28 มิ.ย. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ความรู้สุขภาพจะน่าสนใจขึ้น ถ้ามันดูใกล้ตัวเรา

“You Are What You Eat” หรือ “กินแบบไหนก็เป็นแบบนั้น” ยังคงเป็นประโยคที่ช่วยเตือนใจใครหลายคนได้เสมอว่าก่อนจะหยิบอะไรเข้าปาก ลองคำนึงถึงผลลัพธ์ของมันสักนิดนึง
แม้ปัจจุบันคนจะหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและการกินมากขึ้น แต่ปัญหาคือการกินแบบไหนกันล่ะที่ดีจริง ๆ และการกินแบบไหนที่เราแค่ “คิดว่ามันดี” แต่แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ดีก็ได้ ผมได้คำตอบของคำถามนี้จากหนังสือ “เล่าเรื่องโปรตีน กินแบบนี้สุขภาพดีแน่” ครับ
หนังสือเล่มนี้พูดถึงแง่มุมต่าง ๆ ของการบริโภคโปรตีน ทั้งความสำคัญ ข้อดี ข้อเสีย และความเข้าใจผิดที่เรามีต่อโปรตีน แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดก็คือผลกระทบของโปรตีนที่มีต่อการลดน้ำหนักครับ
หลายคนมักคิดว่าการลดน้ำหนัก ต้องอดมื้อเย็น แล้วก็กินอาหารแต่ละมื้อน้อยมาก แถมอาหารที่กินก็ยังต้องเป็นผัก ไม่ใช่เนื้อ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป
จริง ๆ แล้วการบริโภคโปรตีนอย่างเพียงพอต่างหาก ที่เป็นกุญแจสำคัญของการลดน้ำหนักครับ เพราะโปรตีนมีส่วนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อก็มีหน้าที่เผาผลาญพลังงานเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
หากเรางดบริโภคโปรตีน หรือบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะสลายกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทน พอกล้ามเนื้อลดลง การเผาผลาญก็ลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ เวลาที่เรากลับมากินเยอะขึ้นหรือกินแล้วใช้พลังงานไม่หมด สิ่งที่จะเอากลับไปทดแทนแทนกล้ามเนื้อที่สลายไปก็คือ “ไขมัน” ครับ นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนเกิด Yo-Yo Effect หรือน้ำหนักกลับมาเยอะกว่าเดิม
หรือบางคนที่แม้จะน้ำหนักไม่เยอะ ก็อาจจะรู้สึกว่าหุ่นไม่เฟิร์ม แขน ขา หน้าท้องมันย้วยแปลก ๆ เพราะสิ่งที่ไปสะสมอยู่คือไขมัน ไม่ใช่กล้ามเนื้อ
ดังนั้นการลดน้ำหนักที่เหมาะสมจึงเป็นการ “ลดไขมัน ไม่ใช่งดโปรตีน” จากเดิมที่มื้อเช้าเราอาจกินขนมปังกับเบคอน ไส้กรอก หรือหมูปิ้งติดมัน ก็อาจลองเปลี่ยนเป็นโปรตีนแทน เช่น ไข่ไก่ เนื้อปลา อกไก่ โยเกิร์ต
รวมถึงมื้ออื่น ๆ ก็พยายามให้มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ ผสมกับพืชผักในอัตราส่วน 1:1 เพราะโปรตีนจากสัตว์มักมีไขมันที่ย่อยและดูดซึมยาก การรับโปรตีนจากพืชผักบางชนิด ก็จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น แถมเป็นการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีอีกด้วยครับ
นอกจากคำแนะนำดี ๆ ในหนังสือแล้ว ผมว่าทั้งคำอธิบายและการยกตัวอย่างของผู้เขียนยังทำให้ผมต่อยอดออกมาเป็นข้อคิดได้อีกครับว่า “ความรู้สุขภาพจะน่าสนใจขึ้น ถ้ามันดูใกล้ตัวเรา”
ในฐานะที่ผมไม่ได้เรียนสายวิทย์ จึงไม่ค่อยคุ้นเคยกับข้อมูลวิทยาศาสตร์เท่าไร และนั่นก็ทำให้ผมมักอ่านความรู้สุขภาพหรือการแพทย์ไม่ค่อยเข้าใจครับ (ผมเชื่อว่าเป็นกันหลายท่าน)
หนึ่งในสาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะ ศัพท์การแพทย์และคำอธิบายต่าง ๆ เหล่านั้นมันดูไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราเลย เราจึงวาดภาพไม่ออกว่าสารตัวนี้ หรือกรดอะมิโนตัวนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับเรา
แต่หนังสือเล่มนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าความรู้เหล่านี้ถูกย่อยออกมาให้เข้าใจได้ง่ายและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะเรียนรู้มันได้ไม่ยากครับ
มันชวนให้เราคิดต่อไปถึงระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน หากความรู้ในห้องเรียนสามารถทำให้มันเป็นเรื่องใกล้ตัวนักเรียนได้ พวกเขาก็น่าจะให้ความสนใจกับการเรียนได้มากขึ้น และมีทัศนคติต่อการเรียนดีขึ้นได้ครับ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในซีรีส์หนังสือสนุกจนตาสว่าง ซึ่งมีอีกหลายเล่มหลากเรื่องมาก ทั้งเรื่องสมอง ระบบประสาท น้ำตาล แล้วก็เล่าออกมาแบบดูใกล้ตัวเราจริง ๆ อ่านสนุก เข้าใจง่าย ทำให้มุมมองที่มีต่อข้อมูลสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ
ชื่อหนังสือ: เล่าเรื่องโปรตีน
ชื่อสำนักพิมพ์: ไดฟุกุ
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา