23 มิ.ย. 2023 เวลา 16:08 • หนังสือ

แ ม ว น้ อ ย อ ย า ก นิ พ พ า น

มีวรรณกรรมมากมายที่มีสัตว์เป็นตัวเอกเรื่องของแมวตัวเมียชื่อ​ "วาสนา" ในหนังสือเรื่อง “แมวน้อยอยากนิพพาน หรือ The Cat Who Went to Heaven” ซึ่งเขียนโดย อิลิซาเบธ โคตส์เวิร์ธ (Elizabeth Coatsworth) นักเขียนชาวอเมริกันเป็นเรื่องหนึ่งที่แอดมินขอแนะนำค่ะ​
.
เจ้าวาสนามีสีขาวแต้มสีเหลืองและสีดำที่ข้างลำตัว​ มีดวงตาโตสีเหลือ มีขนนุ่มๆ และมีหางเล็ก ๆ เหมือนหางกระต่าย มันค่อนข้างเชื่อง นุ่มนวล ไม่ร้องกวนใจเจ้านายให้รำคาญ
.
ศิลปินยากจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นขายภาพเขียนไม่ได้เลยมาเป็นเวลาหลายอาทิตย์ เขาจึงไม่มีเงินติดบ้าน และก็ไม่ได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ ที่ชื่นชอบมานาน เช่น ขนมโมจิ เกี๊ยวซ่า และขนมไส้ถั่วแดง ที่บ้านก็เงียบเหงา เขาไม่กล้าเชื้อเชิญเพื่อนหรือใคร ๆ มานั่งคุย และจิบชาดื่มกันเช่นที่เคยทำเมื่อพอมีรายได้
.
แม่บ้านวัยชราที่ดูแลเขาได้ไปเจอเจ้าวาสนาจึงเอามันกลับมาบ้านเพื่อจะเป็นเพื่อนคลายเหงาให้นายได้บ้าง ทุกวันเขาก็ยังคงวาดภาพเล็ก ๆ ที่งดงามแต่ไม่มีใครซื้อต่อไป ขณะที่เจ้าแมวน้อยก็ทำตัวสงบเสงี่ยมเจียมตัว
.
ชีวิตที่ผ่านไปแต่ละวันอย่างเงียบเหงาของศิลปินกลับเปลี่ยนไปเมื่ออยู่​ ๆ วันหนึ่งเจ้าอาวาสวัดแวะมาเพื่อขอให้เขาเป็นผู้เขียนภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จปรินิพพาน เพื่อนำไปแขวนที่วัดของหมู่บ้าน และยังได้นำเงินงวดแรกมามอบให้เขาด้วย...
.
นอกเหนือจากรูปเทพต่างๆ บนโลก บนสวรรค์ และพระสาวกทั้งหลายแล้ว ศิลปินยังวาดรูปสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติแล้ว หรือไม่ก็เป็นสัตว์ที่เคยดูแลปรนนิบัติพระองค์ในขณะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายบนโลก
.
เขาวาดรูปสัตว์ต่าง ๆ มากมาย แต่เขาไม่ได้นึกจะวาดแมวเพราะตามตำนานของญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าแมวจะเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่มันก็หยิ่งยโสและเอาแต่ใจในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เขาจึงยังไม่ใส่ใจที่จะวาดรูปแมวในภาพเขียน
.
เจ้าวาสนาน้อยใจที่นายไม่วาดรูปแมว แต่มีสัตว์อื่น ๆ มากมาย... แม้แต่เสือที่เป็นสัตว์ดุร้าย นายก็ยังวาดเสือในรูปภาพด้วย
.
.
ศิลปินปวดร้าวใจแต่จะให้เขาทำอย่างไรในเมื่อแมวไม่ใช่สัตว์ในพุทธประวัติ... ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแมวน้อยวาสนาจะลงเอยอย่างไร ต่างฝ่ายจะมีโอกาสเข้าใจความรู้สึกของกันและกันไหม
.
สิ่งที่น่าประทับใจเมื่ออ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จบก็คือ ผู้เขียนเลือกนำเสนอเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าที่ผู้อ่านคนไทยคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดยผสมกับหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายเซ็นเรื่องเมตตาธรรม และความเสียสละที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ในบ้านหลังนี้ โดยเฉพาะการที่เราตัดสินใจทำบางสิ่งเพื่อให้คนที่เรารักมีความสุข แม้การกระทำนั้นอาจจะสวนกระแสหรือขัดแย้งกับความเชื่อของคนในสังคม แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำความเสียหายใด ๆ แก่ใคร เรายังสมควรทำหรือไม่
.
น่าทึ่งที่ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งในยุคสมัยที่เธอแต่งเรื่องนี้ หนังสือหรือแนวคิดทางพุทธศาสนาน่าจะยังไม่เผยแพร่ไปในอเมริกาหรือตะวันออกไกลมากนักสามารถแต่งเรื่องโดยมีพล็อตเรื่องอิงคำสอนทางศาสนาได้อย่างน่าสนใจและลุ่มลึก
.
ผู้เขียนสื่อว่า คนเราควรเปิดใจที่จะเรียนรูู้จักสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีอคติ แล้วเราจะได้สัมผัสกับความรัก ความเมตตา ฯลฯ ที่มีอยู่ทั้งในคนและสัตว์ได้ สิ่งที่เรามองหรือเชื่อกันต่อ ๆ มาว่าเลวร้ายนั้นก็ไม่ใช่ความจริงเสมอไป ถ้าเราเปิดใจมองสิ่งนั้นอย่างที่มันเป็น เช่นที่ศิลปินมองว่า แมวคือปีศาจที่จะนำสิ่งชั่วร้ายมาสู่เขา แต่แม่บ้่านแย้งว่า ".. นายท่าน แมวดี ๆ ก็มีอยู่มากนะคะ!"
.
บางคนอ่านแล้วอาจจะน้ำตาซึมด้วยความอิ่มเอมใจและอยากย้อนไปอ่านใหม่ มีสัญลักษณ์ และมุมมองชีวิตที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ให้เราค้นหาความหมาย เราจะไม่รู้สึกเบื่อเรื่องราวความคิดของที่อิงศาสนาของศิลปินพู่กันนักวาดรูปผู้ยากจน แม่บ้านวัยชรา และแมวน้อยแสนรู้เลย ผู้เขียนยังใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและมีความหมายแทรกปรัชญาการใช้ชีวิต และการสร้างความสัมพันธ์อีกด้วย
.
เรื่อง “แมวน้อยอยากนิพพาน“ เป็นวรรณกรรมยอดนิยมตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และได้รับการแปลไปแล้วมากกว่า ๔๐ ภาษาทั่วโลก ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยสำนักพิมพ์มติชน และได้รับการแปลโดย วิลาวัณย์ ฤดีศานต์ ปกฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งที่ ๖
.
อิลิซาเบธ โคตส์เวิร์ธเกิดในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) ที่รัฐนิวยอร์ก เธอจบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาสซาร์และปริญญาโทสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเมน
.
ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปตะวันออกไกลนานกว่าหนึ่งปี เธอเริ่มงานเขียนในวัยเพียง ๒๑ปี และใช้ชีวิตเป็นนักเขียนมานานร่วม ๕๐ ปี เริ่มจากเขียนบทกวีและเรื่องสั้น ต่อมาก็เขียนวรรณกรรมเยาวชน นิยาย และบทความ
.
โคสต์เวิร์ธมีผลงานมากกว่า ๙๐ เล่ม และก็ได้รับรางวัลงานเขียนดีเด่นมากมาย เช่น รางวัล Newbery Medal จากเรื่อง “แมวน้อยอยากนิพพาน“ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔, รางวัล Children’s Spring Book Festival Honor Award จากเรื่อง The Littlest House (๒๔๘๓) และเรื่อง Under the Green Willow (๒๕๑๔), และรางวัล Hans Christian Andersen Award Highly Commended Author (๒๕๑๑) เป็นต้น เธอเสียชีวิตที่บ้านในรัฐเมนเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี
.
แอดเชื่อว่า “แมวน้อยอยากนิพพาน“ เป็นวรรณกรรมอีกเล่มที่จะติดตรึงใจผู้อ่านทุกวัยไปอย่างยาวนาน ไม่ว่าคุณจะเป็นทาสแมวหรือไม่ใช่ทาสแมวเช่นแอดก็ตามเถอะ หากใครยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้ แอดขอแนะนำค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าวรรณกรรมเรื่องนี้สมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็น "หนึ่งในหนังสือสามสิบเล่มของศตวรรษที่ 20 ที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรอ่าน"
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #แมวน้อยอยากนิพพาน #TheCatWhoWenttoHeaven #ElizabethCoatsworth #อิลิซาเบธโคตส์เวิร์ธ #วรรณกรรมอิงพุทธศาสนา #หลักธรรมคำสอน #นิกายเซ็น #เมตตาธรรม #ชวนกันอ่าน
โฆษณา