16 มิ.ย. 2023 เวลา 12:18 • หนังสือ

หนังสือ "เราอยู่อย่างไร เราตายอย่างนั้น" How we live is How we die

คำว่า 'บาร์โด' มักเชื่อมโยงกับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต แต่ความหมายกว้างๆของคำนี้หมายถึง "เปลี่ยนผ่าน" หรือ "ช่วงว่าง" การเดินทางหลังการตายเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเราตรวจสอบประสบการณ์อย่างใกล้ชิด จะพบว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา ทุกขณะในชีวิต บางสิ่งสิ้นสุดแล้วบางสิ่งก็เริ่มต้น นี่ไม่ใช่แนวคิดเร้นลับ ถ้าเราเอาใจใส่ มันจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่พลั้งพลาด (หน้า 11)
...ความตายไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนชีวิตเราจะสิ้นสุด ความตายเกิดอยู่ทุกขณะ เราอยู่ในกระแสอัศจรรย์ของการเกิดและตาย เกิดและตาย เมื่อปรากฏการณ์หนึ่งสิ้นสุด ประสบการณ์ต่อไปก็เกิดขึ้นทันที เป็นการเริ่มต้นใหม่ ดุจเดียวกับแม่น้ำที่ไหลอย่างต่อเนื่อง (หน้า 15)
....การพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นสิ่งสำคัญสุดบนวิถีจิตวิญญาน พระองค์ตรัสว่า "รอยเท้าช้างใหญ่กว่ารอยเท้าใดๆฉันใด ... การพิจารณาความไม่เที่ยง เหนือกว่าการเจริญสติใดๆฉันนั้น" (หน้า 18)
ก็อย่างที่ติช นัท ฮันห์กล่าว "ไม่ใช่ความไม่เที่ยงแท้ที่ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เพราะอยากให้สิ่งทั้งหลายเที่ยง ทั้งๆที่มันไม่เที่ยง" (หน้า 23)
การพิจารณาความผันแปรเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด อาจรู้สึกเศร้าหรือกลัว หลายๆครั้งเมื่อฉันเข้าเงียบระยะยาว ทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆทุกวัน จู่ๆฉันคิดว่า "วันอาทิตย์อีกแล้วรึ เป็นไปได้ไง ก็เพิ่งวันอาทิตย์นี่นา!" ฉันอยากให้เวลาผ่านไปช้าๆ ความเร็วที่เคลื่อนไปทำให้ฉันหายใจไม่ทัน ยิ่งอายุมากขึ้น ความรู้สึกนี้ยิ่งหนักหน่วง เมื่อย้อนนึกถึงวัยเด็ก ฤดูร้อนช่างยาวนาน ทว่าตอนนี้มันผ่านไปในช่วงพริบตา (หน้า 26)
... ทั้งๆที่การเปลี่ยนแปลงอยู่กับเราตลอดเวลา แต่เราก็ไม่ชินกับการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องนี้ เรายังไม่คุ้นเคยกับความไม่แน่นอนในทุกขณะและทุกวันในชีวิต เมื่อเราตั้งใจพิจารณาคำสอนที่ว่าประสบการณ์ของเราไหลไปตลอดเวลา พยากรณ์ไม่ได้ เราอาจรู้สึกผ่อนคลายกับทุกสิ่งที่เป็นไป ถ้าความผ่อนคลายนี้ติดตัวไปตอนใกล้ตาย เราจะพร้อมรับทุกสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น (หน้า 35)
การแพทย์แผนตะวันตกถือว่าคนนั้นตายแล้ว ชีวิตสิ้นสุด แต่คำสอนพุทธศาสนากล่าวว่ากระบวนการภายในที่เรียกว่า "การสลายภายใน" ยังดำเนินต่อไป ในการสลายขั้นสุดท้ายนี้จิตสลายรวมกับอากาศ เป็นกระบวนการที่คาดการณ์ไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่โดยทั่วไป กล่าวกันว่าจะใช้เวลาราวๆยี่สิบนาที ด้วยเหตุนี้คำสอนจึงห้ามไม่ให้แตะต้องหรือเคลื่อนย้ายร่างนั้น ปล่อยไว้อย่างนั้นอย่างน้อยยี่สิบนาทีหรือถ้านานกว่านั้นก็ยิ่งดี (หน้า 38)
ฉันเรียกวิธีปฏิบัติง่ายๆนี้ว่า ฝึกการหยุด แค่หยุดสิ่งที่กำลังทำ แล้วมองออกไป ท่านทำได้ตลอดเวลา ตอนกำลังเดินหรือล้างจาน ท่านหยุดแล้วมองออกไป การหยุดจะขัดจังหวะการคิดที่ติดอยู่ในหัว แล้วท่านก็สบายใจเมื่อได้เห็นความสดใหม่ที่ตรุงปะ ริมโปเชเรียกว่า "ภาวะปัจจุบัน" มันอาจไม่ใช่ประสบการณ์ภาวะปัจจุบันอย่างเต็มที่ แต่การมองออกไปสอนให้ท่านรู้ความแตกต่างระหว่าง การจมปลักกับการเปิดกว้าง ท่านเริ่มจะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง เริ่มเข้าใจว่าธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร (หน้า 52)
... เราต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่โครงการสร้างความเป็นศัตรูกับจิต เมฆมาแล้วไปไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ท้องฟ้า ความคิดก็เช่นกันมันมาแล้วไปไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่จิต ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ความคิดก็ยังมาอยู่เรื่อย มันเป็นของมันอย่างนั้น อย่ามองว่าเป็นปัญหา แทนที่จะเห็นว่ามันเป็นตัวร้าย ก็แค่อ่อนโยนอยากรู้อยากเห็น อาจแค่สงสัยว่า "จะเป็นยังไงถ้าจู่ๆฉันหยุดคิด ฉันจะพบกับสิ่งใด ความคิดนี้คืออะไร มันเที่ยงจริงมั้ย มันคุกคามจริงหรือ"
... เมื่อท่านศึกษาและฝึกฝน ประสบการณ์ก็จะยิ่งแจ่มชัด ท่านจะนึกถึงการหยุดได้มากขึ้น ขัดจังหวะการคิดที่ประดังกันเข้ามา การคิดก็จะค่อยๆหมดปัญหา ท่านจะรู้สึกโล่งสดชื่นมากขึ้น ยิ่งท่านฝึกใฝ่รู้อย่างนี้มากขึ้นเท่าใด การรู้อันไพศาลก็จะชัดเจนมากขึ้น (หน้า 53)
" ความตายเป็นศัตรูหรือมิตรอยู่ที่คุณคิดนะเพื่อนรัก" ... ข้อความนี้บนกำแพงที่ซานฟรานซิสโก (หน้า 73)
สาเหตุจริงๆของความทุกข์ไม่ได้อยู่นอกตัวเรา แต่อยู่ในตัวเราเอง สันดานและอารมณ์เชิงลบของเราเป็นตัวทำร้ายวันเวลาของเราไม่ใช่เจ้านายหรือความโชคร้ายของเรา ... พระพุทธองค์ทรงสอนสามวิธีหลักๆที่จะทำงานอย่างสร้างสรรค์กับกิเลสของเรา ซึ่งฉันคิดว่าเป็น "ความกล้าสามขั้นตอน"
... แรกสุดคือ ละเว้นจากการโต้ตอบ เพราะมีด้านลบอยู่ในอารมณ์ของเรา เราจึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เลวร้ายมากขึ้น วิธีที่สองคือเปลี่ยนกิเลสเป็นความรักและกรุณา เท่ากับเราจัดการกับอารมณ์ด้วยทัศนะเชิงบวก ... วิธีที่สาม คือใช้อารมณ์เป็นวิถีสู่การรู้ตื่นโดยตรง ซึ่งทำให้เราข้ามพ้นทวิภาวะดีเลว แล้วปล่อยอารมณ์อย่างที่มันเป็น (หน้า 81) (ผู้อ่านเข้าใจว่า คือ 'ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส' นั่นเอง)
... ฉันเห็นนิตยสาร Garuda จัดพิมพ์โดยศิษย์ของตรุงปะ ริมโปเช ฉันเปิดอ่านบทความเรื่อง "Working with Negativity" (ทำงานกับพลังลบ) ... ริมโปเชพูดว่าเราเผชิญกับพลังลบอย่างกับมันเป็น "สิ่งเน่าเหม็น น่ารังเกียจ ที่ต้องกำจัด" "ถ้ามองให้ลึกซึ้ง เราจะเห็นว่ามันมีชีวิตชีวา หอมยวนใจ" มัน "แน่ชัด มีชีวิตเชื่อมโยงกับความจริง"
เมื่อย้อนนึกถึงคำสอน ฉันสงสัยว่าตอนนั้นฉันเข้าใจคำพูดเหล่านั้นได้อย่างไร แต่ฉันเข้าใจสาระสำคัญที่ว่า "สิ่งที่เกิดกับเธอไม่มีอะไรผิด แค่อยู่กับพลังนั้น อย่าผลักออกไป แล้วเธอจะพบสิ่งมีค่าในสิ่งนั้น" ... ประเด็นหนึ่งที่ริมโปเชมักพูดถึงคือ ปัญญาที่เราพบในความอึดอัดขัดใจมีรสต่างๆกัน พุทธศาสนาสอนว่าปัญญามีห้า ประเภท ซึ่งสัมพันธ์กับกิเลสทั้งห้า : โลภ โกรธ หลง อิจฉาและหยิ่งยโส (หน้า 98)
...ด้านลบของความโกรธ ... ในกรณีความก้าวร้าวนี้ เราพบสิ่งที่เรียกว่า "ปัญญาดุจกระจกเงา" ที่คมชัด ตัดมายาความลวง ให้เห็นสิ่งทั้งปวงอย่างกระจ่างชัด ปัญญาดุจกระจกเงานี้คือน้ำที่เห็นได้ เมื่อน้ำแข็งความก้าวร้าวละลาย
กิเลสความโลภมาคู่กับ "พุทธิปัญญา / ปัญญาแยกแยะ"
ความอิจฉา ... ด้านปัญญาของกิเลสนี้ คือ "ปัญญาความสำเร็จสมบูรณ์"
พลังด้านลบของความหยิ่งยโส ... "ปัญญาอุเบกขา"
อาการของกิเลสความหลง คือ ความซึมเซา เฉื่อยเนือย ... ด้านรู้ตื่นของพลังนี้เรียกว่า "ธรรมชาติปัญญา"
(หน้า 99-100)
... ถ้าเราต้องการพบปัญญาในตน ไม่มีที่ไหนที่จะหาได้นอกจากในความอึดอัดขัดข้องของเราเอง (หน้า 101)
ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่างตัวเรากับผู้ปฏิบัติที่ก้าวหน้าคือ เราใช้เวลาส่วนใหญ่เป็นปฏิปักษ์กับอารมณ์ หาเรื่องทุกข์ตลอดเวลา ส่วนผู้ปฏิบัติที่ก้าวหน้าสามารถผ่อนคลายอยู่กับพลังพุทธวงศ์ของท่าน อยู่กับปัญญาและแสดงคุณลักษณะอัศจรรย์ของมัน เรามีแนวโน้มต่อสู้กับสิ่งที่เราเป็น ส่วนผู้คนอย่างครูอาจารย์ของฉัน ก้าวย่างอย่างมั่นใจเข้าไปในความเป็นตัวท่าน ท่านจึงสามารถใช้คุณลักษณะของตนสร้างความเบิกบาน เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างดีที่สุด (หน้า 106)
คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต กล่าวว่าภาพในบาร์โดธรรมตาดำรงอยู่เป็นเวลาสิบสองวัน แต่ "วัน" ในตัวบทนี้ ไม่ใช่เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงตามวันเวลาของมนุษย์ ในบาร์โดชีวิต ครูทั้งหลายนิยามวันเหล่านี้ว่าเป็นระยะเวลาที่บุคคลสามารถพักจิตอยู่กับอาการรู้ไพศาลอย่างไม่วอกแวก ในกรณีนี้ วันอาจสั้นเท่ากับเวลาที่ดีดนิ้ว (หน้า 112)
กายา ในภาษาสันสกฤตแปลตามตัวว่า "กาย" แต่ ณ ที่นี้เรากำลังพูดถึงความจริงหลายระดับ จากประณีตที่สุดถึงหยาบที่สุด
ธรรมกาย หมายถึง ความไพศาลอันเป็นที่เกิดของรูปทั้งหลาย
สัมโภคกาย หมายถึง พลังหรือรูปอันประณีตเบื้องหลังการสำแดงตัวตนที่เป็นประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน
นิรมาณกาย หมายถึง ปรากฏการณ์รูปธรรมที่เรารับรู้ด้วยอายตนะปกติ (หน้า 126)
... เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "จงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นกับชีวิต" ตอนที่ท่านยังทำได้ ทำอย่างนี้ได้เราจะมีเรื่องทุกข์ใจน้อยในบาร์โด ฉันเขียนความประสงค์ว่าอยากอยู่เงียบๆตอนตาย แต่ฉันเพิ่งคิดได้เมื่อเร็วๆนี้ว่า ถ้าฉันยึดมั่นความประสงค์นี้มากเกินไป นี่จะกลายเป็นตำรับความผิดหวัง สิ่งสุดท้ายที่ฉันอยากทำตอนตายคือโมโหโกรธาเพราะเสียงดังเกินไป! (หน้า 131)
... "อย่าวิ่ง ช้าเข้าไว้ อย่าเคลื่อนเร็วนัก เผชิญกับสิ่งที่ทำให้กลัว" (หน้า 132)
... สำหรับนักบวช เราทบทวนชีวิตของตนเองทุกวันขึ้นและแรมสิบห้าค่ำ ในพิธีที่เรียกว่า โซจอง แนวคิดของพิธีกรรมนี้คือ เพื่อรับรู้ทุกการกระทำที่เรารู้สึกเสียใจในรอบสองสัปดาห์และตลอดชีวิตที่ผ่านมา แล้วเมื่อเราตายก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ ไม่มีสิ่งใดที่เราไม่ได้เผชิญและปล่อยวาง ไม่มีอะไรที่จะรั้งเราไว้ (หน้า 133)
... ความโลภ แต่ตรุงปะ ริมโปเช ใช้คำว่า "จิตใจยากจน" คือรู้สึกขาดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครรักเรา ไม่มีอะไรพอเลย ถูกเขี่ยออกตลอดเวลา ... เดรัจฉานภูมิสัมพันธ์กับกิเลสความไม่รู้ แต่คำ "ความไม่รู้" อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นความโง่ ... "เดรัจฉานภูมิ" คำนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงสัตว์ แต่หมายถึงภาวะจิตใจบางอย่างที่มนุษย์คุ้นเคย ฉันชอบใช้คำว่า "ไม่ใส่ใจ" มากกว่า "ไม่รู้" (หน้า 150)
อสูรก็เช่นเดียวกับเปรต อยากได้ไม่รู้จักพอ ต่างกันเพียงว่าอสูรมีมากอยู่แล้ว แต่แทนที่จะยินดีกับโภคทรัพย์ที่ตนมี กลับอยู่กับการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น อยากเป็นที่หนึ่งและหวาดระแวง (หน้า 152)
... เทวดา ผู้เสวยสุข บริสุทธิ์อย่างไม่ขาดตอน พวกเขามีสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือย มีความสะดวกสบาย มีทรัพย์ มีสุขภาพดี... คนพวกนี้ไม่แค่คิดว่า "ฉันดีที่สุด" พวกเขา 'รู้' ว่าพวกเขา ดีที่สุด กิเลสในภพภูมินี้คือความหยิ่งยโส (หน้า 153)
ภพภูมิทั้งหกในวัฏสงสารเป็นสถานที่จริงหรือเป็นภาวะจิต นี่เป็นคำถามน่าสนใจที่พึงนำมาใคร่ครวญทันที จริงๆแล้วการอยู่ในภาวะจิตกับการอยู่ในสถานที่จริงแตกต่างกันหรือไม่ เช่น การคิดกับการรู้สึกว่าท่านอยู่ในนรก กับการอยู่ในนรก "จริง" มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร อย่างไหนดีกว่ากัน หรือทุกข์ทรมานพอๆกัน (หน้า 156)
... และอีกมากมายที่ทุกข์อย่างแสนสาหัสจนจิตไม่มีที่ว่างพอให้แก่เส้นทางจิตวิญญาณ มีผู้คนนับไม่ถ้วนอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ยากแค้นแสนเข็ญ ไม่มีโอกาสที่จะหันเหความสนใจจากโลกภายนอก เพื่อความเพียรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน (หน้า 161)
พร้อมๆกันนั้น เราอาจจดจำคำสอนเกี่ยวกับความจริงสองอย่าง ความจริงระดับสัมพัทธ์ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง และทุกคนตาย ทุกคนและทุกสิ่งดุจเมฆไร้ความยั่งยืนที่อาจทำให้เราใจสลาย ทว่าในระดับจริงแท้ ไม่มีอะไรตาย ชีวิตแล้วชีวิตเล่า ร่างกายเรามาแล้วไป แต่ธรรมชาติเดิมแท้ของเรายังเหมือนเดิม ไพศาลดุจฟากฟ้า : ไพศาล ไร้การสิ้นสลาย อุดมด้วยศักยภาพให้ชีวิตได้สำแดง (หน้า 171-172)
... ปัจจัยสำคัญที่สุดในการเตรียมรับความตาย คือระลึกไว้เสมอว่า เราอยู่อย่างไร เราตายอย่างนั้น ถ้าเราฝึกโอบรับความไม่เที่ยง ทำงานกับกิเลสของเรา ฝึกรู้ธรรมชาติดุจฟากฟ้าของจิต และเปิดกว้างแก่ประสบการณ์ชีวิตให้มากที่สุด ก็เท่ากับเรากำลังเรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรและตายอย่างไร ถ้าเราพัฒนาอารมณ์แรงกล้าอยากเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและจิตเรา ที่เคว้งคว้าง ไม่อาจคาดการณ์ ไม่อาจหยั่งวัด นั่นจะช่วยให้เราเผชิญกับความตายด้วยความอยากรู้มากกว่าความกลัว (หน้า 179-180)
หนังสือ "เราอยู่อย่างไร เราตายอย่างนั้น" How we live is How we die
โดย เปมา โชดรอน
สดใส ขันติวรพงศ์ แปล
โฆษณา