5 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • ธุรกิจ

การคุ้มครองพยาน สิ่งที่ประเทศไทยควรมี

จากเคยของบริษัทจดทะเบียนที่มีการสงสัยว่า อาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น เวลาที่เกิดเหตุ ก็จะต้องมาตามหากันว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการแก้ไขปัญหาผิดจุดที่เรานิยมทำกันมาตลอด
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด คือ การทำอะไรก็ได้ให้ปัญหามันไม่เกิดตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมธรรมภิบาล สร้างองค์กรที่มีการตรวจสอบดูแลที่เป็นอิสระจากกัน ทั้งหน่วยงานตรวจสอบภายใน ผู้ตรวจสอบบัญชี แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือ กฎหมาย Whistle Blower ที่ให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
“ในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ”
ซึ่งเป็นความท่อนหนึ่งจากหนังสือ เวนิสวาณิช ที่แปลจาก Merchant of Venice หนังสืออ่านนอกเวลาสมัยผมยังเป็นเด็ก ได้สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่า การข้องแวะกับปัญหาคดีความช่างเป็นเรื่องที่วุ่นวายมาก คนทั่วไปจึงหลีกเลี่ยงที่จะไปทำอะไรที่ต้องทำให้ตัวเองต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
นี่ยังไม่รวมไปถึงการถูกขู่ฆ่า ทำร้าย อุ้ม กลั่นแกล้งที่อาจจะเกิดขึ้นหากอีกฝ่ายที่มีปัญหาเป็นเจ้านาย ผู้มีอิทธิพล หรือมีสายสัมพันธ์กับตำรวจ ทหาร ตุลาการ ข้าราชการ มาเฟีย หรือผู้มีอิทธิพล
1
คนที่ไปเจอความผิดปกติของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า คู่แข่ง ข้าราชการ จึงมักจะเงียบเฉย ไม่ทำอะไร เพราะร้องเรียนไป ก็มีแต่ผลด้านลบ แทบหาผลด้านบวกกับตัวเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูลไม่ได้
ดังนั้นหากจะสนับสนุนให้เกิดการแจ้งเบาะแสผิดปกติ เราจึงมีกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างเพียงพอในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านความปลอดภัย จัดให้มีการคุ้มครองพยานเท่าที่จำเป็น ด้านการเงิน ให้มีการแบ่งส่วนแบ่งค่าปรับจากการลงโทษทางแพ่ง/อาญากับผู้ทำความผิด รวมไปถึงการคุ้มครองอาชีพในอนาคต อันเกิดจากการที่ผู้แจ้งเบาะแส มักถูกกล่าวหาว่าเป็นหนอนบ่อนไส้ จนบริษัทอื่น ๆ ที่อาจจะมีพฤติกรรมเดียวกันไม่รับจ้างงานคนที่มีประวัติเหล่านี้
จริงอยู่วันนี้ บางบริษัทที่ “ดี” ประกาศนโยบาย Whistle Blower อย่างชัดเจน แต่พนักงานยังกังวลกับความศักดิ์สิทธิ์ของนโยบาย ด้วยความที่ว่าเวลามีเหตุการณ์ทุจริตเกิดขึ้น เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่า คนที่เราแจ้งเบาะแสจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และไม่บอกต่อเรื่องราวให้กับคนที่อาจจะให้ดีให้ร้ายกับเราได้
ตัวอย่างที่มีคงเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวผมสองสามคน คนแรกต้องการแจ้งเบาะแสด้านการจัดสรรหลักทรัพย์ผิดปกติ คนที่สองเป็นอดีตผู้บริหารที่ถูกซื้อบริษัทไป และพบความผิดปกติในการดำเนินงาน และคนสุดท้ายเป็นผู้ถือหุ้นที่พบความผิดปกติในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ทั้งสามกรณี ผู้ต้องการแจ้งเบาะแสท้อแท้ และสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมทั้งในบริษัท และในระดับประเทศที่จะมาจัดการกับเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งยังเกรงกลัวอิทธิพลที่มองไม่เห็นอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม และตั้งใจแก้ปัญหาอย่างแท้จริง รัฐบาลควรมีการผลักดันกฎหมาย และโครงสร้างในการรองรับ Whistle Blower อย่างแท้จริง เพื่อลดปัญหาการฉ้อโกง และคอรัปชั่นให้น้อยลงครับ
โฆษณา