28 พ.ค. 2023 เวลา 14:56 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

The Little Mermaid กับกรณีศึกษาทางกฎหมาย “สัญญาแลกเสียง เปลี่ยนเงือกเป็นมนุษย์”

เชื่อว่าใครที่เพิ่งได้รับชมภาพยนตร์ The Little Mermaid มา คงทราบกันดีถึงเนื้อหาในสัญญาทาสระหว่างแอเรียล นางเงือกตัวเอกของเรื่อง กับ เออร์ซูล่า แม่มดผู้สามารถเปลี่ยนเงือกให้กลายเป็นมนุษย์
โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ว่า แอเรียลตกลงยินยอมแลกเสียงตัวเองกับการได้เป็นมนุษย์ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการจุมพิตจากเจ้าชายก่อนตะวันตกดินวันที่ 3 ถ้าทำสำเร็จจะได้เป็นมนุษย์ตลอดไป แต่ถ้าล้มเหลว แอเรียลจะต้องตกเป็นทาสของเออร์ซูล่า
ซึ่งมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ และหากแอเรียลไม่ต้องการเป็นทาสหรืออยากได้เสียงตัวเองคืน ในทางกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร
ขอแยกวิเคราะห์ทีละประเด็นตามนี้นะครับ
1. ความมีผลสมบูรณ์ของสัญญา
เนื่องจากตัวแอเรียลนั้น มีอายุ 16 ปี ถือว่ายังเป็นผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ การจะทำนิติกรรมใดๆ จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21
อย่างไรก็ตาม การที่แอเรียลไปทำสัญญากับเออร์ซูล่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ใช่ว่าจะทำให้สัญญามีผลเป็นโมฆะหรือสิ้นผลผูกพันตามที่หลายคนเข้าใจนะครับ
เพราะตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ”
ซึ่งคำว่า “โมฆียะ” นั้น แตกต่างจาก “โมฆะ” กล่าวคือ
หากนิติกรรมใดๆ เป็น “โมฆะ” นิติกรรมนั้นถือว่าไม่มีผลหรือ “เสียเปล่า” ตั้งแต่ต้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่อาจให้ความยินยอมหรือ “ให้สัตยาบัน” แก่กันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172
ส่วนนิติกรรมที่เป็น “โมฆียะ” นั้น เป็นนิติกรรมที่ถือว่ายังมีผลบังคับผูกพันคู่สัญญาได้ตราบที่ยังไม่มีการ “บอกล้าง” หรือ “ให้สัตยาบัน”
กรณีของแอเรียลนั้น สัญญาที่ทำกับเออร์ซูล่าถือว่าเป็น “โมฆียะ” ซึ่งผู้ที่มีสิทธิจะทำการ “บอกล้าง” หรือ “ให้สัตยาบัน” ได้คงมีแต่เพียง “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หรือรอให้ตัวแอเรียลเองบรรลุนิติภาวะ แล้วจากนั้นค่อยบอกล้างนิติกรรมที่ตัวเองทำไว้ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 (1)
2. ตัวบุคคลที่จะทำการบอกล้าง “โมฆียะกรรม”
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ที่มีสิทธิจะ “บอกล้าง” ได้แก่ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หรือรอให้ตัวแอเรียลเองบรรลุนิติภาวะ
จึงต้องแยกออกเป็น 2 กรณี
กรณีแรก บอกล้างโดยผู้แทนโดยชอบธรรม
ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ตามกฎหมาย ได้แก่ บิดา มารดา “ที่ชอบด้วยกฎหมาย”
ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมคนแรกที่มีสิทธิบอกล้างก็คือ แม่ของแอเรียลนั่นเอง
ส่วนพ่อของแอเรียลนั้น ต้องดูว่า ในการอภิเษกกับแม่ของแอเรียลนั้น ได้มีการ “จดทะเบียนสมรส” หรือไม่ หากจดทะเบียนสมรสกันเรียบร้อย ก็ถือว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้เช่นกัน
แต่หากมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ถือว่าแอเรียลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของเสด็จแม่แต่เพียงผู้เดียว
หากเสด็จพ่อต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ คงต้องดำเนินการประภาสขึ้นบกมาหานายทะเบียน เพื่อขอจดทะเบียนสมรส หรือจดทะเบียนรับรองบุตร หรือยื่นคำร้องให้ศาลพิพากษาให้แอเรียลเป็นบุตรเสียก่อน จึงจะดำเนินการใช้สิทธิต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547
กรณีที่สอง แอเรียลบอกล้างโมฆียะกรรมด้วยตนเอง
จะกระทำได้ต่อเมื่อแอเรียลบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
วิธีแรก รอให้ตัวเองอายุครบ 20 ปี แล้วค่อยบอกล้าง
วิธีที่สอง จดทะเบียนสมรสกับเจ้าชาย ซึ่งจะมีผลให้แอเรียลบรรลุนิติภาวะในทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20
ซึ่งโดยปกติ แอเรียลจะสมรสได้ต่อเมื่ออายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ แต่หากมีกรณีจำเป็นฉุกเฉิน อาจสามารถยื่นคำร้องให้ศาลอนุญาตให้สมรสกันก่อนอายุ 17 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448
แต่การสมรสดังกล่าวใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เนื่องจากกฎหมายบังคับว่า การที่ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้นั้น ยังไงก็ต้องขอความยินยอมจากบิดามารดาอยู่ดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436
3. การบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็น “โมฆะ” คือ ย้อนกลับไปเสียเปล่ามาตั้งแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176
หมายความว่าแอเรียลต้องกลับไปเป็นนางเงือกเหมือนเดิม
แล้วถ้าไม่ต้องการบอกล้างสัญญาดังกล่าวเพราะแอเรียลต้องการเป็นมนุษย์ให้ได้ แต่รู้สึกว่าเงื่อนไขของสัญญานั้นเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม ควรทำอย่างไร
กรณีดังกล่าว สามารถนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
มาใช้บังคับกับเคสนี้ได้
เนื่องจากกรณีตามเนื้อเรื่อง เออร์ซูล่า ถือว่าเป็น “ผู้ประกอบธุกิจการค้าหรือวิชาชีพ” ตามคำนิยามในมาตรา 3 และแอเรียล อยู่ในฐานะเป็น “ผู้บริโภค”
ส่วนสัญญาที่แอเรียลทำกับเออร์ซูล่านั้น มีลักษณะเป็น “สัญญาสำเร็จรูป”
ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 4 กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น”
เมื่อพิจารณาดูข้อตกลงในสัญญาระหว่างแอเรียลกับเออร์ซูล่า พบว่า มีเงื่อนไขให้แอเรียลต้อง “แลกเสียงตัวเองกับการได้เป็นมนุษย์” และ “หากไม่ได้รับจุมพิตจากเจ้าชายก่อนตะวันตกดินวันที่ 3จะต้องตกเป็นทาส”
ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และแอเรียลมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญาเท่าที่เป็นธรรมได้
เชื่อว่าทุกท่านเมื่อได้อ่านถึงบรรทัดนี้ คงจะพอทราบได้แล้วนะครับ ว่าหากแอเรียลไม่ต้องการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาที่ทำไว้กับเออร์ซูล่า จะมีทางออกและควรดำเนินการอย่างไร
แต่ก่อนจะจบประเด็นนี้ ผมขอฝากข้อความสาระสำคัญประเด็นสุดท้ายไว้ให้พิจารณานะครับ
***เนื่องจากทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมตลอดทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีผลบังคับเฉพาะแต่ผู้ที่มี “สภาพบุคคล” ตามกฎหมายเท่านั้น
แต่เนื่องจากแอเรียลเป็น “นางเงือก” มิใช่ “มนุษย์” จึงไม่ถือว่ามี “สภาพบุคคล” ตามกฎหมาย
แม้ภายหลังจะได้รับพลังจากเวทมนตร์ใดๆ ให้กลายเป็นมนุษย์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากทำสัญญาไปแล้ว
นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
แต่การเป็นมนุษย์ของแอเรียลมิได้ผ่านกระบวนการคลอด และไม่ผ่านการเป็นทารก ไม่ว่าจะตีความจากแง่มุมใด แอเรียลก็ย่อม “มิใช่บุคคล” ตามกฎหมาย
*** ดังนั้น ข้อความที่ท่านพากเพียรอ่านมาจนจบทั้งหมดนี้ จึงไม่สามารถใช้บังคับกับกรณีของแอเรียลได้แม้แต่บรรทัดเดียวครับ ***
ขอบคุณที่อ่านจนจบ
สงวนลิขสิทธิ์บทความโดย Winny Lawyer (ทนายวิน)
Credit ภาพประกอบ : www.pexels.com
โฆษณา