25 มิ.ย. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
โนตอดเดน

ธนบัตร 100 บาท, ปุ๋ยเคมี และ รัฐเอกราชนอร์เวย์

ด้านหลังธนบัตร 100 บาท แบบ 17 ที่ออกจำหน่ายจ่ายแจกเมื่อปี ค.ศ.2018 มีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประทับรถยนต์อยู่ทางด้านซ้ายล่าง
ธนบัตร 100 บาท ชุดที่ 17
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จเยือนโรงงานปุ๋ย Norsk Hydro ของ Sam Eyde ที่เมือง Notodden ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี ค.ศ.1907 และทรงเป็นลูกค้าต่างประเทศรายแรกที่ซื้อปุ๋ยแคลเซียมไนเตรตจำนวน 1,000 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการเกษตร
รัชกาลที่ 5 เสด็จเยี่ยมโรงงาน Norsk Hydro ของแซม ไอด์
โดยในปัจจุบัน Norsk Hydro ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับปุ๋ยในชื่อของ “ยารา” หรือเป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรในชื่อของ “ปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้ง”
ปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้ง
เหตุการณ์รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนโรงงานปุ๋ยที่เมืองโนโทดเดน ได้รับการบันทึกในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” อยู่ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 31 ลงวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1907 มีใจความดังนี้
“ที่ตำบลโนโตดเดนนี้ มีกัมปนีใหญ่ตั้งทำการอยู่นั่นนอร์สก ฮีโดร เอเลกตริกส เควสตอบอักตี เซลสคาบ แปลว่า นอร์วิเยียนไฮโดร เอเลกตริก ไนโตรเยน กัมปนี ลิมีติด ชื่อมันแปลกเช่นนี้ เพราะเหตุที่เขาทำการแปลก คือจับธาตุไนตริกจากลมในอากาศด้วยแรงไฟฟ้า มาใช้เปนประโยชน์ดังจะกล่าวต่อไปข้างน่า
ที่เป็นไดเรกเตอของกัมปนีนี้ ชื่อ เอส, ไอเด ลงเรือมารับ เหตุด้วยกัมปนีนี้ พระยาชลยุทธมีหุ้นส่วนอยู่ในกัมปนีนี้ด้วย จึงได้บอกข่าวคราวมาถึง เขาจึงอยากให้พ่อได้เห็นงานที่ทำ ซึ่งตั้งแต่พ่อได้ยินข่าวก็อยากดูเปนกำลังอยู่แล้ว มิสเตอลอเรนต์เซนกงสุลเยเนอราลของเราที่คริสเตียเนียก็มีหุ้นส่วนอยู่ในนี้ จึงลงมารับด้วยกัน ตั้งแต่พ่อแรกเข้าโนโตดเดนได้นั่งอธิบายเรื่องราวกันมาตลอดทาง มีแบบอย่างแลรูปมาให้ดูด้วย ถ้าไม่ได้สาธยายกันเสียก่อนเห็นจะยากที่จะเข้าใจได้ มันคล้ายๆกันกับโทรไม่มีสาย
นายแซม ไอด์ (1866-1940) วิศวกรชาวนอร์เวย์ ผู้ก่อตั้ง Norsk Hydro
พระยาชลยุทธ์โยธิน (อันเดร ดู เปลซิส เดอ ริเชอลิว) (1852-1932) นายทหารชาวเดนมาร์ก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
เดิมมิสเตอไอเดไปเห็นเขาทำที่อเมริกา เครื่องที่จะใช้กำลังไฟฟ้า เห็นว่าจะใช้การได้สำหรับเมืองนอรเว แ่แรงไฟฟ้าอย่างอเมริกันยังอ่อนไป เขาจึงได้คิดทำขึ้นอย่างใหม่ การที่จะเล่าด้วยเรื่องเครื่องมือสำหรับให้แรงนี้ จะเขียนลงไปเปนหนังสือยากที่จะเข้าใจ นอกจากที่จะเขียนเปนรูปแบบ รูปแบบทั้งปวงนี้เขาได้พิมพ์ขึ้นไว้เป็นสมุดมีแล้ว ได้จดคำอธิบายลงไว้แล้ว
รวมใจความว่าอย่างอเมริกันใช้ไฟฟ้าตัวผู้ตัวเมียหมุนให้มากระทบกันเป็นประกายแรงไม่พอ เขาจึงได้มาปฤกษากับมิสเตอร์เบียร์เคแลนด์ คิดขึ้นใหม่ เอาแม่เหล็กเข้าไปรับไว้กลางไฟฟ้าตัวผู้ตัวเมียที่จะมากระทบกัน ด้วยแรงกระทบนั้นจึงทำให้เปลวเวียนรอบ ไอร้อนแรงขึ้นในหม้อไฟฟ้านั้น มีแรงร้อนได้ถึง 2500 ดีกรีเซนติเกรด คิดเป็นฟาเรนไฮต์ 4532 ดีกรี
คริสเตียน เบียร์เคแลนด์ (1867-1917) นักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์
มีศิลาเจาะปรุบังอยู่สองข้าง ก่ออิฐเปนช่องให้ลมเดิน เมื่อลมเข้าไปในท่อนั้น แล้วไปผ่านไฟฟ้า ในลมมีธาตุออกซิเยนแลไนโตรเยน มีท่อให้แคสนั้นมาขังอยู่ในหม้อเหล็กประมาณสักห้านาทีแล้วจึงปล่อยแคสนั้นลงมาในปล่อง ที่ก่อด้วยศิลาแผ่นใหญ่หนา กว้างประมาณ 8 ศอก สูง 7 วา 8 วา ในปล่องนั้นบรรจุศิลาที่เรียกว่าควอร์ตล์ คือหินฟันม้าอย่างแบนลงไว้เต็มทั้งปล่อง
ปล่องนี้มีหลายปล่องตั้งเรียงๆกันไป เปิดแคสให้มากระทบกับท่อน้ำ ซึ่งมาอิกทางหนึ่ง ตกลงไปในปล่อง ที่เอาศิลาใส่ไว้ในปล่องนั้น เพื่อจะให้แคสแลน้ำต้องเดินคดไปคดมาให้มาก เมื่อเต็มปล่องแล้วสูบลงปล่องอื่นจนถึงปล่องที่สุด ตั้งแต่น้ำกระทบกับแคสเข้าก็กลายเป็นไนตริกแอซิด เมื่อเปลี่ยนไปจนถึงปล่องที่สุดก็เป็นอย่างแรงกว่าข้างต้น
ได้ไนตริกแอซิดเช่นนี้แล้ว เวลานี้เขาใช้ไปทำการได้สามอย่าง
1.ไขน้ำนั้นลงไปในอ่างศิลาทั้งแท่ง ซึ่งบรรจุศิลาปูนลงไว้ในนั้น ศิลาปูนนั้นละลาย เหตุด้วยแคสนั่นร้อน เมื่อเวลาออกจากเตาที่เผาถึง 700 ดีกรีเซนติเกรด เปน 1292 ดีกรีฟาเรนไฮต์ กลายเปนคันเซียมไนเตรต แล้วจึงไขปูนนั้นเข้าไปในหม้อให้แห้ง ตกออกมาเปนปูนหยาบหยาบสีนวน ปูนนี้ใช้เปนปุ๋ย สำหรับโรยในพื้นแผ่นดินปลูกพืชพรรณค่างๆงาม เหมือนอย่างกับดินประสิวที่เกิดเองโดยธรรมดาที่เมืองชีลี
แต่เพราะเหตุที่ใช้แรงน้ำ แลใช้ไฟแรง แต่ไม่ต้องมีคนรักษาพยาบาลไฟฟ้าเหมือนอย่างอเมริกา ด้วยไฟนั้นตั้งคงที่ไม่ได้หมุน จึงไม่ใคร่เสีย ด้วยเหตุที่ทำการได้ถูกเช่นนี้ เปนต้น ราคาจึงได้น้อยกว่าดินประสิวที่เกิดเองโดยธรรมดาที่เมืองชีลีที่ขายอยู่ในเวลานี้ ราคาตันหนึ่ง 170 โครน ราว 140 บาท ฤๅกิโลแกรมละ 17 เออร์ (หน่วยเงินย่อยของโครน 100 ออร์ = 1 โครน ปัจจุบันนอร์เวย์ยกเลิกหน่วยออร์ตั้งแต่ปี 2012) ราว 14 สตางค์ ปุ๋ยดินประสิวที่ชีลีราคากิโลแกรมละ 20 เออร์ ราว 16 สตางค์ครึ่ง
2. ผสมกับโซดา ใช้สำหรับใช้ทำสีต่างๆ
3. ผสมกับกลิสรินแลเยเลติน ทำให้เหนียวแลแขงเปนแผ่น สำหรับทำดินปืนไม่มีควัน
แต่ทั้งสองอย่างหลังนี้ยังไม่ได้ออกจำหน่าย เมื่อจับตัวไนตริกแอซิดได้เช่นนี้แล้ว ยังอาจจะนำไปทำการอื่นๆได้อิกหลายอย่าง”
เหตุผลที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนโรงงานปุ๋ย นอกจากจะมีพระยาชลยุทธ์โยธินเป็นหุ้นส่วนแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง นอร์เวย์เพิ่งประกาศตนเป็นอิสรภาพจากสวีเดนในปี ค.ศ.1905 และต้องพัฒนาประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพื่อทัดเทียมอารยประเทศในทวีปยุโรปอย่างก้าวกระโดด
โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และพระองค์ต้องการใช้นอร์เวย์เป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ โดยเริ่มจากศึกษาการผลิตปุ๋ย เพื่อยกระดับการเกษตรของไทย จากที่พึ่งธรรมชาติและอินทรียวัตถุ ให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมลำดับต้นๆของเอเชีย ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ที่มา
-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 29-31 เล่มที่ 7. 2515. หน้า 111-113.
-EP.04 เบื้องหลังภาพถ่ายร.5 ที่นอร์เวย์ซึ่งยังอยู่ในแบงก์ร้อยไทย | One Week in Norway
-๑๐๐ ปี ไกลบ้าน ตอนที่ ๓๖ : เสด็จประพาสนอร์เวย์ (รูกัน-โนโตดเดน)
โฆษณา