19 มิ.ย. 2023 เวลา 03:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Conspiracy Theory VS Slashdot Effect

พอเห็นข่าวตาม : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1074002 ทำให้ผมตกใจมากๆ ว่า มีคนกล่าวหา ก.ล.ต. เชิง Conspiracy Theory ว่า มีส่วนเกี่ยวพันกับเคสของ ITV และพยายามช่วยปิดบังข้อมูล หลังจากที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ล่มไปช่วงหนึ่ง
ปัญหาในลักษณะนี้ ในด้านคนที่ทำงานในวงการไอทีต่างประเทศรู้จักปัญหานี้ในชื่อของ Slashdot Effect ที่เว็บไซต์รายงานข่าวแบบ Crowd Sourcing ที่เคยมีจำนวนผู้ใช้ที่สูงมาก และมีการโต้ตอบกันอย่างเข้มข้น เมื่อไรก็ตามที่มีข้อมูลที่น่าสนใจจนโพสต์ถูกผลักขึ้นมาอยู่ที่หน้า 1 ของ Slashdot จะทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากพยายามเข้าถึงเว็บปลายทาง และทำให้เว็บดังกล่าวมักจะล่มเลยทีเดียว
จริงอยู่ เจ้าของเว็บคงอยากให้มีคนเข้าเว็บของตัวเองมาก ๆ แต่ Slashdot Effect ดังกล่าวสร้างความปวดหัวให้กับทีมไอทีที่ดูแลเว็บอย่างมาก เพราะแทบไม่ต่างกับการถูกโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service)
ซึ่งใช้บอทจำนวนมากในการโจมตี แต่ในเคสนี้เป็นคนจริงๆ ที่เข้ามากดผ่าน link ของสื่อโซเชียลทั้งหลาย ทำให้โหลดของเว็บขึ้นไปหลายร้อยหลายพันเท่าจากวันปกติ ส่งผลทั้ง CPU และ Network Bandwidth ของเครื่อง จนทำให้เว็บไม่สามารถทำงานได้ แถมยังต้องเสียค่า Bandwidth เพิ่ม จนผู้ดูแลบางคนถึงกับต้องปิดเว็บหนีเลยทีเดียว
ในวันดังกล่าว มีผู้คนให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จากต้นทางสื่อโซเชียลเจ้าดังหลาย ๆ เจ้าที่โพสข้อความที่มี link ปลายทางเป็นของ ก.ล.ต. เหมือน ๆ กัน ทำให้เว็บไซต์ของทาง ก.ล.ต. ไม่สามารถรองรับปริมาณการเรียกข้อมูลดังกล่าวได้
การปกป้องเว็บไซต์จากปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวางแผนสถาปัตยกรรมของระบบไว้ล่วงหน้าให้สามารถใช้ Cache และ CDN ในการช่วยรองรับการเรียกข้อมูลดังกล่าวโดยใช้ระบบภายนอกที่มีความยืดหยุ่น และประสิทธิภาพสูงกว่าในการจัดการ
แต่เนื่องจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เป็นเว็บไซต์ที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ปกติไม่ได้มีคนจำนวนมากใช้งานตลอดเวลา จึงอาจจะไม่ได้วางแผนสถาปัตยกรรมของระบบเอาไว้ตั้งแต่แรก จึงต้องอาศัยการปิดระบบบางส่วน เพื่อให้ระบบสามารถเริ่มกลับมาทำงานได้ รวมไปถึงการแก้ไขระบบบางส่วน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ก่อนที่จะเปิดกลับมาให้ใช้งาน หาใช่เป็นความพยายามในการปิดบังข้อมูลแต่อย่างใด
และสิ่งสุดท้ายที่ควรเรียนรู้กันจาก Slashdot Effect ก็คือปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และสถานการณ์ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เอง หลังจากที่สื่อโซเชียลลดการให้ความสนใจลงครับ
โฆษณา