31 พ.ค. 2023 เวลา 03:52 • ประวัติศาสตร์
กระทรวงการต่างประเทศ

บัวแก้วเล่าประวัติศาสตร์: ที่มาของ “ตราบัวแก้ว”

“บัวแก้ว เบ่งบาน ในวังสราญรมย์ ระรื่นชื่นใจ”
เชื่อว่าผู้อ่าน Blockdit กระทรวงการต่างประเทศคงรู้จักและคุ้นเคยกับตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงการต่างประเทศบ้างไม่มากก็น้อยครับ ในวันนี้ เราจึงนำเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของตราบัวแก้วมาแบ่งปันกับทุกท่านฟังครับ
1
โดยบทความนี้ ถือเป็นตอนแรกของซีรีส์ “บัวแก้วเล่าประวัติศาสตร์” ที่จะบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยประวัติของตราบัวแก้วนี้ เราได้รับการถ่ายทอดมาจาก “กิจกรรมบรรยายประวัติศาสตร์การทูตไทยสำหรับกลุ่มอาสาสมัคร National Museum Volunteers” โดยเอกอัครราชทูตอิศร ปกมนตรี อดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖ ครับ
ลักษณะของตราบัวแก้ว
ตราบัวแก้วนั้นเป็นรูปเทพยดานั่งบนดอกบัว ถือดอกบัวในมือข้างขวา และถือวชิระ (สายฟ้า) ในมือข้างซ้ายนั้น เปรียบได้กับการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง หรือ “Carrot and Stick” ควบคู่กันไปแล้วแต่สถานการณ์นั่นเอง
ทั้งนี้ พบว่ามีการใช้ตราบัวแก้วมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยตราบัวแก้วเป็นหนึ่งในสามตราของกฎหมายตราสามดวง และเป็นตราที่เจ้าพระยาคลังใช้ประทับในเอกสารของกรมท่าซึ่งมีหน้าที่ประสานราชการกับต่างประเทศในด้านการค้าและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้น กิจการการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของกรมท่า
กฎหมายตราสามดวง
ตราบัวแก้วเป็นหนึ่งในสามตราของกฎหมายตราสามดวง และเป็นตราที่เจ้าพระยาคลังใช้ประทับในเอกสารของกรมท่า
จากตราประจำกรมท่าสู่ตราประจำกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลังออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงกลายมาเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า และเมื่อมีการจัดระบบราชการใหม่โดยแบ่งเป็น ๑๒ กระทรวง ตราบัวแก้วก็ได้กลายมาเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการการต่างประเทศ ประจำศาลาว่าการต่างประเทศ ซึ่งต่อมาก็คือกระทรวงการต่างประเทศ
1
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ
เทพยาถือ “ดอกบัว” และ “วชิระ” ข้างไหนกันแน่?
ลักษณะของตราบัวแก้วบรรยายไว้ชัดเจนว่า เทพยดาถือดอกบัวด้วยมือขวาและถือวชิระด้วยมือซ้าย แต่หากว่า ท่านได้มีโอกาสไปเยือน “ห้องบัวแก้ว” ที่กระทรวงการต่างประเทศ จะพบกับ “ประตูบัวแก้ว” (ภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งย้ายมาจากพระราชวังสราญรมย์ สถานที่ทำการเก่าของกระทรวงการต่างประเทศ
มาอยู่ในห้องบัวแก้วที่กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยาแห่งนี้
เทพยดาถือดอกบัวด้วยมือขวาและถือวชิระด้วยมือซ้าย
หากสังเกตดูจะเห็นว่าเทพยดาในตราบัวแก้วบนบานประตูนี้ ถือดอกบัวด้วยมือซ้ายและถือวชิระด้วยมือขวา สลับกับคำบรรยายที่เราคุ้นเคยกัน แท้จริงแล้ว เทพยดาจะต้องถือดอกบัวและวชิระข้างไหนกันแน่?
ตราบัวแก้วบน "ประตูบัวแก้ว" ปัจจุบันตั้งอยู่ในห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ อาคารถนนศรีอยุธยา (ทีมา: กระทรวงการต่างประเทศ)
จากการศึกษาค้นคว้าคาดว่า ผู้เก็บรักษาตราบัวแก้วในอดีต ทำตราบัวแก้วที่สร้างมาแต่เดิมตกแตกเสียหาย จึงพยายามซ่อมแซมด้วยตนเอง แต่ขาดความรู้เรื่องการกลับด้านของภาพตราประทับ ซึ่งทำขึ้นให้กลับด้านซ้าย-ขวาเหมือนเงาสะท้อนของกระจกเงาเพื่อให้ประทับตราออกมาเป็นด้านที่ถูกต้อง จึงทำให้ตราบัวแก้วที่ทำขึ้นใหม่กลับด้านซ้าย-ขวา และตราที่กลับด้านนี้ถูกใช้ต่อมา จนกระทั่งค้นพบข้อเท็จจริงนี้และได้แก้ไขตราให้ถูกต้อง
เทพยดาบัวแก้ว (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
ในท้ายที่สุด ขอย้ำกับทุกท่านอีกครั้งว่าตราบัวแก้วปัจจุบันเป็นตราที่ถูกต้องแล้ว โดยเทพยดาถือดอกบัวในมือข้างขวา และถือวชิระในมือข้างซ้าย ท่านใดที่ได้เดินทางมากระทรวงการต่างประเทศหรือสัญจรผ่านไปมาสามารถสังเกตดูได้ที่ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยานะครับ
ขอให้ทุกท่านติดตามบทความในซีรี่ส์ “บัวแก้วเล่าประวัติศาสตร์” ตอนต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเปิดเผยเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของกระทรวงการต่างประเทศที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อน ตอนหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ขอให้ทุกท่านติดตามได้ทาง Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ mfathai ครับ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา