8 ก.ค. 2023 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
สิงคโปร์

งานศพที่สิงคโปร์

ปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของผมที่สิงคโปร์ถึงแก่กรรม ผมบินไปร่วมงานศพตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เป็นครั้งแรกที่เห็นงานศพในประเทศนี้อย่างละเอียดจบครบกระบวนการ
4
จึงถือโอกาสนี้บันทึกไว้เป็นความรู้ และเปรียบเทียบกับงานศพบ้านเรา
ญาติผู้ใหญ่คนนี้เสียชีวิตด้วยโรคชราที่บ้าน ลูกหลานโทร.แจ้งหมอ หมอก็มาชันสูตรศพ เมื่อพบว่าตายตามธรรมชาติ ก็รายงานความตายต่อทางการผ่านทางออนไลน์
3
นี่เป็นระบบใหม่ที่เพิ่งใช้งานมาไม่นาน ก่อนหน้านั้นหากมีคนตายในบ้าน ลูกหลานผู้ตายจะต้องโทร.แจ้งตำรวจ ก็มีตำรวจมาเฝ้า จุดเกิดเหตุ ตรวจดูว่าเป็นความตายตามธรรมชาติหรือไม่ แล้วให้หมอชันสูตรศพ บางทีตำรวจก็ดูเอง ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ จากนั้นลูกหลานก็สามารถเริ่มทำพิธีศพได้
ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลประกาศห้ามทำพิธี ถ้าเสียชีวิตในโรงพยาบาล ศพจะถูกส่งตรงไปที่เมรุเลย
พลเมืองสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตสูง เมื่อมีคนตาย ก็จัดพิธีศพที่ชั้นล่างของแฟลตนั้นเลย ชั้นล่างของแฟลตทุกหลังเป็นพื้นที่โล่ง ออกแบบเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ลูกหลานก็เพียงโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ (HDB) หรือไปที่สำนักงานโดยตรง เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ ก็เรียบร้อย
2
ทางการคิดค่าเช่าพื้นที่ต่ำมาก การใช้พื้นจัดงานศพห้าวัน คิดเงิน 130 เหรียญ (3,250 บาท) ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าฟรีหมด
1
แฟลตรัฐบาลทั้งหมดขึ้นตรงต่อหน่วยงานที่เรียกว่า The Housing & Development Board (HDB) ก็คล้ายกับการเคหะแห่งชาติของบ้านเรา HDB อยู่ในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ รับผิดชอบที่พักอาศัยของพลเมืองทั้งประเทศ
2
วิธีคิดเรื่องที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์คือสร้างเมืองย่อย (satellite town) หลายเมือง ล้อมใจกลางเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ satellite town แต่ละแห่งเชื่อมกับใจกลางเมืองโดยรถไฟฟ้าและรถเมล์ สะดวกสบาย
3
แต่ละเมืองย่อยมีทุกอย่างในนั้นครบครัน ทั้งแฟลต ศูนย์อาหาร (hawker centre) ร้านค้า สำนักงาน โรงหนัง สวนสาธารณะ สนามกีฬา ฯลฯ
1
หลังจากก่อตั้งในปี 1960 HDB ก็สร้างอาคารแฟลตสูง 10-25 ชั้น อาคารยุคแรกมักสูงประมาณ 10 ชั้น ออกแบบเรียบๆ ไม่โดดเด่นทางสถาปัตยกรรม เน้นหน้าที่ใช้สอย หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ
2
การซื้อแฟลตรัฐบาล คู่แต่งงานมักได้สิทธิก่อน การรอคิวไม่นานมาก ส่วนหนึ่งของค่าแฟลตใช้เงินสวัสดิการสะสมได้ (ขึ้นกับหน่วยงานอีกแห่งคือ CPF)
แฟลตเก่าๆ ในยุคแรกซึ่งมีขนาดเล็ก ได้รับการอัพเกรดโดยสร้างตึกใหม่มาเชื่อม ขยายห้องของตึกเก่าให้กว้างขึ้น
งานศพที่สิงคโปร์นิยมทำกันเพียงสามวัน อย่างมากก็ห้าวัน พิธีศพแทบทั้งหมดจัดทำโดยมืออาชีพ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ คล้ายๆ บริษัทในซีรีส์เกาหลี Move to Heaven แต่บริการของบริษัทกว้างกว่าแค่เก็บศพและข้าวของ พวกเขาจะจัดพื้นที่พิธีศพ มีฉากหลัง ที่วางโลง ที่วางรูปถ่ายคนตาย ดอกไม้ โต๊ะ เก้าอี้สำหรับแขกที่มาเยี่ยม ตู้เย็นใส่เครื่องดื่ม ไปจนถึงห้องน้ำเคลื่อนที่ จัดแสงสีเรียบร้อย
4
พนักงานของบริษัททำงานเป็นระบบ รวดเร็ว จัดฉากทุกอย่างเสร็จในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
เนื่องจากผู้ตายเป็นคริสต์ ฉากจะเป็นแบบคริสต์ แขวนไม้กางเขน โลงศพแบบมีฝากระจกใสให้ดูศพได้
2
ธรรมเนียมสิงคโปร์ไม่มีการส่งหรีดแบบบ้านเรา แต่ส่งเป็นดอกไม้สด การโปรยดอกไม้ในวันเผาก็ใช้ดอกไม้สด ต่างจากบ้านเราที่ใช้ดอกไม้จันทน์
3
จุดหนึ่งที่แปลกแตกต่างจากงานศพในบ้านเราคือ แขกที่มาเยี่ยมไม่ต้องสวมชุดดำ หรือขาว รองเท้าแบบเรียบร้อย ผู้มาเยือนสวมชุดอะไรมาก็ได้ จะสวมกางเกงขาสั้น ใส่รองเท้าแตะ ก็ไม่มีใครว่าอะไร คล้ายๆ เป็นความคิดว่า ทำทุกอย่างตามปกติ ไม่ต้องเรื่องมาก
8
พิธีศพเริ่มงานตอนค่ำ แต่ตลอดทั้งวันก็สามารถมาเยือนได้ ดังนั้นลูกหลานก็ต้องอยู่ในพื้นที่งานศพทั้งวันจนดึก
6
พิธีศพโดยบาทหลวง (pastor) ในตอนค่ำเริ่มราวหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่มบาทหลวงก็ทำพิธีเทศน์ ตามมาด้วยการร้องเพลงแบบคริสต์ อย่างที่ทำในโบสถ์ คล้ายกับการยกโบสถ์มาที่แฟลต
1
แต่ละคืนบาทหลวงอาจเทศน์คนละภาษา บางคืนเป็นภาษาอังกฤษ บางคืนภาษาจีนกลาง บางคืนก็จีนแต้จิ๋ว เพลงคริสต์ก็มีทั้งเวอร์ชั่นอังกฤษและจีนกลาง
5
บางคืนก็มีญาติหรือเพื่อนขึ้นไปกล่าวคำไว้อาลัยต่อคนตาย (eulogy)
2
เสร็จพิธีราว 3-4 ทุ่ม แขกเหรื่อมักยังไม่กลับ อยู่สนทนากัน บางทีเกือบถึงเท่ียงคืน
1
ในสมัยก่อน แขกเหรื่อจะจับกลุ่มเล่นไพ่นกกระจอกโต้รุ่ง นัยว่าอยู่เป็นเพื่อนกับคนตาย และเป็นการเฝ้าศพไปในตัว เนื่องจากใต้ถุนแฟลตโล่ง ใครๆ ก็เข้าออกได้
3
การเฝ้าศพในเวลากลางคืนทำโดยลูกหลาน หรือจ้างคนมาเฝ้า ค่าจ้างเฝ้าศพคืนละ 150 เหรียญ (3,750 บาท)
4
ผ่านไปสามวันหรือห้าวัน ก็ถึงเวลาย้ายศพไปฌาปนกิจ
สิงคโปร์มีที่ดินจำกัด จึงไม่มีการฝังศพ
การฌาปนกิจศพในสิงคโปร์มีสองทางเลือก เผาแล้วนำอัฐิไปโปรยทะเลหรือที่อื่นๆ หรือนำไปเก็บในสถานที่ที่จัดไว้
ในวันสุดท้าย บาทหลวงมาทำพิธีที่ใต้ถุนแฟลตเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสร็จพิธีก็เคลื่อนศพไปเผา เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายคนสวมชุดเป็นทางการ ยกศพขึ้นรถ ลูกหลานเดินตามรถขนศพไปช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขึ้นรถบัสของบริษัท ตรงไปสถานที่เผาศพ
2
สิงคโปร์มีสถานที่เผาแห่งเดียว เป็นของรัฐบาล เรียกว่า Mandai Crematorium and Columbarium อยู่ทางเหนือของเกาะ บริษัทที่ทำจะติดต่อสถานที่เผาเอง ค่าฌาปนกิจศพค่อนข้างถูก คือ 100 เหรียญเท่านั้น (2,500 บาท)
4
ถนนเข้า Mandai Crematorium เป็นเนินร่มรื่น สองข้างทางเป็นต้นไม้ใหญ่ ดูสงบเข้ากับบรรยากาศของพิธี
ทุกคนที่ตายในสิงคโปร์มาเผาที่นี่ แต่สถานที่เก็บอัฐิมีหลายแห่ง
Mandai Crematorium เป็นอาคารทันสมัย ใหญ่โต ตกแต่งภายในสวยงาม เหมือนโรงแรมหรือสนามบิน
2
ภายในมีจอเหมือนจอในสนามบิน แสดงกำหนดพิธี บอกว่าห้องไหน เวลาไหน ทำพิธีใคร
1
ถนนเข้า Mandai Crematorium and Columbarium
อาคาร Columbarium ที่เก็บอัฐ
ห้องทำพิธีก็คล้ายโบสถ์ มีที่วางโลง ที่นั่งเรียงเป็นแถว แสงสีดูขรึมและสวยงาม
ก่อนเผามีพิธีทางศาสนาอีกครั้ง ณ ห้องนี้สามารถใช้ประกอบพิธีได้ทุกศาสนา ทุกภาษา
1
บาทหลวงทำพิธี ตรงนี้อาจมีคนไปกล่าวคำไว้อาลัยอีกรอบเป็นครั้งสุดท้าย
จากนั้นก็คล้ายหนังฝรั่ง ทุกคนที่ไปร่วมงานก็วางดอกไม้สดบนโลง
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ลากโลงออกไปจากห้องทำพิธี ทุกคนออกจากห้องไปอีกห้องหนึ่ง คือห้องดูการเผา
1
ห้องประกอบพิธี โครงสร้างสว่างเรืองด้านซ้ายคือที่วางโลง
ห้องนี้เป็นห้องเพดานสูง ด้านหนึ่งเป็นกระจกสูง มองออกไปเห็นเตาเผาอยู่ไกลออกไป คล้ายสนามบินบางแห่งมีห้องกระจกใหญ่ๆ ให้มองดูเครื่องบินขึ้นลง
1
แต่เครื่องบินแห่งความตายนี้ บินจากไปแล้วไปลับ
1
แน่นอน ที่จุดนี้ เสียงร้องไห้ดังระงม
เมื่อเครื่องกลเคลื่อนโลงไปถึงเตาเผา ฉากก็ปิดกั้น พิธีเผาสำหรับคนภายนอกจบแค่นี้ แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการต่อไป เพื่อที่ลูกหลานสามารถไปรับอัฐิได้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
สำหรับงานนี้ รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จทั้งงานประมาณ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (150,000 บาท)
2
วันรุ่งขึ้นถึงเวลารับอัฐิ ก็เดินทางไปที่ Mandai Crematorium and Columbarium อีกรอบ
ห้องดูการเผา / เครื่องจักรลากโลงไปยังเตาเผา
เจ้าหน้าที่บริษัทจัดงานศพจะจัดการเดินเรื่อง รับอัฐิ แล้วนำไปยังห้องย้ายอัฐิจากกล่องของ Crematorium ใส่โกศที่ลูกหลานจัดเตรียมมา บาทหลวงมาร่วมพิธีนี้เป็นครั้งสุดท้าย
1
หลังจากนั้นก็บรรจุอัฐิใน columbarium
1
columbarium เป็นสถานที่เก็บอัฐิ มีทั้งของรัฐบาลและเอกชน บางแห่งก็เป็นของโบสถ์
columbarium ออกแบบเป็นช่องๆ และชั้นๆ มีหลายราคา สำหรับ columbarium ที่เลือกเป็นของโบสถ์ แบ่งออกเป็นเจ็ดชั้น แต่ละชั้นราคาไม่เท่ากัน
ราคานี้ครอบคลุมเวลา 30 ปี
ชั้น 7 อยู่บนสุด แถว 4-5-6 แพงสุด เพราะอยู่ระดับสายตา
1
จุดนี้ต่างจากวัดจีนในไทย ที่หาดใหญ่ วัดจีนกวนตี๊เมี้ยวก็มีที่เก็บอัฐิ แต่ชั้นบนถูกสุด ชั้นล่างแพงสุด
พิธีศพในแต่ละสังคม แต่ละศาสนาแตกต่างกันออกไป แต่จุดหนึ่งที่เหมือนกันคือ มันเป็นห้วงยามที่เราสำรวจชีวิตของเรา ถามตัวเองว่าเรามาทำอะไรบนโลก และเราพร้อมจะจากไปแล้วหรือไม่
7
ชีวิตเริ่มที่ครรภ์มารดา และจบลงที่เมรุเสมอ
6
ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว จุดแตกต่างคือ เราจะทิ้งความทรงจำใดของเราต่อคนที่อยู่ข้างหลัง
9
ชั้นเก็บอัฐ
โฆษณา