4 มิ.ย. 2023 เวลา 03:43 • ประวัติศาสตร์

ทำไมงาน Pride Month ถึงขาด ธงสีรุ้ง ไม่ได้

ธงสีรุ้ง หรือ Rainbow Flag เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับงาน Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจมาเกือบ 50 ปีแล้ว ธงนี้เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นการแสดงจุดยืน แสดงตัวตนของ LGBTQIAN+ ว่ามีอยู่จริง ๆ มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่อากาศธาตุ ไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป
งานของเราในฐานะชาวเกย์คือการแสดงออก การมีตัวตนอยู่จริง ๆ ไม่ใช่อากาศธาตุ เพื่อหลีกหนีชีวิตที่ต้องหลบซ่อนและโกหก ธงเหมาะกับภารกิจนั้นจริง ๆ เพราะเป็นวิธีการประกาศให้คนอื่น ๆ รู้ว่า 'นี่คือตัวตนของฉัน!'
กิลเบิร์ต เบเกอร์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ธงสีรุ้ง
สถานะที่ต้องซ่อนเร้นปิดบัง
ย้อนไปในทศวรรษ 1950-1960 สถานะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเวลานั้นเรียกรวมว่า “เกย์” ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าทุกวันนี้ เรียกได้ว่าถูกมองอย่างดูหมิ่น เหยียดหยาม และตกเป็นเป้าของความรุนแรงในลักษณะต่าง ๆ ตลอดเวลา บางคนถึงกับถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกเลือกปฏิบัติ จนต้องปิดบังตัวตนจากคนทั่วไป
ทางหนึ่งที่เป็นการปลดปล่อย นั่นก็คือ การรวมกลุ่มกันในสถานที่ “ปลอดภัย”ที่ให้การต้อนรับ
ซึ่ง “บาร์เกย์” คือคำตอบ นอกจากจะเป็นที่นัดรวมตัวสังสรรค์แล้ว ยังเป็นที่พักพิงของคนที่ถูกขับออกจากบ้าน
แน่นอน ในเมื่อชาวเกย์ไม่เป็นที่ยอมรับ บาร์เกย์ยุคแรก ๆ ก็อยู่ในสถานะเดียวกัน ถึงจะไปขอจดทะเบียน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้ โดยอ้างว่าเพราะ “เป็นเกย์” …ซึ่งถือว่าเป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนัก ฟังขึ้นในสมัยนั้น
ผลก็คือ การเกิดขึ้นของบาร์เกย์เถื่อนที่ผุดขึ้นมากมายเพื่อที่แหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เฉพาะชาวเกย์ แต่ยังรวมไปถึงเลสเบียน ทราน์และอื่น ๆ โดยเฉพาะ บาร์ “สโตนวอลล์ อินน์” (Stonewall Inn) ที่ย่านเกรนนิชวิลเลจ แมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ
1
เหตุเกิดที่ Stonewall Inn
บาร์เกย์ในทศวรรษ 1960 ต้องเผชิญกับบุกของตำรวจเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในเช้าตรู่ วันที่ 28 มิถุนายน 1969 (พ.ศ. 2512) ผู้คนที่บาร์สโตนวอลล์ และบาร์อื่น ๆ ในย่านนั้น ออกมาประท้วงตำรวจที่ยกกำลังเข้าจู่โจม แต่สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เมื่อตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วง สถานการณ์ก็บานปลายหนักขึ้น เรียกกันว่า เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall riots)
กลุ่มผู้ประท้วงที่สโตนวอลล์สู้กลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ วันที่ 29 มิ.ย. 1969 (ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/4/42/Stonewall_riots.jpg)
ความตึงเครียดขยายตัวยืดยาว จากวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนในย่านเกรนนิชวิลเลจมากขึ้น ๆ กลายเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อหาสถานที่ที่ชาวเกย์และเลสเบียนสามารถเปิดเผยเพศวิถีของตัวเองได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ขณะเดียวกันก็มีหนังสือพิมพ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่สิทธิของชาวเกย์และเลสเบียนโดยเฉพาะถึง 3 ฉบับ
การเดินขบวน Pride Parade ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 1970 ที่นครนิวยอร์ก (ภาพจาก https://media.timeout.com/images/103388236/1920/1080/image.jpg)
ปีถัดมา มีการเดินขบวน Pride Parade เป็นครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ ที่นครนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโก จนขยายไปทั่วโลก รวมถึงการตั้งอนุสรณ์สถานสโตนวอลล์ขึ้นในจุดที่เกิดการจลาจล และการแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการของอธิบดีกรมตำรวจนครนิวยอร์ก ต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่สโตนวอลล์ ในปี 2016 และปี 2019 ตามลำดับด้วย
แผ่นป้ายบอกเล่าเหตุการณ์ปราบปรามจลาจลที่โรงแรมสโตนวอลล์อินน์ (ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/a8/The_Plaque_at_Stonewall_Inn.jpg/1920px-The_Plaque_at_Stonewall_Inn.jpg)
ธงสีรุ้ง
เหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ ทำให้ กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินอเมริกันซึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผย สร้างสรรค์ธงสีรุ้งผืนแรกขึ้นมา โดยบอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักการเมืองที่แสดงตัวว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผยเช่นกัน (มิลค์ถูกคู่แข่งทางการเมืองที่เกลียดเกย์ขั้นรุนแรง ยิงระยะเผาขน เสียชีวิตในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1978 หลังจากเบเกอร์ทำธงสีรุ้งขึ้นมาแล้ว)
กิลเบิร์ต เบเกอร์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ธงสีรุ้ง (ภาพจาก https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMho02jBswF2FSZAEd5tgBLGj6dwv.jpg)
ฮาร์วีย์ มิลค์ แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ธงสีรุ้ง (ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/16/Harvey_Milk_in_1978_at_Mayor_Moscone%27s_Desk.jpg)
เบเกอร์ตั้งใจธงสีรุ้งให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจที่ทรงพลังที่สุด เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า งานของเราในฐานะชาวเกย์คือการแสดงออก การมีตัวตนอยู่จริง ๆ ไม่ใช่อากาศธาตุ เพื่อหลีกหนีชีวิตที่ต้องหลบซ่อนและโกหก ธงเหมาะกับภารกิจนั้นจริง ๆ เพราะเป็นวิธีการประกาศให้คนอื่น ๆ รู้ว่า 'นี่คือตัวตนของฉัน!'
เดิมธงสีรุ้งมี 8 สี แต่ละสีมีความหมาย ดังนี้
  • สีชมพู (hot pink) หมายถึง เซ็กส์
  • สีแดง หมายถึง ชีวิต
  • สีส้ม หมายถึง การรักษาเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง แสงแดด
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
  • สีฟ้าคราม หรือ สีเทอร์ควอยซ์ (turquoise) หมายถึง ศิลปะ
  • สีคราม (indigo) หมายถึง ความสามัคคี
  • สีม่วง (violet) หมายถึง จิตวิญญาณ
โดยปรากฏครั้งแรกในขบวนพาเหรดวันเสรีภาพเกย์ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1978 เบเกอร์และทีมอาสาสมัครช่วยกันทำธงด้วยมือให้ได้มากที่สุดสำหรับทุกคนที่มาร่วมงาน
ธงสีรุ้งตามการออกแบบครั้งแรก (ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/5e/Gay_flag_8.svg/1024px-Gay_flag_8.svg.png)
แต่พอทำไป ๆ ปรากฏว่าเจอปัญหาหาผ้าสีตรงตามที่ต้องการยาก เลยต้องตัดสีชมพูและสีเทอร์ควอยซ์ออกในช่วงปี 1978-79 และเปลี่ยนสีคราม (indigo) เป็นสีน้ำเงินธรรมดาตั้งแต่ปี 1979 ทำให้เหลือแค่ 6 สีอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน (แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง) และต่อมายังมีการออกแบบธงสีรุ้งที่หลากหลาย ทุกวันนี้มีธงมากกว่า 20 แบบเลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งของ Pride Flag ในปัจจุบัน (ภาพจาก https://www.rd.com/wp-content/uploads/2021/05/pride-flags.jpg)
ในปี 1994 อันเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของการจลาจลที่สโตนวอล ธงสีรุ้งได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง เบเกอร์ก็ได้ทำธงสีรุ้งยาวหนึ่งไมล์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวด้วย
ทุกวันนี้ในเทศกาล Prime Month ขยายใหญ่ออกไปทั้งในแง่ความหลากหลายของงาน รวมถึงการใช้โอกาสนี้แสดงถึงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจที่ยาวนานตลอดทั้งเดือนมิถุนายน
ปัจจุบันธงสีรุ้ง นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังเป็นแสดงจุดยืน แสดงตัวตนของ LGBTQIAN+ ว่ามีอยู่จริง ๆ เป็นคนจริง ๆ มีเลือด มีเนื้อ มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่อากาศธาตุ ไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป ซึ่งยังคงเป็นไปตามความตั้งใจของเบเกอร์ ผู้ให้กำเนิดธงนี้ขึ้นมาเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน
ความหลากหลายของธง และการเพิ่มขึ้นของอักษรย่อใน LGBTQIAN+ สะท้อนความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น ถึงทุกวันนี้จะมีธงมากกว่า 20 แบบ และเชื่อว่าจะมีเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตตามความ "ชัดเจน" ของการประกาศตัวตน
ยิ่งมีธงและอักษรย่อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าสังคมเคารพและยอมรับการมีอยู่ของคนกลุ่มนั้น ๆ มากขึ้น
...เป็นการแสดงออกถึงการมีตัวตนอยู่จริง ๆ ไม่ใช่อากาศธาตุ
...เป็นวิธีการประกาศให้คนอื่น ๆ รู้ว่า 'นี่คือตัวตนของฉัน!'
เรื่อง : histtalk
#pridemonth #prideflag #ธงสีรุ้ง #LGBTQIAN+ #ประวัติศาสตร์ #histtalk #ที่นี่มีเรื่องเล่า
ทุกวันนี้ยังพบเห็นธงสายรุ้งในงาน Pride Month และการแสดงตัวตนของ LGBTQIAN+ ได้ทั่วโลก (ภาพจาก https://img.rawpixel.com/s3fs-private/rawpixel_images/website_content/px605513-image-kwvxm8gm.jpg?w=800&dpr=1&fit=default&crop=default&q=65&vib=3&con=3&usm=15&bg=F4F4F3&ixlib=js-2.2.1&s=2243031487c7f83df287d713b599ae82)
โฆษณา