4 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โมเดล 10 หมู่บ้านร่ำรวย-ยากจน งานวิจัย ศก.ที่ศิริกัญญาอธิบายความเหลื่อมล้ำไทย

ส่องโมเดล 10 หมู่บ้านรวย - จน งานวิจัยของศิริกัญญา ว่าที่รมว.คลัง โมเดลอธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่เคยนำเสนอต่อสังคมในปี 2557 ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลกรายได้คนจน - รวย ห่างกัน
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนนักในเรื่องการฟอร์มทีมรัฐบาลตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สำหรับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยทั้งสองพรรค และพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคนัดหารือแนวทางการทำงานในวันที่ 30 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตามในส่วนของเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคก้าวไกลมีบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่งนี้แล้วคือ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้ให้สัมภาษณ์ในหลายโอกาสว่า เก้าอี้ขุนคลัง พรรคจะส่งศิริกัญญาไปทำหน้าที่นี้เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญของพรรคในหลายเรื่อง
ท่ามกลางกระแสโซเชียลมีเดียร์ที่มีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของไทย “กรุงเทพธุรกิจ” พาผู้อ่านย้อนไปดูผลงานวิจัยของศิริกัญญา เมื่อครั้งเป็นนักวิจัยอาวุโสที่มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายที่ก่อตั้งโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
3
ย้อนในเดือนเมษายนปี 2557 สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ซึ่งเป็นผลงานที่ศิริกัญญาได้ทำร่วมกับทีมงานวิจัยของสถาบันในสมัยที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนศิริกัญญาเป็นผู้อธิบายงานวิจัยและตอบคำถามร่วมกับ ดร.เศรษฐพุฒิ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลากหลายแขนง เพราะในขณะนั้นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย แต่ยังไม่ค่อยมีสถาบันวิจัยที่รวบรวมข้อมูลมาประมวลเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจได้โดยง่าย
3
งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายสภาพสังคมและเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2557 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ว่าในประเทศไทยมีครอบครัวทั้งหมด 22 ล้านครอบครัว หากอยากรู้ว่าความเหลื่อมล้ำหน้าตาเป็นอย่างไร ให้ลองสำรวจรายได้ของแต่ละครอบครัว แล้วจึงเรียงลำดับจากครอบครัวที่รายได้น้อยที่สุดไปหาครอบครัวที่รายได้สูงที่สุด ตั้งแต่ครอบครัวที่ 1 ไปจนถึงครอบครัวที่ 22 ล้าน
1
จากนั้นแบ่ง 22 ล้านครอบครัวนี้ออกเป็น หมู่บ้าน 10 หมู่บ้านโดยในแต่ละหมู่บ้านประกอบไปด้วยครอบครัวคนไทย ราว 2.2 ล้าน หรือมีครอบครัวหมู่บ้านละ10% ของครอบครัวทั้งหมด ให้ครอบครัว 10% แรก หรือ 2.2 ล้านครอบครัวที่จนที่สุด ให้อยู่ในหมู่บ้านที่ 1 (เรียกว่า ครอบครัวที่จนที่สุด 10%) ส่วนครอบครัวที่จนที่สุดรองลงมาอีก 10% ให้อยู่ในหมู่บ้านที่ 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงครอบครัว 10%
สุดท้ายซึ่งเป็นครอบครัวที่รวยที่สุดอยู่ในหมู่บ้านที่ 10 (ขอเรียกว่า ครอบครัวที่รวยที่สุด 10%)ถ้าลองทำการสำรวจในหมู่บ้านที่ 1 (ครอบครัวที่จนที่สุด 10%) ที่ประกอบไปด้วยครอบครัวที่จนที่สุดราว 2 ล้านครอบครัว เราพบว่ารายได้เฉลี่ยของหมู่บ้านนี้ตกเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4,300 บาทต่อเดือน หรือเป็นหมู่บ้านของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,700 บาทต่อเดือน
ถ้าเราจะดูว่าครอบครัวเหล่านี้หน้าตาเป็นยังไง ให้ลองจินตนาการว่าเรากำลังเดินเข้าไปในหมู่บ้านในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ราว 40% เป็นบ้านที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ อีกส่วนหนึ่งประมาณ 1 ใน 4 เป็นครอบครัวเกษตรกร
1
ส่วนหมู่บ้านที่ 1 – 4 ก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาตามลำดับแต่ยังอยู่ในฐานะรายได้เฉลี่ยที่ยากจน ส่วนหมู่บ้านที่ 5 ที่มีฐานะระดับกลางๆ ปรากฏว่ารายได้ครอบครัวในหมู่บ้านนี้เฉลี่ยราว 13,000 บาทต่อเดือน โดยแต่ละครอบครัวมีรายได้อยู่ระหว่าง 12,000 – 15,000 บาท หน้าตาของหมู่บ้านที่ 5 คงเทียบได้กับชุมชนในเมือง หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 20% มีหัวหน้าครอบครัวทำอาชีพเสมียน หรือเป็นพนักงานขาย รองลงมา ประกอบอาชีพพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งมีสัดส่วนพอๆ กันกับ หนุ่ม/สาวโรงงานอยู่ที่ 16%
หมู่บ้านสุดท้ายคือหมู่บ้านที่ 10 ถ้าลองจินตนาการดูหมู่บ้านนี้คงเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยราว 90,000 บาทต่อเดือนในกลุ่มนี้ 40 % เป็นครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวทำอาชีพเฉพาะทาง (อย่างหมอหรือวิศวกร) อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจหรือเถ้าแก่เจ้าของกิจการ
1
โฆษณา