18 ก.ย. 2023 เวลา 15:47 • ประวัติศาสตร์

เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ในกองทัพอากาศนอร์เวย์

นอร์เวย์ สมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ชาติแรกๆ ที่จัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ นอร์ธรอป เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ (Northrop F-5 Freedom Fighter) เข้าประจำการในกองทัพอากาศของตน หลังจากที่กองทัพอากาศนอร์เวย์ ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๑๐๔ สตาร์ไฟเตอร์ ฝูงแรกเข้าประจำการในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ภายใต้โครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ และพบว่าสตาร์ไฟเตอร์มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อชั่วโมงสูงมาก ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลนอร์เวย์กำลังได้รับแรงกดดันให้ลดงบประมาณด้านกลาโหมลง จึงตัดสินใจชะลอการจัดหา เอฟ-๑๐๔ สตาร์ไฟเตอร์ ฝูงที่สอง
นอร์เวย์ให้ความสนใจกับเครื่องบินขับไล่แบบ นอร์ธรอป เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ จากสหรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องบินรบขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่ำกว่าสตาร์ไฟเตอร์ นอกจากนั้นยังสามารถปฏิบัติการจากสนามบินขนาดเล็กที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกจำกัดได้อย่างดี เดิมทีทางกองทัพอากาศนอร์เวย์ต้องการ เอฟ-๕เอ ตามความต้องการของตน คือ ไม่ติดปืนใหญ่อากาศ มีถังน้ำมันเชื้อเพลิงภายในลำตัวใหญ่ขึ้น สามารถติดตั้งจรวดช่วยในการวิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า JATO ระบบกำจัดน้ำแข็งบนกระจกบังลม และติดตั้งตะขอเกี่ยวเพื่อช่วยให้ลงจอดระยะสั้น
เอฟ-๕เอ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ของฝูงบิน ๓๓๒ กองทัพอากาศนอร์เวย์
แต่การปรับเปลี่ยนทั้งหมดนั้นจะทำให้ราคาของ เอฟ-๕ สูงมาเกินไป จึงมีการปรับเปลี่ยนเพียงบางรายการที่จำเป็นเช่น ติดตั้งจรวดช่วยในการวิ่งขึ้น ระบบกำจัดน้ำแข็งบนกระจกบังลม และติดตั้งตะขอเกี่ยวเพื่อช่วยให้ลงจอดระยะสั้น โดยสิ่งที่ทำให้ เอฟ-๕ ของนอร์เวย์โดดเด่นที่สุดคือสามารถใช้งานจรวดอากาศ-สู่-พื้น พิสัยใกล้ แบบ เอจีเอ็ม-๑๒ บูลพับ (AGM-12 Bullpup) ได้
นอร์เวย์ ได้ลงนามจัดหา เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ จำนวน ๖๔ เครื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ แบ่งเป็น เอฟ-๕เอ รุ่นที่นั่งเดี่ยว ๕๖ เครื่อง และ เอฟ-๕บี รุ่นสองที่นั่งอีก ๘ เครื่อง สำหรับบรรจุเข้าประจำการใน ๓ ฝูงบินๆ ละ ๒๐ เครื่อง และสำรองอีก ๔ เครื่อง ภายใต้สัญญามูลค่า ๕๓๐ ล้านโครน แบ่งเป็นงบประมาณของนอร์เวย์ ๒๐๐ ล้านโครน ส่วนที่เหลือเป็นเงินจากโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ
นักบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื่นดินของกองทัพอากาศนอร์เวย์ เริ่มทำการฝึกกับ เอฟ-๕ ในสหรัฐ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อนส่งมอบชุดแรกให้นอร์เวย์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็น เอฟ-๕เอ ๙ เครื่อง และเอฟ-๕บี ๒ เครื่อง โดยทั้งหมดเข้าประจำการในฝูงบินที่ ๓๓๖ ฐานบินริกเกอ (Rygge AB) ต่อมาในเดือนมิถุนายน ฝูงบินที่ ๓๓๒ ฐานบินริกเกอ เป็นฝูงบินที่สอง และในเดือนกันยายน ฝูงบินที่ ๓๓๘ ฐานบินออร์ลันด์ (Ørland AB) เป็นฝูงบินที่สาม ตามมาด้วยฝูงบินที่ ๓๓๔ ฐานบินโบโด (Bodø AB) เป็นฝูงบินที่สี่ในเดือนเมษายน ปีถัดมา
2
เอฟ-๕เอ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ๒ ลำ ที่ฐานบินไอนด์โฮเวน เนเธอร์แลนด์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ รัฐสภานอร์เวย์ได้อนุมัติให้จัดหา เอฟ-๕เอ เพิ่มเติมอีก ๑๐ เครื่อง เอฟ-๕บี ๘ เครื่อง และเครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางยุทธวิธี อาร์เอฟ-๕เอ อีก ๑๖ เครื่อง การจัดหา อาร์เอฟ-๕เอ เป็นจำนวนมากในครั้งนี้ เนื่องจากนอร์เวย์เป็นชาติสมาชิกนาโต้เพียงชาติเดียว (ในขณะนั้น) ที่มีพรมแดนติดต่อกับสหภาพโซเวียตและยังมีแนวชายฝั่งที่ยาวถึง ๒๙,๐๐๐ กิโลเมตรทำให้การลาดตระเวนเป็นภารกิจที่สำคัญมาก
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 ฝูงบินที่ ๗๑๘ ที่ฐานบินโซล่า (Sola Air Base) เริ่มปฏิบัติการเป็นฝูงบินที่ห้า และเป็นฝูงบินฝึกเปลี่ยนแบบสำหรับนักบินที่จะก้าวขึ้นไปบินกับ เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ทำให้ฝูงบินนี้อากาศยานในฝูงส่วนมากจะเป็น เอฟ-๕บี รุ่นฝึกสองที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ โดยมี เอฟ-๕เอ รุ่นที่นั่งเดียวประจำการอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งเท่านั้น
อาร์เอฟ-๕เอ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ของกองทัพอากาศนอร์เวย์
ฝูงบินที่หกซึ่งเป็นฝูงบินสุดท้าย คือ ฝูงบินที่ ๗๑๗ ซึ่งเป็นฝูงบินลาดตระเวนทางยุทธวิธี ประจำอยู่ที่ฐานบินริกเกอ ได้เริ่มปฏิบัติการด้วย อาร์เอฟ-๕เอ ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อทดแทน อาร์เอฟ-๘๔เอฟ ธันเดอร์แฟลช ที่กำลังทยอยปลดประจำการ
มีการส่งมอบ เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ประมาณ ๔๐ เครื่อง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ฝูงบินขับไล่/ทิ้งระเบิด ๔ ฝูงบิน เริ่มทยอยรับ เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ เข้าประจำการก่อนกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ฝูงบินฝึกเปลี่ยนแบบเริ่มปฏิบัติการในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และฝูงบินลาดตระเวนทางยุทธวิธีเริ่มรับมอบอากาศยานในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เครื่องสุดท้ายได้รับมอบในปลายปี ๒๕๑๓ รวมแล้วกองทัพอากาศนอร์เวย์ ได้รับมอบ เอฟ-๕เอ จำนวน ๖๖ เครื่อง เอฟ-๕บี จำนวน ๑๖ เครื่อง และอาร์เอฟ-๕เอ อีก ๑๖ เครื่อง
เอฟ-๕เอ และ เอฟ-๕บี ฟรีดอม ไฟเตอร์ ของกองทัพอากาศนอร์เวย์
อัตราการสูญเสียของ เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ของกองทัพอากาศนอร์เวย์อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงถึง ๑๖ เครื่อง ทำให้ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ต้องยุบฝูงบินที่ ๓๓๒ เพื่อโอนอากาศยานในฝูงบินไปให้กับฝูงบินอื่นๆ ที่ใช้ เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ และในเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้น ฝูงบินที่ ๓๓๔ ได้โอน เอฟ-๕ ไปให้ฝูงบินอื่น และเริ่มเปลี่ยนอากาศยานประจำฝูงไปใช้ ซีเอฟ-๑๐๔ สตาร์ไฟเตอร์
เอฟ-๕ ของนอร์เวย์ที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะกระจายไปยังฝูงบิน เอฟ-๕ ที่เหลืออีก ๔ ฝูงบิน ทำให้ต้องลดอากาศยานประจำฝูงลงเหลือฝูงละ ๑๖ เครื่อง จากอัตราปกติฝูงบินละ ๒๐ เครื่อง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ฝูงบิน เอฟ-๕ ของนอร์เวย์ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ภายในทำให้ถูกงดใช้งานเป็นจำนวนมาก หลังจากได้รับการซ่อมบำรุงตามข้อตกลงร่วมระหว่างสหรัฐฯ และนอร์เวย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เอฟ-๕ บางส่วนได้รับอัพเกรดอุปกรณ์เอวิโอนิกส์ตามโครงการยืดอายุการใช้งาน
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ นอร์เวย์ได้ปรับปรุง เอฟ-๕ อีกครั้ง ปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องนักบินให้ใกล้เคียงกับเครื่องบิน เอฟ-๑๖ เพื่อนำไปในการฝึกนักบินเปลี่ยนแบบก่อนไปบินกับ เอฟ-๑๖ ต่อไป พร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างลำตัวและปีกเพื่อยืดอายุการใช้งานออกไปอีก และปลดประจำการอย่างถาวรในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
โฆษณา