13 มิ.ย. 2023 เวลา 00:14 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหลักทั่วโลกกลับมาคึกคัก แต่การขยายตัวกลับไม่ทั่วถึง

ดูเหมือนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหลักทั่วโลกจะโตได้ดีหลังจากที่ดัชนีบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ หรือ composite PMI ในหลายที่แตะระดับเกิน 50 (ซึ่งตัวเลขที่มากกว่า 50 บ่งบอกถึงการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม และตัวเลขต่ำกว่า 50 ชี้ถึงการหดตัว) (แผนภูมิ 1)
อย่างดัชนี composite PMI ของสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 54.5 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ดัชนีของญี่ปุ่นก็แตะ 54.9 ในเดือนเดียวกัน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว ส่วนดัชนี composite PMI ของเยอรมนีก็สูงกว่า 50 มาเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 4 เดือนแล้ว โดยล่าสุดอยู่ที่ 54.3 และแม้ว่าดัชนีของประเทศแถบยุโรปกับอังกฤษในเดือนมีนาคมจะลดลงจากเดือนที่แล้วนิดหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในช่วงขยายตัวที่ 53.3 และ 53.9 ตามลำดับ อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของกิจกรรมไม่ได้กระจายทั่วถึงในทุกภาคอุตสาหกรรม เพราะดูเหมือนว่าการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะมาจากภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ (แผนภูมิ 2)
ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่ดัชนีบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคบริการ หรือ service PMI เพิ่มขึ้นเป็น 55.1 ในเดือนมีนาคมต่อเนื่องจาก 53.6
ในเดือนก่อนหน้า หรือ ญี่ปุ่นที่ดัชนีเดียวกันแตะระดับสูงสุดที่เคยมีมาที่ 56.3 ในเดือนมีนาคม ซึ่ง service PMI ของญี่ปุ่นนั้นขยายตัวมาต่อเนื่องเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว เช่นเดียวกัน service PMI ในเยอรมนีก็อยู่เกินระดับ 50 มา 4 เดือนติดแล้ว
โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 57.8 ดัชนีเดียวกันของยุโรปและอังกฤษในเดือนมีนาคมก็อยู่ในช่วงขยายตัวที่ 55.9 และ 55.1 ตามลำดับ แม้จะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
ซึ่งในขณะที่ภาคการบริการทั่วโลกได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการของคน โดยเฉพาะในการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงหลังโควิด
แต่ภาคอุตสาหกรรมดูจะยังฟื้นตัวได้ไม่ค่อยดี เห็นได้จากดัชนีบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิต หรือ manufacturing PMI ของหลายประเทศ (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งชี้ถึงการหดตัวของกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม (แผนภูมิ 3)
ซึ่งปัจจัยหลักสำหรับความอ่อนแอนี้ก็น่าจะมาจากความต้องการซื้อทั่วโลกที่ลดลงและเทรนด์การบริโภคของคนที่เปลี่ยนจากการซื้อสินค้าไปซื้อบริการแทน
แม้ว่าความอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมจะช่วยให้ราคาสินค้าที่ผลิตและเงินเฟ้อโดยรวมลดลงได้บ้าง แต่ราคาการบริการน่าจะลดลงได้ยาก เนื่องจากงานบริการที่กำลังเติบโตทำให้บริษัทผู้ให้บริการมากมายมองหาคนงานเพิ่ม ซึ่งนี่จะยิ่งทำให้ตลาดแรงงานในประเทศเหล่านี้ที่ตึงตัวอยู่แล้ว ยิ่งตึงตัวเข้าไปอีก และอาจส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อจากค่าจ้างที่สูงขึ้น ด้วยปัญหานี้
นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์มากมายจึงมองว่าธนาคารกลางใหญ่ๆ อย่าง ECB หรือ Bank of England อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยก่อนจะเริ่มหยุดวงจรการขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา