4 มิ.ย. 2023 เวลา 08:00 • ความคิดเห็น

มีบทบาทหน้าที่ก็ต้องเล่นไป

ย้อนกลับไปสมัยผมเริ่มต้นทำงาน งานแรกเป็นงานการเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ สถาบันการเงินในเวลานั้นมีความหละหลวมในการปล่อยกู้ และลงทุนเป็นอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ไทยต้องประสบกับวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2540 จนประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และขอความช่วยเหลือจาก IMF
แต่ในวิกฤติ มักมีโอกาส ประเทศถูกบังคับให้ออกกฎหมายที่ถูกตราหน้าว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ จากกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นช่วยยกระดับมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้เทียบเท่านานาประเทศ เช่น กฎหมายล้มละลาย กฎหมายจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในคดีมโนสาเร่ กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีขาดนัด และกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในการบังคับคดี เป็นต้น
ส่วนในตลาดทุนเอง การที่นักลงทุนต่างประเทศหายไปจากประเทศไทย ทำให้เรากลับมาย้อนดูตัว และพบว่า การกำกับดูแลกิจการของเรามันแย่ขนาดไหน ขนาดบริษัทจดทะเบียนในเวลานั้นกลับมีปัญหาในการดำเนินงานมากมาย ตลาดทุนจึงมีการปรับตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสมาคมกรรมการบริษัทไทย เพื่อยกระดับคุณภาพของกรรมการให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับผู้ถือหุ้น การจัดทำ CG rating เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น การเพิ่มมาตรฐานบัญชี การดูแลคุณภาพ
และจริยธรรมของผู้สอบบัญชี จนทำให้ในปี 2012 World Bank ได้บอกว่า ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในด้านความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล และตลาดทุนไทยกลายเป็นตลาดทุนที่มีคุณภาพในสายตานานาชาติ
อย่างไรก็ดี บทบาทในเรื่องนี้เป็นเหมือนบทละครที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และค่อนข้างเป็นแนวกันทั่วโลก ต่างคนต่างมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกันไป
- ตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่ในส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนมีข้อมูลเท่าเทียมกัน ได้รับข้อมูลผลการดำเนินงานในเวลาที่กำหนด
- ก.ล.ต. มีหน้าที่เป็นกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้ทำตามที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงการดูแลควบคุมกรรมการบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ผู้ถือหุ้น (โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่/ผู้มีส่วนได้เสีย) เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้น (โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียเปรียบ) เช่น การทำรายการเกี่ยวโยงกัน การซื้อขายโดยมีข้อมูลภายใน เป็นต้น
- ผู้บริหารมีหน้าที่บริหารบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด
- กรรมการบริษัทมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของบริษัท และรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และนักลงทุน
- ที่ปรึกษาทางการเงิน/ผู้รับรองการจัดจำหน่าย มีหน้าที่ตรวจสอบบริษัทด้วยความถี่ถ้วนก่อนที่จะขายหุ้นให้กับนักลงทุน
- นักลงทุนมีหน้าที่ศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
นักลงทุนโดยทั่วไปมักจะภูมิใจความสามารถของตัวเองที่ลงทุนแล้วได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ตอนลงทุนมักจะละเลยเรื่องของความเสี่ยง ตลาดทุนมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ตลาดคงไม่สามารถทำให้มีแต่ผู้เล่นที่เป็นคนดีได้ จึงอาศัยเครื่องมือชิ้นเดียว คือ “การเปิดเผยข้อมูล” และมอบวิจารณญาณในการตัดสินใจลงให้เป็นหน้าที่ของนักลงทุน
จริงอยู่ตลาดอาจจะสามารถทำตาข่ายให้ถี่เสียจนมีแต่คนที่เราคิดว่าเป็นคนดีเข้ามาได้ แต่คนดี ก็ไม่ได้ดีจนถาวร แถมเรายังไม่มีมาตรวัดคนดีอีกด้วย นอกจากนั้นตาข่ายที่ถี่เกินไป ยังทำให้เกิด False Sense of Security จนนักลงทุนอาจจะลงทุนโดยไม่เฉลียวใจในเรื่องเหล่านี้
1
ส่วนในทางกลับกัน ตาข่ายที่ห่างเกินไปอย่างเช่นที่โลกคริปโตอยากให้เป็น ที่ใครจะขาย/เสนอการลงทุนอะไรก็ได้ ก็เป็นอีกสุดทางของ Spectrum ที่ทำให้มีแต่คนไม่ดีมาหลอกลวงนักลงทุน จนแยกออกยากระหว่างการลงทุนที่ดี และการลงทุนที่หลอกลวง
จุดสมดุลคือจุดตรงกลางที่เราอาจจะหาจุดตรงกลางเป๊ะคงไม่มี แต่เรามีกฎเกณฑ์ในการรับบริษัทเข้ามาจดทะเบียน มีเงื่อนไขในการรักษาสถานะบริษัทจดทะเบียน และมีเงื่อนไขในการยกเลิกสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ตลาดเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในระดับหนึ่งของนักลงทุน และให้ “ข้อมูล” ที่เพียงพอที่นักลงทุนจะสามารถเลือกการลงทุนเองได้
ถึงแม้ตลาดจะดีแค่ไหน ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ “ถ้า” ผู้เล่นไม่ได้เล่นตามบทที่ถูกกำหนดขึ้นมา
- ถ้า ก.ล.ต. ไม่บังคับผู้เล่นให้เล่นตามกฎ ก็เหมือนการเล่นฟุตบอลโดยไม่มีกรรมการคอยแจกใบเหลืองใบแดง ย่อมมีการฝ่าฝืนกฎ และเล่นด้วยความรุนแรง
- ถ้าตลาดไม่มีระบบตรวจสอบว่าผู้เล่นทำตามกฎหรือไม่ ก็เหมือนกรรมการฟุตบอลที่ขาด VAR มาไว้ตรวจดูการล้ำหน้าของผู้เล่น
- หากผู้ตรวจสอบบัญชีไม่เป็นหูเป็นตาว่าการลงบัญชีถูกต้องไหม มีอะไรน่าสงสัยไหม ก็คงไม่ต่างกับกรรมการข้างสนามที่ไม่ยกธงเวลาที่มีคนล้ำหน้า
- หากผู้บริหารไม่ทำตามกฎ ก็เหมือนผู้เล่นที่เล่นด้วยความรุนแรง และผิดกติกา
- หากนักลงทุนหลับหูหลับตาเชียร์ ก็คงเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของการเล่น ก็ย่อมทำให้ทีมที่ไม่มีคุณภาพอยู่ต่อได้
- ส่วนสื่อเอง หลาย ๆ ครั้งแทนที่จะรายงานข่าวด้วยความเป็นกลาง กลับกล่าวโทษคนบางกลุ่มว่ามีความผิด/บกพร่อง โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง เพราะเป็นธรรมชาติของผู้เสพสื่อที่ต้องการหาคนผิด ขอให้เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง
คำถามวันนี้อยู่ที่ พอผลออกมาเป็นแบบนี้ เราควรจะโทษใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และผู้ที่มีบทบาททุกคนต้องตั้งคำถามกับตัวเองดังนี้
  • เราทำหน้าที่บกพร่องไปหรือไม่
  • เรามีส่วนผิดด้วยหรือไม่
  • เรามีอะไรที่ทำได้ดีขึ้นหรือไม่
  • เราทำเท่าที่ทำพอภายในอำนาจหน้าที่ที่มีแล้วหรือไม่
  • สิ่งที่เราทำ เกินหน้าที่เราหรือไม่
  • คนอื่นคิดว่าเรามีหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่หน้าที่นั้นเป็นของคนอื่นหรือไม่
  • และคำถามที่สำคัญที่สุด คือ เราจะทำอย่างไรเมื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก
ก่อนที่จะโยนกันไปกันมาว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาของคนอื่น ไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรใด มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสะท้อนปัญหาในตลาดทุน เพื่อให้มีการขบคิดถึงปัญหากันใหม่อีกครั้ง
โฆษณา