4 มิ.ย. 2023 เวลา 12:39 • ไลฟ์สไตล์

"ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร"

" ... ที่เราภาวนามาตั้งแต่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นสังขาร เห็นอะไรเข้ามา เพื่อวันหนึ่งจะเห็นเข้าถึงตัวจิต
เพราะจิตนั้นเป็นหัวหน้าของธรรมะทั้งปวง ลำพังเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นสังขาร ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา บางทียังเห็นจิตเป็นตัวเราของเราอยู่ อันนี้ยังไม่ได้ ต้องดูไปเรื่อยๆ
ถึงจุดหนึ่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ตรงนั้นล่ะเราจะเข้าใจธรรมะ
เข้าใจว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร
อันนั้นเรียกว่าเราได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน
เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะ
จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น
เพราะฉะนั้นเส้นทางนี้เราจะต้องฝึก
ฝึกให้มีศีลอัตโนมัติ
ฝึกจนกระทั่งเราได้สมาธิอัตโนมัติ
แล้วการที่เราคอยดูเกิดดับไปเรื่อยๆ
วันหนึ่งมันเห็นเกิดดับโดยไม่เจตนา
นั่นล่ะปัญญาอัตโนมัติ
ทีแรกมันยังไม่อัตโนมัติหรอก ดูบ่อยๆๆ ไป
ต่อไปมันอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาจะรู้สึก มันก็รู้สึก
ไม่ได้เจตนาจะเห็นสภาวะ มันก็เห็น
ปัญญาอัตโนมัติมันเกิดแล้ว
เมื่อศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ ทำงานอยู่อย่างนี้ เราขาดตัวสำคัญไป ตัวนี้มันถูกทำลายไป คือตัวโลภเจตนา
โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่
อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา
ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่
อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม
เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน
อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่
ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน
สร้างภพสร้างชาติต่อไป
ฉะนั้นแต่ถ้าเราภาวนา จนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น
ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ
เจตนาที่เจือด้วยความโลภ เรียกว่าโลภเจตนา
โลภเจตนา เป็นเจตนาทางจิตใจ
เป็นเจตนาทางจิตใจ มันทำให้จิตใจนี้เกิดการทำงาน
การทำงานของจิตใจนั้นเรียกว่าภพ
ฉะนั้นตัวโลภเจตนาซึ่งมันเป็นเจตนาทางใจ
มันมีชื่อ ชื่อมโนสัญเจตนา เจตนาทางใจ
มโนสัญเจตนา เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม
กรรมก็คือการที่จิตดิ้นรนทำงานนั่นเอง
ตรงที่จิตดิ้นรนทำงานนั่นล่ะ
จิตสร้างภพไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เกิดโลกุตตระ
เพราะมันเกิดภพเสียแล้ว
แต่ถ้าศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ
ไม่มีโลภเจตนา
เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้
จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ
จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น
พวกเราชอบพูด “สักว่ารู้ ว่าเห็น”
มันยากมากกว่าจะสักว่ารู้ว่าเห็นจริง
นอกนั้นก็พูดแต่ปาก มันไม่สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก
จะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ มันต้องเดินปัญญาจนแก่รอบเต็มทีแล้ว
มันถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็น เป็นกลางจริงๆ
เป็นกลางต่อรูปธรรมนามธรรม
ต่อสังขารทั้งหลายทั้งปวง ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือการที่เราเห็นไตรลักษณ์ ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายนั่นล่ะ
จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง
ตัวนี้เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ
มีปัญญา ทำให้เกิดความเป็นกลาง ต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง
สุขทุกข์ ดีชั่วเสมอกัน
เมื่อมันเสมอกัน จิตมันก็ไม่ดิ้นรนต่อ ไม่ปรุงแต่งต่อ
เมื่อจิตมันไม่ปรุงแต่ง
จิตมันก็เข้าสู่ภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง พระนิพพาน
พระนิพพานคืออะไร
พระนิพพานคือสภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง
นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากกิเลสตัณหา
ถ้ายังมีโลภเจตนาอยู่ ไม่มีวันเจอนิพพาน
ถ้าจิตใจยังดิ้นปรุงแต่งอยู่ กระทั่งแต่งดี
หรือพยายามจะไม่ปรุงแต่ง นั่นก็ปรุงแต่ง
จิตก็ไม่นิพพาน
เพราะจิตยังหลงในความปรุงแต่งอยู่ ไม่ใช่วิสังขาร
เพราะฉะนั้นนี้คือเส้นทาง วันนี้ที่หลวงพ่อพูดให้ฟัง เหมือนกับคลี่แผนที่ให้พวกเราดู ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
เมื่อรู้แล้วต้องเอาไปทำ ถ้าไม่ทำก็อย่างนั้นๆ
ถ้าไม่ปฏิบัติ
กิเลสไม่กลัวคนที่รู้ธรรมะเยอะ
กิเลสกลัวสติปัญญา
เพราะฉะนั้นพัฒนาสติปัญญาขึ้นมา
เอ้า แล้วสมาธิหายไปไหน
สมาธิเป็นตัวหนุนเสริมให้เกิดปัญญา
เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็ต้องมีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
พูดง่ายๆ มีสติ มีปัญญานั่นล่ะสำคัญ
เคยได้ยินไหม ธรรมะที่มีอุปการะมาก คือสติสัมปชัญญะ สติปัญญานั่นล่ะ
ฉะนั้นถ้าเราฝึกอย่างนี้
วันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
เราก็จะเห็นโลกมันเคลื่อนไหวไป
โลกมันก็ไปอย่างโน้น ไปอย่างนี้
เจริญแล้วเสื่อม ไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนา
มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่มาปรุงแต่งมันไป ทุกหนทุกแห่ง
ตั้งแต่จิตใจของเรา เดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม
ในร่างกายเรา เดี๋ยวก็ถึงจุดเจริญจุดเสื่อม
เดี๋ยวก็เจ็บไข้ เดี๋ยวก็แข็งแรง
ในครอบครัวเรา หน้าที่การงานเรา
บางช่วงก็เจริญ บางช่วงมันก็เสื่อม
ชาติบ้านเมือง บางทีก็เจริญ บางทีก็เสื่อม
เพราะนั่นคือโลก โลกมันเป็นอย่างนั้น
มันไม่มีหรอก ดีอย่างเดียว
มีดีได้มันก็ยังมีเสื่อมได้ เจริญได้ก็เสื่อมได้
เพราะฉะนั้นใจเราต้องหนักแน่นมั่นคงไว้
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในจิตใจของเรา
จนถึงในบ้านเมือง ในภูมิภาค ในโลก
อะไรจะเกิดขึ้น จิตใจเราต้องหนักแน่นมั่นคงไว้
เผชิญทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความเข้มแข็ง
ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างที่เราเจอ มันเป็นวิบาก
อย่างความเจริญ หรือความเสื่อมของบ้านเมือง
มันเป็นวิบากร่วมกันของคนจำนวนมาก
ทำกรรมมาด้วยกัน เลยเกิดอยู่ที่เดียวกันนี่ล่ะ
เวลาบ้านเมืองเจริญ มีความสุขด้วยกัน
เวลาเสื่อมก็มีความทุกข์ด้วยกัน
มันเป็นเรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก
ฉะนั้นสู้ไป รู้ อยู่กับมันด้วยความรู้เท่าทัน
อย่าหวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ฟังเลยตกใจเลย อะไรๆ มันก็ไม่เกินแค่ตายหรอก “คิดถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร”
เรื่องอะไรที่ใหญ่โต ถ้าเราคิดถึงอีกหน่อยเราก็ตาย
สมมติเราห่วงบ้านห่วงเมือง อีกหน่อยเราก็ตาย
คนที่เขาอยู่เขาก็ต้องดูกันไป
วางใจ รู้จักปลดปล่อยจิตใจของเรา ให้มันสงบสันติ
ก้าวไปข้างหน้า อย่าให้โลกธรรม 8 ประการ
โลกธรรม คือเจริญแล้วเสื่อม มากระทบใจเราได้
ด้วยสติ ด้วยปัญญา ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
20 พฤษภาคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา