1 มิ.ย. 2023 เวลา 16:11 • การเมือง

ใครพูดอะไร เกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรคก้าวไกลที่จะเข้ามาทำใน 100 วันหลังจากเป็นรัฐบาล โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ได้เริ่มเดินสายพบกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงนโยบายต่างๆ และพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากประมาณ 350 บาทเป็น 450 บาทต่อวัน ถือว่าเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งสองด้าน ในด้านของแรงงานอาจได้ผลดีจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ ส่วนในมุมของผู้ประกอบการเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งมีนักการเมือง นักธุรกิจ และหัวหน้าส่วนราชการที่ออกมาให้ความคิดเห็นกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ของบุคคลต่างๆ ดังนี้
1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯคนที่ 30 กล่าวว่าประเด็นการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ภายใน 100 วัน ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลที่มีการหาเสียงไว้ จากการหารือกับหอการค้าไทย การขึ้นค่าแรงน่าจะมีกรอบระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับระยะเวลาเดิม หรือขยับออกไป ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องหารือค่าแรงที่เหมาะสมก่อน
รวมทั้งกรณีหากขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อราคาสินค้าปรับขึ้นนั้น จากการศึกษาไม่จำเป็นเสมอไปที่ราคาสินค้าจะขึ้นจากปรับค่าแรง ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการขึ้นค่าแรงไปก่อนหน้านี้ 350 บาทต่อวัน เป็นการขึ้นค่าแรงเพียง 5% ขณะที่เงินเฟ้อขึ้น 8%
1
2. สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่อัตราการขึ้นค่าแรง ระยะเวลา อาจจะต้องหารือรายละเอียดที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อมูลแทบไม่ต่างกันมาก
“สำหรับการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 450 บาท ถ้าสื่อสารกับสาธารณะอย่างไม่เข้าใจจะทำให้ทุกคนโต้แย้งได้ ซึ่งประเด็นสำคัญสุดต้องหารือรายละเอียดเชิงลึก เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำมีกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่มีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและแรงงานของแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว”
2
ทั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องฟังเสียงจากประชาชนและสิ่งเหล่านี้คงต้องคุยกัน โดยการขึ้นค่าแรงล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.2565 ปรับขึ้นประมาณ 5% แต่อัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นถึง 8% ถือเป็นภาวะผิดปกติมาก เพราะไม่มีคิดว่าจะเกิดสงครามจนทำให้ราคาพลังงานแพง และดอกเบี้ยขึ้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก
2
3. บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ประธานเครือสหพัฒน์ มองว่า หากค่าแรงสูง นักลงทุนอาจจะย้ายไปยังประเทศเวียดนาม อย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่ถึงแม้ไม่ได้ขึ้นค่าแรงก็มีการย้ายออกไปที่เวียดนามแล้ว รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
4. เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความตอบโต้ข่าวของเจ้าสัวบุณยสิทธิ์ ว่า คงไม่ใช่เหตุผลนี้ที่เค้าจะย้ายฐาน ถ้าเค้าจะย้ายฐานก็คงมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ไม่มีความคืบหน้าทางด้าน การเจรจาสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ หรือไม่มีผู้นำที่เดินทางออกไปเชื้อเชิญให้เขาเข้ามาลงทุนแล้วบอกเล่าว่าประเทศไทยดีอย่างไรซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
1
5. ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) “สภาพัฒน์” ให้ความเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะปรับขึ้น 450 บาททันทีนั้น เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียโดยผลเสียคือการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยต้นทุนในเรื่องของค่าแรงนั้นบางส่วนอาจเป็นต้นทุนที่ผู้ผลิตส่งต่อไปยังราคาสินค้า และเป็นภาระกับผู้บริโภคต่อไปได้
1
ขณะเดียวกันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้นักลงทุนที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เพราะต้นทุนจากค่าแรงนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจและเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆว่าจะตั้งโรงงาน และฐานการผลิตในประเทศใด
กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง
โฆษณา