตัดต้นไม้ หรือกิ่งไม้นั้น มีเจตนาเพียงป้องกันกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตน มิได้มีเจตนากระทำผิดอาญา ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๔๖/๒๕๐๐
ในทางแพ่ง ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้ ส่วนในทางอาญา ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่อง ๆ ไป
ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่ว ๆ ไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๗ เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕/๒๕๐๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๘๒/๒๕๕๔
สภาพต้นไม้มีลักษณะถูกตัดเฉพาะกิ่ง ส่วนลำต้นยังคงอยู่ จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสาม
เพียงแต่ตัดเฉพาะกิ่งไม้ซึ่งยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ ๑ จนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างบ้าน แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ได้บอกโจทก์ให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่โจทก์ไม่ตัดก็ตาม ก็เป็นเพียงจำเลยที่ ๑ มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๗ เท่านั้น
แต่การที่โจทก์ปล่อยให้กิ่งไม้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๕ ประกอบมาตรา ๔๒๐ ซึ่งหากจำเลยที่ ๑ บอกโจทก์ให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่โจทก์ไม่ตัดกิ่งไม้ออก จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิตัดกิ่งไม้เอาเสียได้เช่นกัน อันเป็นการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ด้วย
จากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว แม้จะเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาไว้เป็นเวลานานแล้ว แต่ก็เป็นแนวบรรทัดฐานที่ใช้ได้จนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมไทย โดยเฉพาะในเมืองที่มีบ้านเรือนอยู่ติดต่อกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ต้นไม้ขึ้นอยู่บนแนวเขตที่ดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๖ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา ๑๓๔๖ ถ้ามีต้นไม้อยู่บนแนวเขตที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของต้นไม้รวมกัน ดอกผลเป็นของเจ้าของที่ดินคนละส่วนเสมอกัน และถ้าตัดต้นลงไซร้ ไม้นั้นเป็นของเจ้าของที่ดินคนละส่วนดุจกัน
เจ้าของแต่ละฝ่ายจะต้องการให้ขุดหรือตัดต้นไม้ก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการนั้นต้องเสียเท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่งสละสิทธิในต้นไม้ไซร้ ฝ่ายที่ต้องการขุดหรือตัดต้องเสียค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียว ถ้าต้นไม้นั้นเป็นหลักเขตและจะหาหลักเขตอื่นไม่เหมาะเหมือน ท่านว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องการให้ขุดหรือตัดไม่ได้”
ดังนั้น ถ้าลำต้นของต้นไม้ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างที่ดินทั้งสองข้าง กฎหมายให้สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินทั้งสองร่วมกัน ดอกผลก็ได้เท่ากัน ถ้าตัดต้นไม้ลงมา ไม้นั้นก็ต้องเป็นของเจ้าของที่ดินทั้งสองฝ่ายเท่ากัน และเจ้าของที่ดินทั้งสองฝ่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากัน
รวมทั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เว้นแต่เจ้าของฝ่ายหนึ่งสละสิทธิในต้นไม้ ฝ่ายที่ต้องการขุดหรือตัดต้นไม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียว แต่ถ้าต้นไม้นั้นเป็นหลักเขตและไม่สามารถหาหลักเขตอื่นมาแทน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องการให้ขุดหรือตัดต้นไม้นั้นไม่ได้ อย่างไรก็ดี บทสันนิษฐานดังกล่าวนี้ไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้
ส่วนดอกผลของต้นไม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๘ บัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา ๑๓๔๘ ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น”
ดังนั้น หากกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียงมีดอกผลติดอยู่ด้วย และดอกผลนั้น
หล่นในที่ดินข้างเคียงเองตามธรรมดาโดยไม่มีใครทำให้หล่น เจ้าของที่ดินที่ดอกผลหล่นลงมาย่อมได้ประโยชน์จากบทสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นดอกผลของตนเอง อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาที่พึงระมัดระวัง ๒ กรณี ดังนี้
(๑) บทสันนิษฐานดังกล่าว ไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด และผู้ที่เป็นเจ้าของดอกผลแห่งต้นไม้นั้น มีสิทธิพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้
(๒) ดอกผลที่ยังไม่หล่นเพียงแต่ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ดอกผลที่ยื่นล้ำนั้นยังไม่ต้องด้วยบทสันนิษฐานดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งสองกรณีดังกล่าวนี้ หากเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำเก็บหรือเด็ดดอกผลโดยมีเจตนาทุจริต อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้
"มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”
จากบทบัญญัติดังกล่าวมาทั้งหมดถือเป็นกฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิของเจ้าของที่ดินที่มีรากไม้ กิ่งไม้หรือดอกผล ยื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของตน เพื่อมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินข้างเคียงปล่อยให้ต้นไม้ กิ่งไม้ หรือรากไม้รุกล้ำอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ด้วยการหมั่นตรวจตราไม่ให้กิ่งไม้ หรือรากไม้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียง และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำจะตัดรากไม้ กิ่งไม้ หรือดอกผลของต้นไม้นั้น พึงระมัดระวังการใช้สิทธิให้ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว มิฉะนั้น อาจจะตกเป็นฝ่ายกระทำผิดกฎหมายและต้องรับโทษทางอาญาเสียเอง
ข้อมูลโดย นางสาวจิตรกาน เจียรตระกูล วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานกฎหมาย ๒ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ข่าว
ความรู้
ความคิดเห็น
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย