28 มิ.ย. 2023 เวลา 04:28 • สุขภาพ

รู้จักโรคซึมเศร้า มีกี่แบบ ลักษณะอย่างไร?

ทุกวันนี้คำว่า "โรคซึมเศร้า" ไม่ใช่คำใหม่แล้วในสังคมไทย คำว่าโรคซึมเศร้าถูกพูดถึงในสื่อต่างๆอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่าเศร้าที่ในบางบริบทโรคซึมเศร้าถูกมองเป็นสัญญะของการเรียกร้องความสนใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสองสิ่งนี้แตกต่างกันมากๆ
ผมเองแม้จะไม่เคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างจริงจัง แต่ช่วงหนึ่งของชีวิตก็เคยตกอยู่ในภาวะตกต่ำจนเข้าใจความรู้สึและอาการของโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง โชคดีที่ได้คนรอบข้างช่วยเอาไว้ในวันที่อ่อนแอ ทำให้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆมาได้
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ทั้งต่อตัวโรค และคนรอบข้างคุณที่อาจประสบกับโรคซึมเศร้าอยู่ จะมีอะไรกันบ้าง เรามาทำความรู้จักไปพร้อมๆกันเลยครับ
1. โรคซึมเศร้าหลัก (Major Depression)
เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด อาการซึมเศร้าซึ่งมีตั้งแต่อาการระดับน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเศร้ามาก รู้สึกหมดหวัง และขาดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ขาดความกระตือรือร้น นอนมาก หรือ นอนน้อยกว่าปกติ มีความรู้สึกผิด และอาจมีอาการรุนแรงมากจนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
2. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ (bipolar disorder)
ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร
ส่วนช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ มักอาการที่จะรู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมากกว่าคนอื่น นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด การตัดสินใจเสีย เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย เป็นต้น
3. อาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder – PMDD)
อาการซึมเศร้าในช่วงการมีรอบเดือนของผู้หญิงนั้น เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากถึง 50% โดยส่งผลให้มีความวิตกกังวล อารมณ์ขึ้นลงง่าย อย่างไรก็ตาม มีเพียง 5% ที่อาการรุนแรงจนถึงขั้นเรียกว่าโรคซึมเศร้า ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
โดยอาการทั่วไปที่มักพบคือ อารมณ์แกว่ง
อ่อนไหวง่าย วิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ความอยากอาหาเปลี่ยนแปลง
(มากขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ) การนอนผิดปกติไปจากเดิมและมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย
4. ภาวะซึมเศร้าเนื่องจากสถานการณ์ร้ายแรงเป็นตัวกระตุ้น (Situational depression)
เกิดจากการเจอกับปัญหาและอุปสรรคในชีวิต แล้วปรับตัวไม่ทัน หรือผ่านมันไปไม่ได้ เช่น การเสียชีวิตของคนใกล้ชิด ตกงาน ซึ่งระยะเวลาของภาวะนี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะหนึ่ง อาจเป็นเดือนหรือหลายเดือน และจะค่อยๆหายไป แต่หากภาวะซึมเศร้าเนื่องจากสถานการณ์รุนแรงนี้ ไม่ได้รับการรักษาเยียวยารักษาอย่างถูกต้อง หรือมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ก็อาจทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าหลักได้
โดยอาการที่มักพบคือ มีอาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการ ปวดหัว ปวดท้อง หัวใจเต้นแรง ร้องไห้บ่อย ใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดเพื่อหลีกหนีหรือลดความเจ็บปวดทางใจที่เกิดขึ้น ไม่อยากไปโรงเรียน หรือ คนทำงานก็มักจะลาป่วยบ่อยๆ
5. โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง (Dysthymia)
มีความใกล้เคียงกับภาวะซึมเศร้าหลัก โดยผู้ป่วยมักประสบภาวะมีความสุขได้ยาก มีความรู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ยังพอฝืนไปทำงาน ไปเรียนได้ ใช้ชีวิตปกติได้ แค่มีความรู้สึกที่ไม่ดีเกาะกินหัวใจอยู่ไม่หลุดสักที โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง สลัดความรู้สึกแย่ออกไปไม่ได้และมักถูกคนอื่นมองว่าเรามองโลกในแง่ร้ายหรือขี้บ่น เป็นต้น
6. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดกับคุณแม่หลายคนในช่วงเดือนแรกๆ ของการคลอดลูก ซึ่งเกิดจากภาวะฮอร์โมนของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเครียด วิตกกังวล มีความเหงาและเศร้าปะปนกัน ประกอบกับความกังวลต่อลูกเล็ก
โดยอาการที่มักเกิดขึ้นคืออารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ และมีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
นอกจากนี้ยังมีภาวะซึมเศร้าแบบอื่นๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ( Seasonal Affective Disorder ; S.A.D) โรคซึมเศร้าที่สัมพันธ์กับภาวะจิตเภท โรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ (Atypical Depression) ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้สามารถรักษาเยี่ยวยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
การรักษาโรคซึมเศร้า ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือต้องอาศัยบุคคลรอบข้างหรือคนในครอบครัวร่วมเป็นแรงผลักดันและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น โดยสามารถพูดคุยหรือขอคำปรึกษากับแพทย์ได้ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด ร่วมกับการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด คลายกังวล เพื่อช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
หากใครสงสัยว่าตนเองเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ลองเข้าไปทำแบบทดสอบของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามลิงค์ด้านล่างนี้
โฆษณา