29 พ.ค. 2023 เวลา 05:00 • การศึกษา

เจาะแก่น ราก วิชาลูกเสือ นัยแฝงผ่านชุด และการยืดหยุ่นในรอบ 20 ปี

แก่นราก ชุดลูกเสือ และวิชาลูกเสือ เนตรนารี ที่มาของ "วิชาบังคับเลือก" และการยืดหยุ่นเรื่องชุด ในรอบ 20 ปี
การเป็นพ่อแม่คนไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากต้องดูแลบุตรหลานให้ดี ยังมี “ค่าใช้จ่าย” เพิ่มมากล้นทวีคูณ เพราะนอกจากเลี้ยงดูให้มีพลานามัยแข็งแรงแล้ว ต้องบาลานซ์ความรัก (หากมีลูกหลายคน) อย่างเท่าเทียม
นอกจากความเป็นอยู่แล้ว ยังต้องมอบ “การศึกษา” เพื่อปูรากฐานชีวิตด้วย
แต่...สิ่งที่เป็นประเด็นในวันนี้ ที่ “เรา” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะกล่าวถึง คือ ประเด็นเรื่อง “ดราม่า” ชุดลูกเสือ และวิชาลูกเสือ เนตรนารี กับหลายคำถามว่า ตั้งแต่ยังควรจะมีต่อไปหรือไม่ ยืดหยุ่นด้านวิชาการ และการแต่งกายแค่ไหน และยกเลิกเป็น “วิชาบังคับ” ได้หรือไม่ เรามาไล่เรียงทีละประเด็นกับ ดร.สุทิน แก้วพนา เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
  • ทำไมต้องมีวิชาลูกเสือ :
เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อธิบายว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1-ม.6 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตมาพร้อมความรู้ คุณธรรม สำนึกในการเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก มีความรู้ ทักษะพื้นฐาน มีเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษา และประกอบอาชีพ โดยมุ่งเน้นไปผู้เรียนบนพื้นฐานว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้
การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเด็ก จะมีข้อกำหนดไว้ 8 กลุ่มสาระ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา พละ ศิลปะ การงานอาชีพ ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การเรียนรู้ตรงนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะต่างๆ ที่จำเป็น 5 ด้าน เช่น การสื่อสาร ความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น รักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นในการทำงาน
“หลักสูตรทางการศึกษานั้น จำเป็นต้องร่วมกันอย่างบูรณาการ โดยเด็กต้องเรียน 8 กลุ่มสาระ พัฒนาผู้เรียน โดย 8 กลุ่มสาระ ดังกล่าว ไม่สามารถทำให้เด็กเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้ครบถ้วน เพราะความรู้บางเรื่องจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านทักษะความรู้และประสบการณ์ และกิจกรรมที่เหมาะสม จะช่วยพัฒนาคุณลักษณะอันเหมาะสม ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนผ่านกิจกรรม มีระเบียบวินัย เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบ รู้จักการแก้ปัญหา”
ดร.สุทิน บอกว่ากิจกรรมที่ว่า คือ วิชา ลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยวิชาเหล่านี้สามารถเลือกเรียนได้ตั้งแต่ ป.1- ม.3 ส่วนนักศึกษาวิชาทหาร เลือกเรียนได้ตอน ม.ปลาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมชุมนุม และชมรม ซึ่งถือเป็นการ “เลือกเรียน” ตามความสนใจ
“กิจกรรมลูกเสือฯ (ลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์) เป็นเหมือนส่วนเสริม ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งทางทฤษฎี และการปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ต้องใช้ประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริง ผ่านการบ่มเพาะ ผ่านการเรียนลูกเสือ ยุวกาชาด”
  • วิชาลูกเสือ ไม่มีความจำเป็นในชีวิต เป็นวิชาเลือกได้หรือไม่? :
ดร.สุทิน กล่าวว่า ลูกเสือ คือ กิจกรรมที่มีหลักสำคัญ เน้นเรื่องการนับถือศาสนา มีการบ่มเพาะจริยธรรม ให้เด็กมีหลักยึดเหนี่ยว มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของชาติ” หากเราไม่ใส่เรื่องเหล่านี้ลงไป ไม่รู้ต่อไปประเทศจะเป็นอย่างไร
หลักการลูกเสือ คือ การสร้างมิตรภาพ ในระดับท้องถิ่น ชาติ และ นานาชาติ นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างจิตอาสา โดยมีการยึดมั่นคำปฏิญาณ 10 ข้อกฎของลูกเสือ ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์กับเด็ก โดยเฉพาะการทำงาน จะมีการเน้นผลสัมฤทธิ์ หากทำสำเร็จ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เขาเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการเสียสละ และช่วยเหลือผู้อื่น
ส่วนถามว่าเป็นวิชาเลือกได้หรือไม่ ดร.สุทิน ตอบว่า กิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรม “บังคับเลือก” หากไม่เรียนลูกเสือ ก็ไปเรียนแขนงอื่นๆ เช่น ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้ เพราะเจตนารมณ์ของการเรียนลูกเสือ ส่วนหนึ่งคือการสอนทักษะการใช้ชีวิต และอาชีพด้วย โดยปัจจุบันมีการสอนในเรื่องทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ชีวิตวิถีใหม่
  • วิวัฒนาการการสอนของวิชา “ลูกเสือ” และการยืดหยุ่น :
เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อธิบายว่า เราไม่ได้เรียนลูกเสือแบบเดิมๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากโครงสร้างหลักสูตร เป็นวิชาพิเศษ เป็น Active Learning ทำให้วิชานี้มีความทันสมัยในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า พอพูดคำว่า “ลูกเสือ” คนจะนึกถึงคำปฏิญาณ และทักษะของลูกเสือ
ซึ่งเรื่องนี้มันสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่แล้ว เช่น การผูกเงื่อนต่างๆ ซึ่งในชีวิตประจำวัน ควรมีทักษะเหล่านี้ได้บ้าง นอกจากนี้ เรายังมีการเรียนวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยจากการระบาดของโควิด ซึ่งการเรียนการสอนต่างๆ ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนที่มีการบรรจุในการเรียนการสอน และตั้งเกณฑ์การประเมิน
เมื่อเด็กสอบวิชาพิเศษผ่านได้ ก็สามารถประดับ “เครื่องหมาย” ของวิชาพิเศษ ได้ ซึ่งในทางวิชาการของลูกเสือถือว่าเป็น “เกียรติ” กับตัวเด็ก สร้างความภาคภูมิใจของลูกเสือ
“เครื่องแบบลูกเสือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง เปรียบเสมือนการแสดงออกว่าเป็นชุดแห่งความดี ดังนั้น เด็ก ครู ที่ใส่ชุดลูกเสือ จะไปทำชั่วไม่ได้ คนที่แต่งชุดลูกเสือ จะต้องเอาคำปฏิญาณมาใช้เต็มที่ หากเด็กได้ใส่ เหมือนได้ฝึกตนเองให้ทำความดี เป็นคนที่พร้อมที่จะเสียสละเพื่อคนอื่น
ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดสากลของ “ลูกเสือโลก” ลูกเสือทุกชาติในโลกนี้มีเครื่องแบบหมด เพียงแต่จะเป็นอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่เท่านั้นเอง ส่วนเครื่องแบบของไทยนั้น ออกแบบโดยกฎกระทรวง”
1
กฎกระทรวงเกี่ยวกับลูกเสือ ฉบับแรกเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2510 กำหนดไว้ ประกอบด้วย หมวก เสื้อ กางเกง ผ้าพันคอ เข็มขัด รองเท้า เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ ซึ่งหากรวมราคา ในปัจจุบัน อาจจะสูงกว่างบรายจ่ายรายหัว เรตกลาง อยู่ที่ 1,100 บาท แต่มีเงินสนับสนุนเพียง 500 บาท ถือว่าไม่พอ ฉะนั้นในทางปฏิบัติ บางโรงเรียน ก็อาจจะเอาเงินสนับสนุนดังกล่าว มาใช้ได้ บางโรงเรียน ใช้รองเท้าสีเดียวกับชุดลูกเสือ
“กรณีที่เป็นเด็กยากจน จะมีงบปัจจัยพื้นฐาน ประมาณ 30% ถ้าเป็นประถม ปีละ 1,000 มัธยมปีละ 3,000 บาท นี่คือกรณีปกติ”
ส่วนเรื่องยืดหยุ่นการใส่ชุดนั้น เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ยืนยันว่ามีมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาประเทศไทย ก็เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างเช่น ปี 2540 เรามีผลกระทบค่อนข้างมาก ตอนนั้น รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายช่วยเหลือผู้ปกครอง โดยออกหนังสือเวียนแจ้ง ก.ศึกษาธิการว่า ให้ใช้เครื่องแบบนักเรียน แทนเครื่องแบบลูกเสือได้ โดยใช้เพียงผ้าพันคอได้ เรียกว่าชุดลำลอง
แปลว่า การยืดหยุ่นเรื่องชุดลูกเสือมีมากกว่า 20 ปีแล้ว ดร.สุทิน กล่าวว่า หนังสือดังกล่าว ได้ออกในช่วงกรกฎาคม 2541 และในปี 2564 โควิดระบาดหนัก ทางปลัด ก.ศึกษาธิการ ก็มีนโยบายให้ปรับปรุง เรื่องกิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด ให้ปรับตามความเหมาะสม ให้แต่ละโรงเรียนพิจารณา ใส่ชุดลำลองได้
“แนวปฏิบัติแต่ละโรงเรียนจะมีความแตกต่างกัน โดยให้ไปพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ในบางพื้นที่ที่มีปัญหา โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทาง กทม. ก็มีการซื้อให้เด็กนักเรียน ขณะที่บางจังหวัดต่างๆ ก็มีหนังสือออกไปให้ อปท. แต่ละที่ดูแลเรื่องตรงนี้ด้วย”
เชื่อว่าในอนาคต หากรัฐบาลเล็งเห็นเรื่อง “การลดภาระผู้ปกครอง” โดยเฉพาะชุดลูกเสือ ยุวกาชาด หรือเนตรนารี ก็อาจจะช่วยจัดงบประมาณในการจัดสรรลงมาช่วยเหลือได้ แต่...ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร
  • การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับ วิชาลูกเสือ :
ดร.สุทิน กล่าวว่า ในระยะยาว จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ส่วนจะไปถึงขั้น “เปลี่ยนชุด” เพื่อลดภาระ ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาอีก คือ คนที่มีชุดไปแล้ว ซึ่งก็ต้องรอวงรอบใหม่ และหากจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็คงกระทบในวงกว้างพอสมควร
ตอนนี้เรามีผู้บังคับบัญชาลูกเสืออยู่ 4 แสนคน โดยมีแนวคิดหลายแบบ ทั้งยึดมั่นในกฎความเป็นลูกเสือ คนที่กลางๆ ยังไงก็ได้ หรือคนต้องการเปลี่ยน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ อยู่ในหลายวงการ บางคนอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ บางคนเกษียณไปแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ผู้ช่วย หรือ ผู้ตรวจ
ดังนั้น การขับเคลื่อนเกี่ยวกับลูกเสือนั้น จำเป็นต้องรับฟังข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้น เราจัดทำร่างหลักสูตรลูกเสือใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับอย่างเร่งด่วน เชื่อว่า ภายในเดือนหน้า อาจจะมีการทำประชาพิจารณ์ และอาจจะไปทดลองใช้ 300-400 โรงเรียน
ดังนั้น หากเราเน้นเรื่อง “แก่น” ของวิชา เราอาจจะได้ “ชุด” ลูกเสือที่เหมาะสม จากนั้นอาจมีการพัฒนาผู้บังคับลูกเสือในทุกระดับ เพื่อนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของเรา
ปัจจัยอะไร ที่ส่งผลต่อวิชา “ลูกเสือ” ที่จะอยู่รอด หรือไม่รอดในระบบการศึกษาไทย เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตอบว่า การเป็นเด็กที่กำลังเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ และจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ส่วนตัวมองว่า เราจำเป็นต้องได้คนที่มีอุดมการณ์ หากได้คนไม่มีอุดมการณ์ ถึงแม้จะมีความรู้ เป็นคนที่ไม่สมบูรณ์
มันจะไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง เพราะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การที่เราจะเติมอะไรให้เขาในช่วงวัยนี้ ถือว่ามีความสำคัญในการหล่อหลอมให้เขาเติบโต และเมื่อเขาหลุดออกจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว เขาก็สามารถไปเลือกเติมได้
“การเสริมสร้างให้เด็กมีความรู้ มีศักยภาพรอบด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์สังคม มีระเบียบวินัย จิตสำนึก ศีลธรรม จริยธรรม มีการเสียสละเพื่อทำประโยชน์เพื่อสังคม และอยู่กับผู้อื่นได้ หากเราไม่กล่อมเกลาเขาในตัว เราก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร...?” ดร.สุทิน ตั้งคำถาม ทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา