17 มิ.ย. 2023 เวลา 12:10

พาส่อง “ตลาดศิลปะ” ในยุคทองของชาวดัตช์

ในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าเราเลื่อนหาที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯผ่านสื่อสังคมออนไลน์แล้ว บ่อยครั้งที่เรามักจะเจอกับการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวประเภทหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ หมุนเวียนไปเรื่อย
เป็นที่น่าสังเกตว่า “โลกของศิลปะ” นั้นได้เข้ามามีบทบาทต่อผู้คนในสังคมกรุงเทพฯ อยู่มาก
ถึงแม้ศิลปะจะเข้ามามีบทบาทต่อผู้คน แต่ในแง่มุมของเศรษฐกิจนั้น จะเห็นว่าตลาดศิลปะในไทยนั้นกำลังเติบโตอยู่ทีละน้อย เราสามารถพบเห็นถึงการขยายตัวและการเข้าถึงผู้ชมของศิลปะที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งหอศิลป์น้อยใหญ่ที่เริ่มผุดขึ้นมา รวมไปถึงการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องของการอุดหนุนหรือสร้างรายได้ให้แก่ตัวศิลปิน รวมไปถึงการเผยแพร่งานและสินค้าทางด้านศิลปะ
1
การค่อย ๆ เติบโตของตลาดศิลปะในไทย นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งในแง่เศรษฐกิจและศิลปะ คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งหากตลาดศิลปะไทยอาจจะสามารถเติบโตได้เท่ากับ “ตลาดศิลปะในยุคทองดัตช์”
ช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของเศรษฐกิจกับศิลปะเลยทีเดียว ในวันนี้ Bnomics จะมาชวนทุกท่านย้อนรอยไปดูจุดสูงสุดของ “ตลาดศิลปะ” ที่เฟื่องฟูที่สุดในยุโรปศตวรรษที่ 17 กันครับ
📌ยุคเฟื่องฟูของศิลปะในดัตช์
“สาธารณรัฐดัตช์” นับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจสมัยใหม่ทว่าในช่วงแรกการส่งออกสินค้าประเภทงานศิลปะนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจำนวนฐานการผลิตรวมไปถึงจำนวนศิลปินในประเทศ งานศิลปะเป็นกิจการที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำช่วงศตวรรษที่ 15 - 16
โดยส่วนมากมักพบอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐ คือ ภูมิภาคบราแบนท์ (Brabant) และภูมิภาคแฟลนเดอร์ (Flanders) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียมเสียส่วนใหญ่และอยู่นอกสาธารณรัฐดัตช์ในขณะนั้น (กล่าวคือยังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน) งานศิลปะในแถบภูมิภาคที่กล่าวไปข้างต้นค่อนข้างเป็นงานศิลปะที่โด่งดังและมีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้อาชีพศิลปินมีหน้ามีตาในสังคม
ตลาดภาพเขียนจึงเกิดขึ้นในช่วงนั้นโดยมีตั้งแต่ภาพเฟรสโกขนาดใหญ่บนผนังโบสถ์เป็นจนถึงภาพขนาดเล็กสำหรับแขวนไว้ที่ฝาผนังบ้าน มีตั้งแต่ฝีมือระดับโลกไปจนถึงฝีมือแบบบ้าน ๆ ช่างในแฟลนเดอร์กับบราแบนท์ส่วนใหญ่มักจะใช้รูปแบบภาพเดิม ๆ ซ้ำไปมาเพื่อลดเวลาในการผลิตทำให้สามารถผลิตภาพออกมาได้เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะได้ส่งออกไปขายยังต่างแดน
ในขณะเดียวกัน ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐดัตช์กลับเงียบเหงา ภาพเขียนมักถูกผลิตขึ้นในเมืองอย่างอูเทร็คท์ หรืออัมสเตอร์ดัม ซึ่งฝีมือช่างและปริมาณการผลิตนั้นน้อยกว่าทางตอนใต้อย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดีจำนวนการผลิตในทางตอนเหนือก็มีมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ว่ากันว่าปริมาณศิลปินในสาธารณรัฐดัตช์ก้าวกระโดดขึ้นมาโดยมีจำนวนศิลปินมากขึ้นถึง 4 เท่าภายในเวลา 2 ทศวรรษ และสูงขึ้นอีกสองเท่าในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา
จากการวิจัยพบว่ามีจำนวนภาพเขียนในสาธารณรัฐดัตช์มากถึง 5-10 ล้านภาพในช่วงศตวรรษที่ 17-18 แม้แต่ชาวนาในชนบทเองก็ยังมีภาพเขียนติดบ้านไม่น้อยกว่า 5 ภาพด้วยกัน
ดังที่จะเห็นในภาพของคอลเนลิส บิสชอป (Cornelis Bisschop) (ภาพที่ 2) ที่แสดงภาพของสุภาพสตรีท่านหนึ่งกำลังปอกแอปเปิ้ลอยู่ในบ้านโดยในฉากหลังของภาพเต็มจะเห็นว่ามีภาพเขียนประดับอยู่ในบ้านมากถึง 3 ภาพด้วยกัน (เหนือประตูบานแรก 1 ภาพ เหนือประตูบานที่ 2 1 ภาพ และ บนฝาผนัง 1 ภาพ) สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมการซื้อภาพเขียนเพื่อประดับบ้านของชาวดัตช์ในช่วงเวลานั้น
📌ผลิตอย่างไรจึงมากมายขนาดนี้
 
ศิลปินชาวดัตช์ในช่วงนั้นมีกำลังผลิตได้ถึง 2 ภาพต่อ 1 สัปดาห์ด้วยกันโดยอ้างอิงจากสัญญาจ้างของ ยาน พอร์เซลลิส (Jan Porcellis) ในปี 1615 ซึ่งสาเหตุที่สามารถผลิตได้เยอะขนาดนี้เป็นเพราะศิลปินเรียนรู้ที่จะคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อที่จะได้ผลิตภาพวาดขึ้นมาเยอะ ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ยาน ฟาน โกเยน (Jan van Goyen) ที่ได้จำกัดจำนวนสีที่ใช้ ทำให้เกิดภาพแบบเอกรงค์ (Monochrome) เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างลักษณะธีมภาพเขียนแบบใหม่เช่น ภาพวิถีชีวิต (genre) ซึ่งใช้เวลาในการวาดน้อยกว่าภาพในธีมใหญ่ ๆ อื่น ๆ
📌ธีมงานศิลปะในยุคทองของดัตช์
1
ช่วงยุคทองของดัตช์อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคของความเสื่อมถอยทางศิลปะก็อาจจะได้ ตามระบบชนชั้นของธีมงานจิตรกรรม (Hierarchy of genre) นั้น ธีมงานที่อยู่บนจุดสูงสุดอย่างธีมประวัติศาสตร์ (Historical) ได้ถูกลดทอนความสำคัญลง ไปอย่างเห็นได้ชัด
ธีมงานอันเป็นที่นิยมในช่วงยุคทองของดัตช์เป็นภาพในธีมทิวทัศน์ (Landscape) เสียส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่จำเป็นต้องสั่งจ้างวาด ใช้เวลาผลิตน้อยและขายออกง่าย ทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็สามารถจับต้องได้เพราะภาพทิวทัศน์เป็นรูปแบบภาพที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง
ในขณะเดียวกันก็เกิดประเภทของภาพในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกยกตัวอย่างเช่น ภาพในธีมของทิวทัศน์ทะเล (Seascape) ซึ่งถูกคิดค้นโดยยาน พอร์เซลลิส เป็นต้น
เทคนิคและวิธีการของศิลปินที่พยายามจะผลิตภาพให้ได้อย่างรวดเร็วเช่นในภาพเอกรงค์ของฟาน โกเยนนั้นเป็นอีกหนึ่งความเสื่อมของงานศิลปะ สีสันต่าง ๆ ที่เคยมีมาในยุคก่อนหน้าก็กลับหายไปเสียสิ้น ซึ่งได้ลดทอนความงามแบบอุดมคติลงไป
แต่ในขณะเดียวกันก็มีศิลปินหลายท่านในแถบตอนใต้ที่พยายามหยิบยกเอารูปแบบทางศิลปะจากฝั่งอิตาลีซึ่งดูงามกว่ามาใช้ แต่ก็ไม่ได้ติดตลาดเท่ากับเทคนิควาดให้เสร็จโดยเร็วของฟาน โกเยน
นอกเหนือจากกลุ่มแถบตอนใต้แล้ว ย้อนขึ้นมาทางตอนเหนืออย่างในเมืองอูเทร็คซ์ ก็ได้เกิดการนำเอารูปลักษณ์ของศิลปะตามอย่างศิลปินชื่อดังในช่วงต้นกระแสนิยมบาโรกชาวอิตาเลียนอย่าง “คาราวัจโจ” (Carravaggio) ที่นิยมเล่นแสงกับเงามาปรับใช้กับงานของตน
ภาพวาดรูปแบบดัตช์คาราวัจโจนี้ครองตลาดอยู่เป็นระยะเวลาราว 2 ทศวรรษเลยทีเดียว โดยศิลปินชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงและได้รับอิทธิพลมาจากคาราวัจโจ ได้แก่ เรมบรันต์ ฟาน ไรจ์น (Rembrandt van Rijn) รวมไปถึงโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปินที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของศิลปะดัตช์เลยก็ว่าได้
📌การขยายตัวของตลาดศิลปะ
ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อตลาดของสาธารณรัฐดัตช์เห็นทีจะหนีไม่พ้นกลุ่มองค์กรที่เรียกกันว่า “กิลด์” ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับสมาคมตั้งอยู่ตามเมืองต่าง ๆ กิลด์ของศิลปินชาวดัตช์ มักจะมีชื่อว่า “กิลด์เซนต์ลุค” โดยตั้งชื่อตามนักบุญลุค ผู้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเหล่าศิลปินทั้งหลาย
บุคลากรในกิลด์เซนต์ลุคประกอบไปด้วยศิลปินที่มีความถนัดในธีมภาพต่าง ๆ โดยกิลด์จะมีส่วนในการช่วยปกป้องรายได้ศิลปินและคอยป้องกันการแทรกซึมทางการตลาดจากศิลปินภายนอกสาธารณรัฐที่จะมาแย่งฐานลูกค้าภายใน
ในขณะเดียวกันการรวมกลุ่มตั้งกิลด์นี้ก็นำมาซึ่งอาชีพใหม่ในเศรษฐกิจ นั่นคือ อาชีพนายหน้าค้างานศิลปะซึ่งจะมาเป็นตัวกลางในการช่วยผู้บริโภคเลือกสรรสินค้าที่น่าจะถูกใจผู้บริโภคเป็นที่สุด อีกทั้งยังเป็นฝ่ายที่ต้องเดินทางไปเสาะหาช่างที่ดีจากเมืองต่าง ๆ หรือตามกิลด์ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและประหยัดเงินของตัวผู้บริโภคด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดศิลปะขยายตัวนั้นก็คือ เปลี่ยนผ่านของกลุ่มลูกค้า จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเดิมซึ่งได้แก่ ราชสำนัก ขุนนาง และโบสถ์ ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นลูกค้ากลุ่มพ่อค้าวาณิช
การเปลี่ยนผ่านของกลุ่มลูกค้านี้เองเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากสงครามแปดสิบปี หรือการลุกฮือของดัตช์ (Dutch Revolt) นิกายคาทอลิกเดิมถูกแทนที่ด้วยนิกายกัลแวงและราชสำนักออเรนจ์เริ่มประสบปัญหาท้องพระคลังร่อยหรอ การเข้ามาของกลุ่มลูกค้าใหม่นั้นมีกำลังทรัพย์อีกทั้งยังมีจำนวนผู้บริโภคมากทำให้ผลงานศิลปะขายได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง อีกทั้งลูกค้ากลุ่มใหม่นี้เองยังได้นำสินค้าไปเผยแพร่ที่อื่น ๆ ด้วย
📌 จุดจบของยุคทอง
 
ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจะเป็นผลดีต่อศิลปิน แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในท้ายที่สุดยุคทองของดัตช์ก็สิ้นสุดลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 หลังจากการทำสงครามถึง 2 ครั้งในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก (คือสงครามแปดสิบปี และสงครามฝรั่งเศสฮอลันดา) ทำให้เศรษฐกิจของดัตช์อยู่ในช่วงขาลงและสูญเสียยุคทองไป
ในขณะเดียวกันตลาดศิลปะของดัตช์เองก็เริ่มซบเซาลงอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อของผู้คนในประเทศลดน้อยลง และตลาดศิลปะก็กระจายไปเติบโตในดินแดนอื่นของยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 อย่างในฝรั่งเศสหรือในอิตาลีแทน
Reference:
Ormrod, David. “Art and Its Markets.” The Economic History Review 52, no. 3 (1999): 544–51. http://www.jstor.org/stable/2599144.
Prak, Maarten. “Guilds and the Development of the Art Market during the Dutch Golden Age.” Simiolus: Netherlands Quarterly for the History of Art 30, no. 3/4 (2003): 236–51. https://doi.org/10.2307/3780918.
De Marchi, Neil, and Hans J. Van Miegroet. “Art, Value, and Market Practices in the Netherlands in the Seventeenth Century.” The Art Bulletin 76, no. 3 (1994):451–64. https://doi.org/10.2307/3046038.
Montias, John Michael. “ArtDealers in the Seventeenth-Century Netherlands.” Simiolus: Netherlands Quarterly for the History of Art 18, no. 4 (1988): 244–56. https://doi.org/10.2307/3780702.
Rasterhoff, Claartje. “1610–1650: Unlocking Potential.” In Painting and Publishing as Cultural Industries: The Fabric of Creativity in the Dutch Republic, 1580-1800, 193–214. Amsterdam University Press, 2017. http://www.jstor.org/stable/j.ctv4w3stm.11.
Image credit:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา