1 ก.ค. 2023 เวลา 12:50 • กีฬา

สืบจากงานวิจัย : จริงหรือไม่ที่กุนซือหัวล้าน ประสบความสำเร็จมากกว่ากุนซือมีผม

เป๊ป กวาร์ดิโอลา, ซีเนดีน ซีดาน, ลูชาโน่ สปัลเล็ตติ หรือแม้แต่ เอริค เทน ฮาก ล้วนแต่เป็นชื่อของผู้จัดการทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกุนซือแต่ละคนที่ว่ามานี้ต่างก็ทำหน้าที่คุมทีมข้างสนามจนได้รับคำชื่นชมไปตามภารกิจที่ตั้งไว้ร่วมกับสโมสรต้นสังกัด
1
เห็นเช่นนี้อาจเป็นเรื่องปกติทั่วไปในวงการฟุตบอลทั่วโลก ทว่าหากสังเกตดี ๆ ผู้จัดการทีมที่ว่ามานี้ล้วนแต่เป็นกุนซือ “หัวล้าน (Bald)”
เรื่องนี้ได้กลายเป็นกระแสและเป็นคำถามปลายเปิดที่ชวนให้พูดถึงเป็นวงกว้าง ว่าแท้จริงแล้วผู้จัดการทีมที่หัวล้าน หรือหัวโล้นประสบความสำเร็จมากกว่ากุนซือที่มีผมหรือไม่
การที่กุนซือลูกหนังคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องทรงผมมากน้อยแค่ไหน และตามหลักจิตวิทยาแล้วมีข้อสังเกตประการใดบ้างที่บ่งชี้ว่าคนหัวโล้นมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า มาติดตามไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
[หัวล้านได้แชมป์]
จุดน่าสนใจประการหนึ่งในแวดวงลูกหนังยุคหลังมานี้คือการที่สโมสรชื่อดังทั่วยุโรปประสบความสำเร็จกับเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้การทำทีมของกุนซือศีรษะล้าน ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 ว่าเป็นคนที่ “หัวไร้ผมบางแห่งหรือทั้งหมด”
ไม่ว่าจะเป็น เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่คว้าแชมป์ร่วมกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมกันแล้วถึง 14 แชมป์ รวมถึงความสำเร็จในขวบปีล่าสุดกับการพาเรือใบสีฟ้าคว้าเทรเบิลแชมป์ ขณะที่ ซีเนดีน ซีดาน ที่โด่งดังในฐานะคนศีรษะล้านมาตั้งแต่เป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ต่อด้วยการพา เรอัล มาดริด คว้าแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีกได้ถึงสามสมัยติดต่อกัน
ขณะที่ ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ ก็เพิ่งพานาโปลีเถลิงแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา เป็นหนแรกในรอบ 33 ปี เช่นเดียวกับการเข้ามาวางรากฐาน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นปีแรกของ เอริค เทน ฮาก และจบด้วยการคว้าอันดับสามและแชมป์ลีก คัพ ส่วนเวทีทีมชาติ หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ กุนซือหัวล้านคนใหม่ของ ทีมชาติสเปน ก็เพิ่งพากระทิงดุซิวยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก มาครอง
การที่เหล่าผู้จัดการทีมศีรษะล้านพาเหรดกันคว้าความยิ่งใหญ่แบบเหนือกว่าบรรดากุนซือผมเต็มศีรษะ ทำเอาคอฟุตบอลจำนวนไม่น้อยตั้งกระทู้ผ่านเว็บบอร์ดในหลาย ๆ เว็บไซต์ไปจนถึงโพสต์เนื้อหาในลักษณะนี้ชวนให้ชาวเน็ตร่วมแสดงมุมมองผ่านโซเชียลมีเดีย โดยภาพใหญ่ของการแสดงความคิดเห็นกับประเด็นนี้คือ “จริงหรือไม่ที่กุนซือหัวล้านเก่งกว่ากุนซือมีผม ?”
[ไขคำตอบตามหลักจิตวิทยา]
แม้จะมีกระทู้และมีโพสต์มากมายปรากฏสู่สายตาแฟนฟุตบอลชาวเน็ต อย่างไรก็ดี เมื่อนำคำถามในลักษณะนี้ไปสืบค้นต่อ ไล่ตั้งแต่เสิร์ชเอ็นจิ้นชื่อดังอย่าง Google ตามต่อด้วยช่องทางค้นหาเชิงวิชาการ ทั้ง Google Scholar หรือแม้แต่เว็บไซต์รวมงานวิชาการกีฬาอย่าง The Sport journal กลับไม่พบเนื้อหาเชิงวิเคราะห์ ตลอดจนบทความวิชาการที่ยืนยันตรง ๆ ว่าโค้ชฟุตบอลหัวล้านประสบความสำเร็จมากกว่าโค้ชฟุตบอลมีผม
แต่ถึงอย่างไร หากสืบค้นในเชิงจิตวิทยาเรื่องคนศีรษะล้านก็จะพบบทความวิเคราะห์หรืองานวิจัยที่อ้างอิงถึงบุคลิก และคุณลักษณะเด่นของคนหัวล้านในชีวิตประจำวัน และสิ่งนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับตัวตนของผู้จัดการทีมหัวล้านได้ไม่มากก็น้อย
อย่างงานวิจัยเชิงทดลองของ ศาสตราจารย์ ดร.แฟรงก์ มัสคาเรลล่า จากมหาวิทยาลัยแบร์รี่ (Barry University) มีเนื้อหาโดยสรุปว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศชายหัวล้านมีวุฒิภาวะ มีความซื่อสัตย์ ความฉลาด และสถานะทางสังคมเหนือกว่าเพศชายที่มีผม
ขณะที่ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ก็เคยทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นข้อดีของคนหัวล้านผ่านการสำรวจโดยใช้มุมมองและทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งบทสรุปของงานวิจัยนี้คือ ผู้ชายหัวล้านมักถูกมองว่ามีอำนาจเหนือกว่า น่าเกรงขามกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่า
1
เมื่อนำความโดยสรุปจากงานวิจัยทั้งสองมาเรียบเรียงอีกครั้งจะพบว่าคนหัวล้านถูกมองในแง่ของการมีวุฒิภาวะ มีความจริงจัง มีอำนาจ และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าคนมีผม
1
จุดนี้อาจจะส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับบรรดากุนซือหัวล้านในโลกลูกหนัง โดยเฉพาะเรื่องการวางตัวของแต่ละคน วุฒิภาวะจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ตลอดจนบุคลิกความน่าเกรงขามยามที่ยืนคุมลูกทีม เราอาจจะเห็นบุคลิกและคาแร็กเตอร์ของเป๊ปที่ดูสง่างามไม่ต่างกับผลงานที่จารึกไว้ที่แมนฯ ซิตี้, เราอาจเห็นกฎระเบียบที่เป๊ะและความเด็ดขาดของ เทน ฮาก จนเห็นผลตั้งแต่ซีซั่นแรกกับแมนฯ ยูไนเต็ด
1
หรือแม้แต่การปลด ยูเลี่ยน นาเกิลส์มันน์ ของบาเยิร์น มิวนิค ที่ว่ากันว่าคุมห้องแต่งตัวทีมไม่ได้ แล้วแต่งตั้งโค้ชมากบารมีในวงการลูกหนังเมืองเบียร์อย่าง โธมัส ทูเคิ่ล เข้ามาคุมทีมแทน เป็นต้น
อิทธิพลของกุนซือหัวล้านยังส่งผลในเรื่องของแรงบันดาลใจอีกด้วย ดังที่เพื่อนในวัยเด็กของ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เคยให้สัมภาษณ์ว่าซูเปอร์สตาร์แห่งเปแอสเชผู้นี้เป็นแฟนตัวยงของ ซีเนดีน ซีดาน ถึงขั้นที่ว่าพร้อมจะโกนผมให้ล้านให้เหมือนไอดอลผู้นี้ในสมัยเป็นเยาวชน
1
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าเหล่ากุนซือหัวล้านจะดูให้ภาพแง่บวกมากกว่าลบ แต่ก็ยากที่จะเลี่ยงการถูกวิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตา (Body shaming) อยู่ดี อย่างเป๊ปที่เคยโดนทั้ง โชเซ่ มูรินโญ่ และอดีตลูกทีมอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่ ให้สัมภาษณ์ว่าที่กุนซือสแปนิชหัวล้านก็เพราะเขาคุมทีมจนเครียดเกินไป
ขณะที่ หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ นายใหญ่ทัพ ลา โรฆา ก็เคยถูกแฟนบอลบูลลี่เรื่องหัวล้าน จนเขาต้องออกมาวิจารณ์ว่านี่เป็นการเหยียดที่รุนแรงเทียบเท่ากับการเหยียดชาติพันธุ์เลยทีเดียว
[แท้จริงแล้วโค้ชหัวล้านเก่งกว่าจริงไหม ?]
เราไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่ากุนซือหัวล้านเก่งกว่ากุนซือมีผมขนาดไหน ในอดีตกุนซือหัวโล้นก็ไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่ากับช่วงเวลาปัจจุบันที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากกว่า แถมสารที่ถูกสื่อออกไปก็ทำได้ง่ายกว่ายุคก่อน เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็คิดเนื้อหาสั้นยาวได้ในไม่กี่นาที
อีกเหตุผลก็เพราะฟุตบอลคือเกมการแข่งขันที่มีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวโยง ทั้งกลยุทธ์ แทคติกวิธีการเล่น รวมถึงปัจจัยนอกสนาม
แต่กระนั้นสิ่งที่ต่างออกไปคือเราสามารถมองในเชิงจิตวิทยาได้ว่ากุนซือหัวล้านเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีของงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ออกมา นั่นเพราะภาพลักษณ์และบุคลิกที่มีวุฒิภาวะและอำนาจของหลาย ๆ คนในยุคนี้ให้ผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบของ โทรฟี่ แบบไม่มีน้อยหน้ากัน
โฆษณา