11 มิ.ย. 2023 เวลา 13:30 • ธุรกิจ

ทำไมวันนี้เราจึงขายของได้น้อยลง พรุ่งนี้ เราจะไปต่ออย่างไรดี?

หลายวันนี้ได้อ่านโพสต์ ได้เห็นได้ฟังวีดีโอ จากพ่อค้าแม่ค้ามากมายที่ขายของในตลาดต่างๆ ทุกโพสต์มีสถานการณ์คล้ายๆ กัน คือ หลังหักต้นทุนแล้วไม่มีกำไร
เรื่องราวเหล่านี้มีหลายมิติที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ “ต้มกบ” จากระดับบุคคล แล้วจะเห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้อย่างชัดเจนและง่ายขึ้นมากค่ะ
ข้อสังเกตจากสิ่งแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ที่พ่อค้าแม่ค้าหลายๆ คนเผชิญอยู่
  • จ่ายค่าเช่าจำนวนเงินคงที่ แบบรายวัน รายเดือน หรือตลอดสัญญาเช่า ถ้าขายไม่ดี ส่วนใหญ่ไม่สามารถยกเลิกการเช่าได้ก่อนกำหนดตามสัญญาหรือข้อตกลงการเช่า โดยไม่เสียค่าเช่าหรือค่าปรับ
  • ตลาดส่วนใหญ่ที่พ่อค้าแม่ค้าเลือกเช่าพื้นที่ มักเป็นตลาดที่มีคนเดินไปมาในตลาดค่อนข้างมาก แต่กลับมีคนซื้อน้อย ส่วนใหญ่เดินชมหรือเดินผ่านไปมาหน้าร้าน และหากตลาดบริหารพื้นที่ไม่เร็วในการหาพ่อค้าแม่ค้าใหม่มาขายแทนร้านที่ออกไป จนมีร้านค้าขายน้อยลง ถึงจุดหนึ่ง คนก็จะยิ่งมาเดินในตลาดน้อยลง
  • ต้องลงทุนซื้อสินค้ามาเตรียมการขายก่อน หากวันนั้นขายได้น้อยและเป็นของสด ก็จะต้องทิ้งไป ขาดทั้งรายได้และเสียเงินที่ลงทุนไป ถ้ายังเก็บไว้ขายวันอื่นได้ ยิ่งนาน ทุนก็ยิ่งจม ขาดเงินมาหมุนเวียนต่อยอดในธุรกิจ หรือใช้จ่ายประจำวัน อาจนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องกู้เงินมาหมุนเวียน เพิ่มค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยทับถมภาระที่มีมากขึ้นอีก
ข้อคิดเพื่อการเรียนรู้
  • พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นรายเล็ก มีการปรับตัวเรื่องค่าเช่าที่ต้องจ่ายคงที่และไม่สามารถยกเลิกสัญญาก่อนได้ โดยยอมจ่ายแบบค่าเช่ารายวันและจองไว้ประมาณ 3 วัน ซึ่งจะจ่ายค่าเช่าต่อวันแพงกว่าเช่าแบบยาวเป็นเดือนหรือปี เพื่อลดความเสี่ยงถ้าขายไม่ดี จะได้หยุดขายได้เร็ว และเปลี่ยนทำเลขายของ และถ้าขายดี ก็จะเจรจาก็ต่อระยะเวลาการเช่าแบบยาวขึ้น ซึ่งค่าเช่าจะถูกลง เหมือนการทดลองตลาดจริงก่อน
  • คนซื้อจะมากหรือน้อย ประมาณได้ยากมากถ้าดูจากปริมาณคนที่เดินไปมาในตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันคนประหยัด ใช้จ่ายน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัด เพราะความไม่มั่นคงด้านรายได้ และภาระที่ต้องรับผิดชอบที่อาจมากขึ้นจากสมาชิกในครอบครัวที่อาจขาดรายได้ พ่อค้าแม่ค้าหลายรายจึงเลือกตลาดที่คนเดินแน่น เพราะมีโอกาสที่คนซื้อจะมีมากกว่า รวมทั้งถ้าเป็นตลาดในย่านที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะคนทำงานหนาแน่น ก็จะเป็นเป้าหมายหลักของพ่อค้าแม่ค้า เพราะคนกลุ่มนี้ยังมีรายได้สูงและมองว่ารายได้ตนมั่นคง จึงยังคงจับจ่ายใช้สอยปกติ
  • ถ้ามีโอกาส พ่อค้าแม่ค้าจะเลือกตลาดที่มีชื่อเสียงมานาน เพราะแสดงถึงความสามารถในการบริหารตลาดของเจ้าของที่ โอกาสที่จะมีร้านค้าสนใจต่อคิวมาเช่าที่มีมาก ทำให้มีร้านค้าหมุนเวียนเพิ่มความหลากหลาย เพิ่มความน่าสนใจต่อลูกค้าที่ทำงานหรืออาศัยในย่าน ให้ออกมาเดินตลาดบ่อยๆ สม่ำเสมอ จนหลายครั้งเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันช่วงพักเที่ยง หรือเช้าก่อนเริ่มงาน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการขายของพ่อค้าแม่ค้าด้วย
  • พ่อค้าแม่ค้าต่างพยายามสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและแผงขายของ แต่หลายรายก็ทำได้จำกัด ด้วยงบประมาณและลักษณะสินค้าที่สร้างความแตกต่างได้จำกัด หลายรายก็หันมาสร้างความแตกต่างด้วยตัวพ่อค้าแม่ค้าเองเพื่อสร้างความสนใจ กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างยังคงเป็นปัจจัยสร้างความสำเร็จ แต่มีความท้าทายมากขึ้นอย่างมากในปัจจุบันที่จะสร้างความแตกต่างอย่างยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่จะไม่ใช่ธุรกิจที่มีความได้เปรียบจนกีดกันพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นไม่ให้ทำตามได้
  • พ่อค้าแม่ค้าบางรายประสบผลสำเร็จในการสร้างกระแสในการขายของได้มากในช่วงแรก พบว่าหลายรายไม่สามารถรักษาความแรงของกระแสได้ เพราะพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ ต่างก็แข่งขันสูงในการสร้างกระแสเช่นกัน และความสนใจของคนในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงเร็ว หากปัจจัยความสำเร็จคือกระแสความสนใจเพียงอย่างเดียว ก็ยากมากที่จะขายดีอย่างยั่งยืนได้
  • ขอชื่นชมในความอดทนของพ่อค้าแม่ค้ามาก แม้ว่าช่วงแรกๆ ในหลายตลาดที่เข้าไปขายจะยังขายไม่ดี ก็ยังคงมุ่งมั่นขายสินค้าของตนต่อไป เพราะมั่นใจว่าอร่อย สวยงาม มีประโยชน์ แต่จะเลือกเปลี่ยนทำเลตลาดขายของไปเรื่อยๆ จนพบทำเลที่สามารถขายได้ดีอย่างจริงจัง และอาจเลือกขายที่ทำเลนั่นๆ แบบสัญญาเช่าที่ยาวขึ้น เพื่อครอบครองทำเลและอาจได้ค่าเช่าที่ถูกลงกว่าค่าเช่ารายวัน
  • พ่อค้าแม่ค้าพูดกันถึง “กำไร” ว่าวันนี้ได้กำไรเท่าไหร่ มากกว่าที่จะพูดถึง “รายได้” ว่าวันนี้ขายได้เท่าไหร่ เพราะการได้กำไร คือ มีรายได้มากกว่าต้นทุนค่าใช่จ่ายในการขายแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่า ต้นทุนสินค้าที่ทำขายหรือนำมาขาย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าขนของ ค่าจ้างพนักงานช่วยขาย ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น หากยิ่งขาย ยิ่งมีกำไรต่อเนื่อง ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นในการขายของ และมีเงินออมจากการขาย ที่นำไปต่อยอดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น หรือลงทุนด้านอื่นๆ เสริมรายได้หลักจากการขายของได้
สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรในสภาวะเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่?
แน่นอนว่าการที่เราขายของได้น้อยเพียงคนเดียว ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจไม่ดี เพราะเราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการขายเท่านั้น เพราะพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ยังขายดีอยู่
แต่ ณ ปัจจุบัน ที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ขายของได้น้อยและขายได้น้อยต่อเนื่องมาหลายเดือนหรือหลายปีแล้ว นั่นหมายถึง การจับจ่ายใช้สอยในตลาดในภาพรวมที่น้อยลงอย่างมาก
แล้วอะไรล่ะ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในตลาดน้อยลงอย่างมาก เรากำลังพูดถึงตลาดค้าขายทั่วประเทศที่มีมูลค่าซื้อขายน้อยลงพร้อมๆ กัน นั่นคือ สภาวะ นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยรวมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เกิดจากสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนในระบบที่น้อยลงอย่างมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสภาวะที่เงินจำนวนเท่าเดิม เราซื้อของได้น้อยลง
รายได้ของคนส่วนใหญ่ที่ยังทำงานประจำนั้นเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นน้อย ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมนี้ สามารถซื้อของได้น้อยลง พ่อค้าแม่ค้าก็ย่อมขายของได้น้อยลงด้วย
นักวิชาการหลายท่าน เรียกสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ว่า “ต้มกบ”
ถึงเวลาแล้ว ที่เราทั้งหลายต้องตื่นตัว รับรู้ถึงสภาวะ “ต้มกบ” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ และขณะนี้ที่อุณหภูมิ “ต้มกบ” ขึ้นมาสูงมากแล้ว และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่อุณหภูมิจะสูงต่อเนื่องแบบนี้ ไม่ลดลงไปอีกเป็นปีหรือหลายปีเพราะเกิดขึ้นคล้ายๆ พร้อมๆ กันทั่วโลก
ถึงเวลาที่เราทุกคน ต้องตั้งหลักให้ดี ว่าตอนนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องมี ต้องรักษา คืออะไร และจริงๆ แล้ว เราแต่ละคนต้องมีเงินในมืออย่างน้อยเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ให้มีและรักษา สิ่งที่เราพิจารณาแล้วว่า “ต้องมี”
ในกรณีที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า “เงินในมือ” ในที่นี้คือ
รายได้จากการขาย
หัก ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขาย
หัก ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่ามือถือ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่ากินอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนตัว สบู่ ยาสีฟัน โลชั่น เป็นต้น
คงเหลือเป็น “เงินในมือ” หรือเงินที่เราสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เราพิจารณาว่า “ต้องมี” เงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน และส่วนที่สามารถนำไปลงทุนให้เพิ่มพูน
ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการเตรียมตัวที่สำคัญคือ
อะไรคือสิ่งที่ต้องมี ต้องรักษาในชีวิต? และการที่จะต้องมี ต้องรักษาสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เราต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่?
คำถามนี้สำคัญมาก และไม่สามารถหาคำตอบได้จบในการคิดพิจารณาครั้งเดียว
เพราะอะไร?
เพราะในครั้งแรกที่เราคิด มักจะเต็มไปด้วยรายการ สิ่งที่ต้องมี ต้องรักษา มากมาย ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่มาก และเราไม่สามารถหาเงินได้มากขนาดนั้นในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และอย่าลืมว่าการรักษาในครั้งนี้ หมายถึง การหาเงินในจำนวนนั่นๆ มารักษาสิ่งที่ต้องมี ในสภาวะเศรษฐกิจแบบ “ต้มกบ” นี้เป็นปีๆ มันไม่ใช่สถานการณ์ขัดสนทางการเงินชั่วคราว
ดังนั้น เราจะต้องวนกลับมาตัด สลับสับเปลี่ยน บางรายการในสิ่งที่ต้องมีต้องรักษา จนกระทั่ง ถึงจุดสมดุล ที่เรามีความมั่นใจว่าจะสามารถหาเงินจำนวนนั่นได้ตลอดปีข้างหน้า โดยที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเลย
อ่านถึงตรงนี้ อยากให้พวกเราไม่ตกใจ ผิดหวังในชีวิต หรือสิ้นหวัง เพราะการที่เราตระหนักถึงสภาวะ “ต้มกบ” ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ก็จะมีโอกาสเริ่มต้นปรับตัว ลดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยลดได้เรื่อยๆ เพิ่มการออมเงิน และนำไปลงทุนให้เพิ่มพูน เป็นรายได้เสริมจากรายได้หลักในการค้าขายในตลาดได้ รวมทั้งกลยุทธ์ในการเลือกตลาด การทดลองตลาด การเลือกรูปแบบการเช่า และเม็ดเงินในการตกแต่งร้านค้า
ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีกำไรในแต่ละวันที่ขายของ ในจำนวนที่มากพอเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และภาระในการจัดการ “สิ่งที่ต้องมีต้องรักษา” ที่เราเองแต่ละคน เป็นคนเลือกกำหนดขึ้นมา และอยากให้รายการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ให้รายการ “สิ่งที่ต้องมีต้องรักษา” สอดคล้องและน้อยกว่า เงินที่เราทำมาหากินได้นั่นเอง ไม่เช่นนั้น เราจะต้องกู้หนี้ยืมสิน จนไม่เหลือเงินออมไปลงทุนในที่สุด และจะเป็นการทำมาหากินภายใต้แรงกดดันจากภาระหนี้ที่ต้องจ่ายให้ตรงเวลา และดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจนี้
สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อสังเกต ข้อคิดจากการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมกับ สภาวะเศรษฐกิจแบบ “ต้มกบ” นี้ จะมีประโยชน์กับพวกเรา และพวกเราจะสามารถยืนระยะได้ดีในสภาวะที่ซบเซาต่อเนื่องยาวนานนี้ได้ และมีสิ่งดีๆ รออยู่เมื่อทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปในที่สุดค่ะ
ขอบคุณที่ติดตามอ่าน และพบกันในเรื่องราวต่อๆ ไปกับ THE EQUATION นะคะ
โฆษณา