6 มิ.ย. 2023 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจเอเชีย: เงินเฟ้อเริ่มลด แต่การฟื้นตัวก็ชะลอลงเช่นกัน

อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างรวดเร็ว (แผนภูมิ 1) อย่างใน เวียดนาม ไทย และ อินเดีย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ได้กลับมาเข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางแล้ว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายที่ก็ดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วด้วย (แผนภูมิ 2) สถานการณ์เหล่านี้กำลังชี้ให้เห็นว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะลดลงอีกในเดือนต่อไป
อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างรวดเร็ว (แผนภูมิ 1)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายที่ก็ดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วด้วย (แผนภูมิ 2)
เมื่อปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย ธนาคารกลางในเอเชียก็เริ่มที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินกันมากขึ้น อย่างในเวียดนาม ธนาคารกลางก็ได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว หรือในอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ที่ธนาคารกลางได้คงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และ 3 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็เพิ่งจะประกาศหยุดขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อเร็วๆนี้ นี่ก็ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าประเทศในแถบเอเชียจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้เริ่มวงจรการลดดอกเบี้ย อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะภายในกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาเงินเฟ้อจะดีขึ้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในหลายที่ก็ยังคงอ่อนแออยู่ ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวไป หลังจากที่ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้หดตัว 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่หดตัวไป 0.8% ในไตรมาสก่อนหน้า
สาเหตุหลักก็มาจากการส่งออกที่อ่อนแอเนื่องจากความต้องการของต่างชาติในการนำเข้าการสินค้าเทคโนโลยีนั้นลดลง ในขณะเดียวกัน ตัวเลข GDP เบื้องต้นของสิงคโปร์ก็ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ น่าจะลดลงประมาณ 0.7% จากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว สาเหตุหลักก็มาจากการบริโภคที่ชะลอตัวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นมาก
ในทิศทางเดียวกัน เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 1 หดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง และแม้เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะฟื้นตัว 0.3% ในไตรมาสที่ 1 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ประเทศก็ยังต้องเจอความเสี่ยงจากการส่งออกที่อ่อนแอและผลกระทบด้านลบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางในช่วงที่ผ่านมาอยู่ดี
แต่ถึงแม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะฟื้นตัวได้ไม่ค่อยดีนัก บางที่กลับโตได้ดีกว่าที่อื่นๆ เช่น ไทย ฮ่องกง และจีน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ฮ่องกงเองก็ฟื้นตัว 2.7% ในไตรมาสที่ 1
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 1 ปี 2023 หลังจากที่ประเทศได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ซึ่งนี่ถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เมื่อไตรมาส 1 ปีที่แล้ว
โดยรวมแล้ว แม้เศรษฐกิจหลายที่ในเอเชียจะฟื้นตัวได้ไม่ค่อยดี แต่การที่ธนาคารกลางในภูมิภาคสามารถผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้เร็วก็น่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภูมิภาคได้
จากคาดการณ์ของ OECD เศรษฐกิจเอเชียเกิดใหม่ มีแนวโน้มเติบโต 5.3% ในปลายปีนี้ และ 5.4% ในปีหน้า ซึ่งมุมมองนี้คล้ายกับทาง Asian Infrastructure Investment Bank ที่มองว่าเศรษฐกิจเอเชียเกิดใหม่จะขยายตัวที่ 5.2%
ในปลายปี 2023 ส่วน Asian Development Bank มองว่าภูมิภาคอาจฟื้นตัวได้ประมาณ 4.8% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขคาดการณ์จะต่างกัน
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ยังมองว่าเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ขยายตัวเร็วที่สุดในปีนี้
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา