30 มิ.ย. 2023 เวลา 13:00 • หนังสือ

วิธีที่ดีที่สุดในการคุมการใช้เงิน คือการรู้เท่าทันตัวเอง

ในฐานะมนุษย์เงินเดือน (ชนเดือน) ผมเชื่อว่าหลายคนฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับผม พวกเราทำงานหนัก ปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนหางานที่ได้เงินมาก ๆ แล้วก็เจียดเวลาพักผ่อนมาหารายได้เสริม
จนถึงจุดนึงที่ความเหนื่อยล้าเข้ารบกวนจิตใจ แล้วก็ตัดสินใจให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อของกินของใช้ราคาแพง รู้ตัวอีกทีเงินที่อุตส่าห์ส่าหามาอย่างยากลำบากก็หมดพอดีสิ้นเดือน แล้วก็เข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้ง
หากใครเป็นเช่นนี้ หนังสือที่ผมเชื่อว่าจะเปลี่ยนชีวิตใครหลาย ๆ คนได้เลยก็คือ “Spenditude” หรือ “ชีวิตดีดั่งใจแค่ปรับระบบใช้จ่ายเงิน”
หนังสือเล่มนี้ให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการใช้เงินครอบคลุมแทบทุกมิติ โดยนำเสนอผ่านคน 3 ประเภท คือ
1. คนใช้เงินเก่ง - คนประเภทนี้มักมีความสุขอยู่เสมอ แต่ไม่สนใจว่าเงินที่ใช้ซื้อความสุขนั้นมาจากไหน และจะส่งผลยังไงต่ออนาคต แค่สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีไปเรื่อย ๆ
2. คนใช้เงินยาก - เป็นคนที่ไม่พอใจในชีวิตของตัวเอง บางทีพวกเขาอาจประหยัดค่าสินค้าได้ 30-40 บาท แต่กลับไปกินมื้อดึกให้รางวัลตัวเองมื้อละพัน แล้วก็วนกลับมาวิตกว่าเงินฉันหายไปไหนหมด
3. คนใช้เงินเป็น - คือคนที่รู้ตัวว่าตัวเองให้ความสำคัญกับอะไร และใช้เงินอย่างมีสติ เวลาซื้อสินค้าอะไรก็จะมองเรื่องคุณค่าของสินค้านั้นเป็นหลัก เช่น “เราจำเป็นต้องได้ของชิ้นนี้เดี๋ยวนี้ไหม?” ส่วนใหญ่ไม่หรอกครับ
แล้วสิ่งที่กำหนดให้แต่ละคนเป็นคนแบบไหนนั้นก็มาจากหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดู การนอนหลับไม่เพียงพอจนขาดการยับยั้งชั่งใจ รวมถึงการตลาดที่บอกเราว่าการซื้อของจะนำมาซึ่งความสุข คนใช้เงินเก่งและคนใช้เงินยากมักติดกับ และเสียดายที่ซื้อของชิ้นนั้นมาอยู่เสมอ
ในหนังสือมีคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมสำหรับคนแต่ละแบบให้หลายอย่างเลยครับ แต่หนึ่งในวิธีที่ผมชอบมากที่สุด เพราะสามารถใช้ได้กับทั้งคนใช้เงินเก่งและคนใช้เงินยากก็คือ “วางแผนเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยน” ครับ
เพราะหลายคนชอบหักดิบเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปเลยทีเดียว จากเดิมดื่มกาแฟแก้วละ 150 ทุกวัน กลายเป็นเลิกดื่มไปเลย แบบนี้มักจะทำได้ไม่นานครับ
แต่คุณอาจเริ่มจากการเขียนเป้าหมายใหญ่ ๆ แล้วแตกเป็นเป้าเล็ก ๆ จากนั้นค่อย ๆ ทำตามเป้าเล็กไปเรื่อย ๆ ในหนังสือแนะนำว่าคนใช้เงินเป็นมักจะแยกรายจ่ายเป็น 3 ก้อน คือ
1. สิ่งที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม
2. สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ภาษี หนี้สิน ค่าน้ำค่าไฟ
3. สิ่งที่รัก เช่น งานอดิเรก การซื้อประสบการณ์
ส่วนที่เราควรจะไปควบคุมคือสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ที่เราซื้อ ให้ลองถามตัวเองว่าคุณค่าของสินค้าชิ้นนี้คืออะไร มีอย่างอื่นที่เหมาะกว่านี้ไหม และที่สำคัญคือยังไม่ต้องซื้อของชิ้นนี้ได้ไหม?
ส่วนสิ่งที่รักนั้นเป็นอีกประเด็นนึง การมีเงินไว้หาความสุขเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่สามารถใช้เงินทำในสิ่งที่รัก แล้วเราจะมีเงินไปเพื่ออะไร?
จริง ๆ ยังมีวิธีอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ถึงตรงนี้ผมว่าผมสามารถต่อยอดออกมาเป็นข้อคิดได้ว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการคุมการใช้เงิน คือการรู้เท่าทันตัวเอง” ครับ
ถ้าสังเกตสิ่งที่ผู้เขียนพยายามพูดกับเรามันคือการรู้เท่าทันตัวเอง ทั้งรู้นิสัยการใช้เงิน ที่มาของนิสัยนั้น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เป็นต้น
หลายครั้งที่เราใช้จ่ายเกินตัว อาจเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เป้าหมายในชีวิตคืออะไร เราอยากมีอนาคตแบบไหน เพราะงั้นเวลามีการตลาดมากระตุ้น ก็ทำให้เราไหลตามน้ำจนซื้อของไปในที่สุด
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรารู้เท่าทันตัวเอง รู้ว่าการตัดสินใจซื้อครั้งนี้ไม่ได้นำพาเราไปสู่สิ่งที่เราต้องการ มันอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราปรับพฤติกรรมการใช้เงินได้ครับ
ชื่อหนังสือ: #Spenditude #ชีวิตดีดั่งใจแค่ปรับระบบใช้จ่ายเงิน
ชื่อสำนักพิมพ์: ลีฟ ริช
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา