29 มิ.ย. 2023 เวลา 12:52 • ธุรกิจ

อินเดีย…ดาวเด่นดวงใหม่แห่งภาคอุตสาหกรรม

อินเดียเป็นประเทศดาวเด่นดวงใหม่ ที่มีศักยภาพอย่างมากในการเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอุปทานโลก เห็นได้จากการที่บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง ก็มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปอยู่ที่อินเดีย หลังจากหลายปีที่ผ่านมาถูกขวางไว้ด้วยกฎระเบียบต่างๆ และอินเดียมีแต่แรงงานไร้ทักษะ อีกทั้งถนนหนทางและสนามบินไม่ดี
3
แต่ในตอนนี้อุตสาหกรรมของอินเดียกำลังจะก้าวไปอีกขั้นแล้ว จากการปฏิรูปโครงสร้างโดยรัฐบาลของคุณ นเรนทรา โมดี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญอีกมากมายที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตของภาคแรงงาน การส่งเสริมแรงจูงใจจากภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเร่งให้เกิดการกระจายห่วงโซ่อุปทานจากจีนมากขึ้น
📌 อินเดีย…ความหวังของตลาดแรงงาน ในวันที่แรงงานมีแต่คนสูงวัย
อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่และมีประชากรมากพอที่จะทดแทนแรงงานในโรงงานในประเทศพัฒนาแล้วรวมไปถึงจีน ที่ทยอยเกษียณอายุกันออกไป จากข้อมูลพบว่าแรงงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมกว่า 48.6 ล้านคนในประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงจีน จะเกษียณอายุในระหว่างปี 2020 ถึง 2040 ในขณะเดียวกัน อินเดียกลับเป็นประเทศที่จะมีแรงงานเข้ามาในระบบกว่า 38.7 ล้านคน ซึ่งชดเชยกับแรงงานที่ออกไปจากระบบพอดี
ในอดีต การขาดแคลนแรงงานทักษะเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย ในปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว แต่สิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปคือ รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการ the Skill India Mission ขึ้นมาในปี 2015 เพื่อหวังจะแก้ปัญหาทักษะแรงงาน และแก้ปัญหาการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งทำให้ในปี 2022 มีคนที่เข้าฝึกอบรมวิชาชีพ 19.1% จากที่เมื่อ 4 ปีก่อนมีเพียง 6.1% เท่านั้น
นอกจากนี้ นโยบายการศึกษาที่รัฐได้ออกมาในปี 2020 ก็เป็นนโยบายที่หวังจะกระตุ้นสัดส่วนของคนที่ผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างเป็นทางการ โดยมีการบังคับให้โรงเรียนในสังกัดของรัฐบาลทุกโรงเรียน ต้องเพิ่มการอบรมวิชาชีพไว้ในหลักสูตร สำหรับนักเรียนมัธยมในปีท้ายๆ
3
📌 ภูมิรัฐศาสตร์…ตัวช่วยให้อินเดียกลายเป็นที่ดึงดูดสำหรับธุรกิจห่วงโซ่อุปทาน
จากความตึงเครียดของสหรัฐฯ และจีน ปัญหาการลดลงของประชากรจีน ตลอดจนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก กำลังทำให้หลายๆ ประเทศพยายามแข่งขันกันเพื่อช่วยชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก Bloomberg Economics ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ลดลงไปอยู่ที่ 16.6% ในเดือนมีนาคม หรือ ลดลงไปกว่า 6.6% นับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งประเทศที่ได้ผลพลอยได้จากเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ…เวียดนาม
แต่นอกจากเวียดนามแล้ว อินเดียก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะการที่อินเดียเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ มากขึ้น บวกกับข้อได้เปรียบทางด้านประชากร นั่นหมายถึงว่าอินเดียจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก จากการที่ทั่วโลกกำลังคิดทบทวนเรื่องห่วงโซ่อุปทานใหม่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่บริษัท Apple Inc. ย้ายฐานการผลิตไอโฟนบางส่วนจากจีนมายังอินเดีย และคาดว่าในปี 2025 จะย้ายการผลิตมาราวๆ 25% นอกจากนี้บริษัท Micron Technology Inc. ก็ใกล้จะบรรลุข้อตกลงตั้งโรงงานแพคเกิจจิ้งเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอินเดีย
📌 ภาคอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย…ผู้ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม
รัฐบาลอินเดียได้ให้เงินอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตระลอกแรกในเดือนมีนาคม ปี 2020 เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิต ต่อมาได้ขยายมาตรการนี้ไปยัง 14 ภาคส่วน รวมแล้วเป็นเงินกว่า 2.9 ล้านล้านรูปี ซึ่งภาคอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นภาคแรกๆ ที่ได้รับประโยชน์จากแรงจูงใจนี้
ก่อนมีมาตรการอุดหนุนดังกล่าว การลงทุนในภาคอิเล็กทรอนิกส์ตลอด 25 ปีก่อนหน้ารวมกันอยู่ที่เพียง 628 พันล้านรูปีเท่านั้น แต่ภายหลังนโยบายกระตุ้นแรงจูงใจผลิตไม่กี่ปี มีการลงทุนเพิ่มถึง 578 พันล้านรูปี
ต่อมาในปี 2019 รัฐบาลอินเดียก็ได้ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 22% จากที่ก่อนหน้าอยู่ที่ 30%
1
ในส่วนของโรงงานผลิตอุตสาหกรรมที่จะเริ่มการผลิตก่อนเดือนมีนาคม ปี 2024 รัฐบาลก็จะลดอัตราภาษีเหลือ 15% จาก 25% ทำให้อัตราภาษีของอินเดียสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การลดภาษีและความพยายามของรัฐบาลที่จะลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความสามารถในการแข่งขันในการเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมสำหรับห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา