8 มิ.ย. 2023 เวลา 04:57 • ธุรกิจ

=== ทุจริตในองค์กร - เรื่องที่ทุกคนรู้ ยกเว้นหัวหน้า (ตอนที่ 1) ===

จั่วหัวไว้แบบขำๆ แต่อาจจะเป็นความจริงก็ได้ สำหรับบางองค์กร
เรื่องของเรื่องคือ ผมเคยดูแลงานด้านนี้ด้วย และเรามีทีมงานที่ทำกันไม่กี่คน แต่ก็ค่อนข้างจะทำงานกันเข้มข้น ทำให้เราสามารถจัดการกับเคสต่างๆได้พอสมควร และป้องปรามเรื่องแบบนี้ในองค์กรจนช่วงปีหลังๆนี่แทบจะไม่เห็นอีก
หลังจากที่ออกมาแล้ว ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนหลากหลาย ก็พยายามเลียบๆเคียงๆถามเขาดูว่าที่บริษัทเดิมเรา มีการทำอะไรไม่โปร่งใสบ้างมั้ย ก็มีแต่คนบอกว่า ไม่มีนะ ที่นี่ทำอะไรตรงไปตรงมา ก็รู้สึกดีใจ
แต่ในทางกลับกัน ผมกลับได้ยินตัวอย่างมากมายของการไม่ทำอะไรตรงไปตรงมาของหลายที่
- ทั้งการเรียกรับเงินแบบตรงๆ และด้วยเปอร์เซ็นต์สูงๆด้วย แถมไม่ค่อยเนียมอายเหมือนสมัยก่อนด้วย
- การล๊อคสเป๊คที่ทำกันจนเป็นเรื่องปรกติ
- การฮั้วประมูล หรือมีคนโทรมาเคลียร์ให้ถอย ถ้าไม่อยู่ในกลุ่ม
- การ “รับน้อง” คนที่ดื้อประมูลแหกการฮั้วจนชนะได้งาน ด้วยการกลั่นแกล้งในขั้นตอนการตรวจรับงานให้แก้แล้วแก้อีกจนขาดทุน เพื่อให้เข็ดไม่กล้าทำอีก และเป็นบทเรียนให้รายอื่นๆให้ไม่กล้าทำแบบนี้อีก
- การมีคนมีเส้นสาย ที่จริงๆก็ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานแบบที่ประมูลตรงๆ แต่ดันชนะได้งาน และเมื่อรับงานมาแล้วก็ซับต่อไปให้คนอื่นทำราคาถูกๆ กินส่วนต่างไป
- การตั้งสเป๊คโครงการ ให้ใหญ่ ซับซ้อน หรือแพงเกินความต้องการใช้จริง เพื่อจะให้ได้เงินทอนมากๆ
ฯลฯ
และที่ทำให้ผมฉุกคิด ก็คือคำพูดของลูกน้องเก่าคนนึง ที่หลังจากเปลี่ยนบริษัทไปที่ใหม่(นอกวงการปิโตรเลียมที่เคยอยู่)ได้ไม่นาน ก็มาบอกว่า อยากให้พี่ไปช่วยจัง เพราะทุจริตเยอะเหลือเกิน ทั้งที่บริษัทนั้นก็ดูจะมีชื่อเสียงอยู่
แปลว่า คนระดับทำงาน ไปอยู่ที่ใหม่แค่ปีเดียว ก็รู้แล้วว่ามีการทุจริต
ผมเลยถึงบางอ้อ ว่าจริงๆเรื่องการทุจริตนี่ จริงๆน่าจะไม่ใช่ความลับอะไรขนาดนั้น คนในองค์กรเขาก็พอจะรู้ๆกันอยู่ ว่าที่ไหนน่าจะมีน่าจะเป็น
เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะจัดการจริงๆ สิ่งที่ต้องก็ไม่มีอะไรมาก แค่ทำยังไง ให้คนในองค์กรบางคนที่รู้เห็นเรื่องเหล่านี้ เอาข้อมูลมาบอกหัวหน้าให้จัดการ
ซึ่งวิธีการก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร เพราะสาเหตุหลักของการไม่รายงาน หรือการที่มีรายงานเข้ามาน้อย หรือมีแต่เรื่องปลาซิวปลาสร้อย อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละที่
- บางที่ อาจมีประวัติว่า คนที่รายงาน ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกทำร้าย จึงไม่มีใครอยากรายงานอีก
- บางที่ คนที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ไม่สามารถทำให้คนในองค์กรไว้ใจได้ว่าจะสืบสวนสอบสวนเรื่องที่รายงานมาอย่างจริงจัง
- บางที่ ผู้บริหารอาจเคยแสดงความเห็นที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หรือบางที อาจแถมมีพฤติกรรมเชิงสนับสนุนคู่ค้าเทาๆบางรายที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับองค์กรเป็นจำนวนมากเป็นระยะเวลานานด้วย
- บางที่ ไม่มีหนทางให้ พนักงานจะรายงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนได้ เพราะฉะนั้น คนที่รายงานไม่มีทางรู้เลยว่าชื่อของเขาจะหลุดไปถึงใครบ้าง
ฯลฯ
ถ้านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในองค์กรคุณ ก็ไม่แปลกอะไร ถ้าคุณจะไม่ได้รับรายงาน
ร้ายไปกว่านั้น การรายงานการทุจริต อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการกลั่นแกล้งคน โดยเฉพาะคนที่เพื่อนร่วมงานไม่ชอบหรือขวางทางอะไรบางอย่างอยู่ การสืบสวนสอบสวนผู้ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยเจตนาทุจริต (แต่อาจทำผิดขั้นตอน เพื่อให้งานสำเร็จและออกมาดีกว่าเดิม) เป็นสิ่งที่อาจทำลายกำลังใจของคนที่ตั้งใจทำงานอย่างร้ายแรง
เพราะฉะนั้น กระบวนการจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสม จึงสำคัญมากๆ เพราะเป็นเหมือนดาบสองคม
แล้วถ้าปล่อยไปล่ะ จะได้มั้ย ? เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ซะ ถ้ามันโกงกันไม่เยอะ ก็ไม่ซีเรียสหรอก องค์กรก็ยังไปได้นี่นา
ผมเชื่อว่า มีผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่เลือกทางนี้ เพราะมันง่ายกว่าการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบางทีก็ไม่อยากรับรู้นักหรอกว่าเรื่องจริงมันเป็นไง เพราะไม่รู้จะไปเหยียบหัวแม่เท้าใครเข้า
แถมผมคิดว่าเขาคิดถูกด้วย ถ้าเขาไม่ได้ต้องการให้องค์กรเข้มแข็งและยั่งยืนจริงๆ
เพราะการทำแบบนั้นมันง่ายกว่า เรื่องที่ผู้บริหารต้องจัดการมันก็มีมากมายอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปิดแผลภายในกับเรื่องพวกนี้อีก
แต่ถ้าคุณต้องการมากกว่านั้น คุณต้องการปัดกวาดเรื่องนี้ในบ้านของคุณจริงๆ ผมอาจมีคำตอบให้คุณได้ แต่คงต้องอดใจรออ่านตอนต่อไปนะครับ
 
อาทิตย์
#AAdvisory
หากสนใจ คุณสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนเราในทาง Line เพื่อรับ update โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลต่างๆของเราได้ที่ https://lin.ee/Q1V9omr ครับ
-
โฆษณา