27 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

‘ไอแซก นิวตัน’ ชายผู้ช่วยประหยัดเงินให้อังกฤษ 10 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

เรามักรู้จัก ‘ไอแซก นิวตัน’ ในฐานะนักฟิสิกส์ที่วันดีคืนดีไปนั่งใต้ต้นแอปเปิ้ลและลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัวจึงกำเนิด ‘ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง’ ขึ้นมา
3
หรือนักคณิตศาสตร์ผู้สร้าง ‘แคลคูลัส’ ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษา จนเหล่านักเรียนยังแซวกันขำขันว่าถ้านิวตันไม่สร้างมันขึ้นมา เราคงไม่ต้องมาเรียนกันแบบนี้
4
แต่อีกบทบาทที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักคือผู้อำนวยการโรงกษาปน์แห่งอังกฤษ นิวตันช่วยทำให้การหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จนถึงขั้นสมเด็จพระราชินีแอนน์ต้องประทานยศ ‘เซอร์’ ให้ กลายเป็นชื่อ ‘เซอร์ ไอแซก นิวตัน’ ที่เราเรียกกันในปัจจุบัน
3
ความน่าสนใจของนิวตันในบทบาทที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงจุดประกายมาเป็นบทความ Bnomics ในวันนี้
2
⭐ จาก ‘นักวิทย์’ สู่บทบาท ‘นักบริหาร’ ในบั้นปลายชีวิต
ช่วงก่อนศตวรรษที่ 17 อังกฤษเผชิญกับวิกฤตการเงินบั่นทอนเศรษฐกิจมหาศาล ผลพวงนี้มาจากความไม่มีมาตรฐานการผลิตเหรียญของโรงกษาปน์ เช่น ดีไซน์ที่ลอกเลียนแบบได้ง่าย ความไม่คงทนเมื่อใช้ไปนานๆ ก็สึกกร่อน หรือน้ำหนักเหรียญไม่ตรงกับมูลค่าจริง (สมัยนั้นผลิตเหรียญด้วยแร่เงินและทองบริสุทธิ์ มูลค่าเหรียญจึงขึ้นอยู่กับขนาดของแร่)
แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือมีพวกคนหัวใสใช้ช่องโหว่จากความไม่มีมาตรฐานนี้ในการก่ออาชญากรรมทางการเงินอย่างเลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ คือ การพยายามขลิบขอบเหรียญออกและนำไปหลอมใหม่เป็นทองแท่ง นำไปขายให้กับช่างทองหรือขายคืนให้โรงกษาปน์ หรือ นำไปทำเหรียญปลอมจนกอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ ถึงขั้นเรียกพวกหัวใสนี้ว่า ‘โจรคลิปเปอร์’
3
ตอนนั้น เชื่อกันว่า 1 ใน 10 ของเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอังกฤษเป็นเหรียญปลอมทั้งหมด!!
ปลายศตวรรษที่ 17 นิวตัน ถูกเรียกตัวจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้ ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมต้องเป็นเขา แต่ปัญหาซับซ้อนและเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ต้องใช้คนเฉลียวฉลาดและซื่อสัตย์เข้ามาช่วยแก้
1
ด้วยความทุ่มเทอย่างเอาจริงเอาจัง (ถึงขั้นเอาเป็นเอาตายก็ว่าได้) ทำให้นิวตันได้รับตำแหน่ง Master of Mint หรือผู้อำนวยการโรงกษาปน์ จากการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การผลิตจนถึงการควบคุมคนทำผิดกฎหมาย จนระบบเศรษฐกิจอังกฤษกลับมามีเสถียรภาพถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทิ้งไว้ให้คนอังกฤษ
3
⭐ นิวตันเอาจริงเอาจังขั้นเด็ดขาด
วิกฤตการเงินถูกแก้ไขจากความเอาจริงเอาจังของนิวตัน เริ่มจากการ ‘สร้างมาตรฐาน’ ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การดีไซน์เหรียญใหม่ให้ลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น การคำนวณเพื่อวัดน้ำหนักเหรียญให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
แม้ในตอนนั้น จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แน่ชัดว่านิวตันช่วยเหลือเศรษฐกิจของอังกฤษไปเท่าไหร่
แต่ Ari Belenkiy นักคณิตศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีบริติชโคลัมเบีย ในแวนคูเวอร์ แคนาดา ได้ทำการพิสูจน์และพบว่ามาตรฐานการผลิตเหรียญที่นิวตันใช้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งช่วยประหยัดเงินให้อังกฤษได้ถึง 41,510 ปอนด์ (ราว 3 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน)
หลังจากนั้น ผู้อำนวยการท่านอื่นก็ดำเนินรอยตามโดยใช้วิธีของนิวตัน ซึ่งเท่ากับว่านิวตันช่วยประหยัดเงินให้อังกฤษไปได้ราว 10 ล้านปอนด์เลยทีเดียว!
1
นอกจากนี้ นิวตันเข้มงวดกับการลงโทษอาชญากรการเงินอย่างจริงจัง เพราะการก่ออาชญากรรมทางการเงินไม่ใช่เรื่องเล็ก
แต่ทำเป็นกระบวนการมีคนรู้เห็นมากมายจนเป็นเรื่องปกติ เช่น กรณีของผู้หญิงคนหนึ่งได้จ้างวานให้คนรับใช้และเด็กฝึกงานนำเงินจากนายจ้างมาให้นางเพื่อนำขอบไปขลิบและส่งคืนให้นายจ้างตามเดิม
โดยทุกๆ 100 ปอนด์จะจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 5 ปอนด์ ยิ่งขโมยมากก็ยิ่งได้มาก แต่ท้ายที่สุดผู้หญิงคนนั้นถูกตัดสินประหารชีวิต โดยถูกจับลากไปที่ Smithfield ตลาดใหญ่ในลอนดอนและถูกเผาจนเสียชีวิต
1
นิวตันประสบความสำเร็จในฐานะผู้อำนวยการโรงกษาปน์ ฟื้นเสถียรภาพการเงินอังกฤษให้กลับมาปกติสุขอีกครั้ง ในปี 1705 สมเด็จพระราชินีแอนน์จึงพระราชทานยศ ‘เซอร์’ ถือเป็นเกียรติสูงสุดให้แก่นิวตันก่อนที่เขาจะสิ้นลมในปี 1727
2
และนี่ก็คือเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของเซอร์ ไอแซก นิวตัน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเขาเป็นคนที่เก่งรอบด้านที่ไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยปี คนทั้งโลกก็จะจดจำชื่อเขาไว้ในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการต่อโลก
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ไอแซก นิวตันคือเจ้าของวลีดังที่ถูกใช้บนหน้าเว็บ Google Scholar ว่า
‘If I have seen further it is by standing on the shoulders of giants’
หรือ ฉันสามารถมองได้ไกลเพราะฉันยืนบนไหล่ยักษ์
1
มีนัยยะว่าการที่เขาสามารถสร้างผลงานได้มากมาย เพราะคุณูปการจากบุคคลแห่งวงการวิทยาศาสตร์ก่อนหน้าเขาซึ่งเปรียบบุคคลเหล่านี้เสมือน ‘ยักษ์ใหญ่’ นั่นเอง
1
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:
โฆษณา