Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
1 ก.ค. 2023 เวลา 15:50 • ศิลปะ & ออกแบบ
ออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์ ในเชิงของพลังปราณ จะอาศัยหลักการในวิชา อู่สิง (五行) หรือ เบญจธาตุ และ วิชา ปาหยู (八欲) หรือ อัฐการ (แปดปรารถนา) เป็นสำคัญ โดยเริ่มต้น จะใช้วิชาเบญจธาตุ ในส่วนของ สีสัน รูปทรง องค์ประกอบ เป็นเกณฑ์ในการออกแบบ และใช้วิชาอัฐการ ในการตรวจสอบผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละความปรารถนา อันเนื่องมาจาก วงจรส่งเสริม ทำลาย และ ลดทอน ของเบญจธาตุ ที่ปรากฏมีขึ้น หลังจากการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นๆ กระทั่งถูกนำไปใช้งาน ในสภาพแวดล้อมของผู้บริโภคโดยตรง
สำหรับรายละเอียดของวิชาเบญจธาตุ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามอ่านได้ในบทความ เบญจธาตุสัมพันธ์ ภายในเพจฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต ในที่นี้จึงจะขอบรรยายเชิงสรุปสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องของ สีสัน รูปทรง และ องค์ประกอบ ของเบญจธาตุ กล่าวคือ สีสัน หรือ สี (Color) ประจำธาตุของธาตุ ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ โดยมีสีหลัก คือ ดินสีเหลือง ทองสีขาว น้ำสีดำ ไม้สีเขียว และ ไฟสีแดง แต่แท้จริงแล้ว ยังมีเฉด (Shade) สีให้เลือกได้อีกจำนวนหนึ่ง (ดังแสดงในรูปที่ 1)
เพื่อความหลากหลายของสี ที่จะใช้ในการออกแบบ ส่วนของรูปทรง หรือ ฟอร์ม (Form) ประจำธาตุ โดยมีรูปทรงหลัก คือ ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทองเป็นรูปวงกลม น้ำเป็นรูปหลายโค้ง ไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และ ไฟเป็นรูปสามเหลี่ยม (ดังแสดงในรูปที่ 2) ขณะที่องค์ประกอบ หรือ วัสดุ (Material) ลวดลาย (Pattern) และ จำนวน (Number) หรือตัวเลข ที่ใช้ในผังหลอซู (洛書) และ ผังเหอถู (河圖) ที่แปรธาตุ เป็นเบญจธาตุ
รูปที่ 1 แสดงเฉดสีประจำธาตุที่ใช้ได้
ในส่วนของวัสดุ ก็หมายถึง สิ่งที่เป็น ดิน, ทอง, น้ำ, ไม้ และ ไฟ จริงๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ ในกรณีดิน จะรวมถึง พวกหิน รัตนชาติ หรือ อัญมณี ทอง จะรวมถึงโลหะอื่นๆ ทุกชนิด และไม้ จะรวมทั้งเนื้อไม้ที่ตัดมา หรือผ่านการแปรรูปแล้ว และ ไม้ที่ยังมีชีวิต ที่นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยในสามธาตุที่กล่าวมานี้ ล้วนมีสภาพเป็นของแข็งจับต้องได้ จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่น้ำและไฟ ที่มีสภาพไม่ใช่ของแข็ง ซึ่งอาจนำมาใช้งานโดยตรงไม่ได้ จึงต้องใช้เชิงประยุกต์แทน
กรณีของน้ำ ให้ใช้แก้วหรือวัสดุที่มีความใส เช่น เรซิ่น การใช้หินรัตนะชาติ ที่มีสีขาวใส เช่น เคลียควอซ (Clear Quartz) จะถือเป็นวัสดุผสมระหว่างธาตุดินกับน้ำ จึงต้องทำการแปรธาตุ ในการออกแบบด้วย กรณีของไฟ ให้ใช้แสงสว่างแทน โดยใช้หลอดไฟ โดยเฉพาะหลอดไส้ จึงจะให้ปราณธาตุไฟแท้ ขณะที่หลอด ฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) หรือ ไฟเล็ด (LED) จะให้แต่แสงสว่าง มิได้ให้ปราณธาตุไฟ หรือกรณีที่ผลิตภัณฑ์นั้น จะถูกใช้ในการจุดให้มีเปลวไฟจริง ก็ถือว่าใช้ได้ และยังให้ปราณธาตุไฟ ที่บริสุทธิ์ด้วย
รูปที่ 2 แสดงรูปทรงและวงจรของปราณเบญจธาตุ
ต่อไปเป็นหลักการสำคัญในวิชาเบญจธาตุ ที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ วงจรของปราณธาตุ ทั้ง 3 (ดังแสดงในรูปที่ 2) กล่าวคือ วงจรก่อเกิด (Productive Cycle) แบ่งเป็น ดินเกิดทอง ทองเกิดน้ำ น้ำเกิดไม้ ไม้เกิดไฟ และ ไฟเกิดดิน วงจรทำลาย (Dstroying Cycle) แบ่งเป็น ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มทอง ทองข่มไม้ และ ไม้ข่มดิน วงจรลดทอน (Weakening Cycle) แบ่งเป็น ดินทอนทอง ทองทอนน้ำ น้ำทอนไม้ ไม้ทอนไฟ และ ไฟทอนดิน
ในส่วนของวงจรก่อเกิด และ ทำลาย หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกันอยู่เป็นปกติแล้ว ขณะที่วงจรลดทอน อาจยังไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก ก็ขอขยายความไว้ตรงนี้ว่า วงจรลดทอนนั้น มีความสำคัญ ในกรณีที่มีสัญลักษณ์ของปราณธาตุ มาอยู่ร่วมกัน จะทำให้เกิดการทอนกำลังระหว่างกันได้ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ชิ้นใด ต้องการเน้นปราณธาตุใด ก็ต้องระวังไม่ไปไว้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปราณธาตุลดทอนกัน เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอ่อนกำลังลงได้ อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ปราณธาตุทอง ถ้าไปไว้บนผ้ากำมะหยี่สีดำ ก็จะทำให้ทอนกำลังปราณธาตุทอง ของผลิตภัณฑ์ได้
ส่วนหลักวิชาอัฐการนั้น ในที่นี้จะขอบรรยายโดยสังเขป คือ ความปรารถนาทั้ง 8 นั้นแบ่งเป็น ทิศเหนือ อาชีพ การงาน, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความรู้ การศึกษา, ทิศตะวันออก สุขภาพ ครอบครัว, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ การเงิน ความมั่งคั่ง, ทิศใต้ ชื่อเสียง เกียรติยศ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความรัก คามสัมพันธ์, ทิศตะวันตก บริวาร วิสัยทัศน์ และ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลูกค้า ความช่วยเหลือ
โดยแต่ละความปรารถนา จะประจำอยู่ที่ทิศทั้ง 8 ดังกล่าว ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับเบญจธาตุโดยปริยาย คือ ทิศเหนือ ธาตุน้ำ, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ธาตุดิน, ทิศตะวันออก ธาตุไม้, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ธาตุไม้, ทิศใต้ ธาตุไฟ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ธาตุดิน, ทิศตะวันตก ธาตุทอง และ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ธาตุทอง
เมื่อเชื่อมสองหลักวิชาเข้าด้วยกัน ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็จะได้ว่า ถ้าธาตุทองได้รับการส่งเสริม ก็จะทำให้ความปรารถนาประจำทิศที่เป็นปราณธาตุทอง ได้รับการส่งเสริมไปด้วย กล่าวคือ บริวาร, วิสัยทัศน์, ลูกค้า และ ความช่วยเหลือ ในทางตรงกันข้าม ถ้าธาตุทองถูกทำลาย ก็จะทำให้ความปรารถนา เกี่ยวกับธาตุทอง ที่กล่าวมาทั้งหมด จะถูกทำลายไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ถ้าถูกลดทอน ก็จะทำให้ความปรารถนาเหล่านั้น เสียกำลัง แม้จะไม่ถึงกับถูกทำลายให้สิ้นสภาพ แต่ก็จะอ่อนกำลังจนอาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้น ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งตำแหน่งที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปตั้งวาง จึงต้องพิจารณาถึง วงจรของปราณธาตุทั้ง 3 ในรายละเอียดด้วย เพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ได้ผลตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นหลักการออกแบบผลิตภัณฑ์
ในเชิงพลังปราณ แต่ในงานออกแบบจริง จะต้องอาศัยหลักการออกแบบ ในหลักวิชาตามที่ใช้กันปกติทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เนื้อหาจากนี้ไป จึงจะใช้สำหรับบรรยายเกี่ยวกับ หลักวิชาการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ โดยสังเขป โดยความหมายทั่วไป ผลิตภัณฑ์ จะหมายถึง สิ่งที่ถูกมนุษย์คิดค้น ออกแบบ และสร้างขึ้น เพื่อใช้อำนวยความสะดวก ในการดำรงชีวิต ในด้านต่างๆ
แม้ว่า ผลิตภัณฑ์ จะมิได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นเคล็ดวัตถุ ที่ใช้ปรับแต่งพลังปราณโดยตรง โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ทำให้ดีไม่ได้ อย่าให้เสีย” ด้วยหลักการนี้ ถ้าผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบ เผื่อด้านพลังปราณไว้ด้วย ก็สามารถใช้เป็นเคล็ดวัตถุ ไปได้โดยปริยาย อย่างน้อยก็จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งด้านพลังปราณเกิดขึ้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ พอจะแบ่งได้เป็น หน้าที่ใช้งาน (Function), สุนทรียภาพ (Aesthetics), รูปแบบใช้งาน (Ergonomics), ความปลอดภัย (Safety), โครงสร้างรวม (Construction), ต้นทุนผลิต (Cost), วัตถุดิบ (Materials), กรรมวิธีผลิต (Production), บำรุงรักษา (Maintenance) และ การนำส่ง (Transportation) โดยอาศัยแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสมบูรณ์ ครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต และ นำส่ง ถึงมือผู้ใช้
หน้าที่ใช้งาน เป็นเหมือนจุดประสงค์ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรง เพราะเป็นสิ่งที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น จะถูกในไปใช้งานในด้านใด? มีรายละเอียดการใช้งานอย่างไร? ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ จะถูกใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มเดียวกัน
เมื่อถูกนำไปใช้งาน ก็จะส่งผลให้การออกแบบแตกต่างกัน อาทิเช่น โต๊ะคอมพิวเตอร์ กับ โต๊ะทำงาน ปกติ จะพบว่า โต๊ะคอมพิวเตอร์ จะมีรายละเอียดในการใช้งานมากกว่าโต๊ะทำงาน คือ ต้องมีแผ่นเลื่อนสำหรับวางแป้นพิมพ์ หรือพื้นที่สำหรับวางเครื่องพิมพ์ ขณะที่โต๊ะทำงาน เป็นแค่พื้นโต๊ะแบนราบธรรมดา ไม่ได้มีมิติความต่างระดับ เหมือนกับโต๊ะคอมพิวเตอร์ดังกล่าว
สุนทรียภาพ หรือ ความสวยงามน่าใช้ จะต้องออกแบบให้มีรูปทรง ขนาด และ สีสัน ที่สวยงาม ให้ตรงตามรสนิยมกลุ่มป้าหมาย เป็นการส่งเสริมให้เกิดความนิยมชมชอบ เพราะความสวยงาม เป็นความประทับใจแรกที่ถูกพบเห็น แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รูปทรงและสีในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ จะไม่เหมือนกับงานจิตรกรรม เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับรูปทรงและแสงเงาที่ตกกระทบ
ทำให้สีสันที่ใช้อาจไม่ได้เป็นตามที่กำหนดไว้ การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ ระหว่างรูปทรงและสีสัน ควบคู่กัน ไม่ใช่เน้นที่อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวโดยสรุป คือต้องเน้นที่ความพึงพอใจ ของผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญ ให้เกิดการตัดสินใจซื้อ
รูปแบบใช้งาน หรือ ความสะดวกสบาย รวมถึง ความง่ายในการประกอบ และ นำไปใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องเข้าใจเกี่ยวกับ กายวิภาคเชิงกล ระหว่าง ขนาด สัดส่วน ความสามารถ และ ขีดจำกัดของร่างกายผู้ใช้ กล่าวโดยสรุป ก็คือ ต้องทำให้การเกิดความรู้สึกดี และสะดวกสบายในการใช้ ซึ่งต้องคำนึงถึง ทั้งด้านจิตวิทยา (Psychology) และสรีระวิทยา (Physiology)
ซึ่งย่อมแตกต่างตาม เพศภาวะ เผ่าพันธุ์ ภูมิลำเนา และ สภาพแวดล้อม ที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน อาทิเช่น เก้าอี้นั่ง นอกจากจะต้องมีความนุ่มนวล มีสัดส่วนที่นั่งได้สบาย ก็ต้องคำนึงถึงว่า เป็นเก้าอี้ที่จะถูกนำไปใช้ในภูมิภาคใด เพราะสรีระของผู้คนในแต่ละชาติพันธ์ ย่อมไม่เหมือนกัน เช่น คนเอเซีย จะมีสัดส่วนที่เล็กกว่า คนตะวันตก การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวด้วย
ความปลอดภัย แม้ผลิตภัณฑ์จะถูกสร้างขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีพ แต่ก็สามารถเกิดโทษได้ หากการออกแบบไม่ดีพอ หลักการที่ต้องคำนึงถึงในเบื้องต้น ก็คือ ความปลอดภัย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ของผู้ใช้เป็นสำคัญ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตด้วย โดยไม่เลือกใช้วัตถุดิบ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม ถ้ายังมีอัตราเสี่ยงอยู่ ก็ต้องมีสัญลักษณ์ และ ข้อความแจ้งเตือน การใช้งานให้ชัดเจน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า
เนื่องจากเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้กับไฟฟ้า จึงต้องแจ้งเตือนให้ระวัง ไฟฟ้าดูด และ ความร้อน ที่อาจเกิดขึ้น เอาไว้ด้วย โครงสร้างรวม ที่ต้องมีความแข็งแรงเพียงพอ ทนทานต่อการใช้งานตามที่ออกแบบไว้ โดยชิ้นส่วนทั้งหมด จะต้องประกอบกันได้อย่างลงตัว ส่วนที่เคลื่อนไหว ต้องมีความคล่องตัว ไม่ติดขัด โดยการออกแบบจะต้องให้ได้คุณสมบัติของวัสดุที่เหมาะสม คือ ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก และมีแรงกระทำที่พอเหมาะ รวมถึงสามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้งาน ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการใช้งานที่ออกแบบไว้
ต้นทุนผลิต นอกจากหลักการออกแบบที่กล่าวมาข้างต้น ต้นทุนที่จะใช้ในการผลิต จนส่งถึงมือผู้ใช้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะจะเป็นปัจจัยในการกำหนดราคา ที่ผู้บริโภคจะต้องเสียเงินซื้อ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่า มีอาชีพ และ ฐานะระดับใด ด้วยข้อมูลดังกล่าว ก็จะถูกนำไปใช้ ในการเลือก วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต และ การขนส่ง ที่เหมาะสมต่อไป
วัตถุดิบ จะต้องเลือกใช้วัสดุ ที่มีคุณสมบัติ ตามที่ต้องการ และเหมาะสมต่อการนำไปใช้ อาทิเช่น ความมันวาว ความใส การทนต่อ ความร้อน สารเคมี และ สภาวะความเป็นกรดด่าง และจะต้องเป็นวัตถุดิบ ที่หาได้ง่าย สะดวกต่อการผลิต การจัดเก็บ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน มีความนิยมที่จะเลือกใช้วัตถุดิบ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) หรือ ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ และเลี่ยงการใช้สารประกอบที่มีโลหะหนัก ที่เป็นพิษต่อชีวิตผู้คน และ สภาพแวดล้อม เป็นส่วนผสม
กรรมวิธีผลิต ควรจะออกแบบให้มีสายการผลิตที่ ง่าย รวดเร็ว ประหยัดทั้งวัตถุดิบ เวลา และ กำลังคน โดยเฉพาะสอดคล้องกับความสามารถในการทำงาน ของเครื่องจักรที่มีอยู่เดิม ที่สำคัญหากเป็นผลิตภัณฑ์ ที่เป็นสินค้าผลิตจำนวนมาก (Mass product) ก็ต้องออกแบบให้มีกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสม และผลิตได้ทันตามกำหนดเวลา
บำรุงรักษา การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดี จะต้องมีอายุการใช้งานที่เหมาะสม แต่เพื่อเป็นการยืดอายุผลิตภัณฑ์ จึงต้องออกแบบให้ มีความสะดวกง่ายดายต่อการบำรุงรักษาด้วย หรือ ซ่อมแซมได้ง่ายเมื่อเกิดอาการชำรุด และมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงต่ำ ซึ่งข้อมูลการออกแบบในส่วนนี้ ยังมีผลถูกใช้เป็นเกณฑ์
ในการกำหนดระยะเวลาในการรับประกันสินค้าด้วย อะไหล่ที่จะใช้เปลี่ยนภายในผลิตภัณฑ์ ก็ต้องได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการเปลี่ยนชิ้นส่วน ซึ่งย่อมรวมไปถึงการถอดประกอบด้วย แนวทางการออกแบบหนึ่ง ที่เอื้ออำนวยต่อจุดประสงค์ดังกล่าว ก็คือ การออกแบบเชิงโมดูล (Modular Design) ที่ทำให้การถอดประกอบชิ้นส่วนต่างๆ สามารถทำได้โดยง่ายดาย
การนำส่ง หรือ การขนส่งสินค้า ทั้งไปยังร้านค้า หรือ ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในปัจจุบัน ที่การค้าอิเลคทรอนิค (E-Commerce) ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้การสั่งของออนไลน์ มีมากขึ้นตาม ส่งผลให้การขนส่งสินค้าด้วยโดรน (Drone) เริ่มเป็นที่นิยม เหตุผลดังกล่าวนี้ จึงกลายเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขนส่ง ก็คือ การบรรจุภัณฑ์ (Packaging)
เพราะจะมีผลต่อการขนส่งได้ยากหรือง่าย รวมไปถึงการรักษาตุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้คงสภาพสมบูรณ์ จนถึงมือผู้บริโภค โดยปกติแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการขนส่งผลิตภัณฑ์ คือ ค่าขนส่ง ความสะดวกในการส่ง ระยะทาง วิธีการส่ง (ทาบก ทางน้ำ หรือ ทางอากาศ) เนื้อที่จัดเก็บ ถ้าผลิตภัณฑ์มีขนาดใหญ่ จะต้องออกแบบให้ถอดประกอบชิ้นส่วนได้ เพื่อลดขนาดของการบรรจุภัณฑ์ และ ประหยัดเนื้อที่ในการจัดส่งด้วย
จากหลักการและเหตุผลทั้งหมด ที่บรรยายมาข้างต้น ทั้งในส่วนของการออกแบบเชิงพลังปราณ และ การออกแบบเชิงวิชาการ ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เราออกแบบ มีความสมบูรณ์ ทั้งในส่วนของหยาง หรือ กายภาพภายนอก และ ส่วนของหยิน คือ ความพลังปราณภายใน ย่อมจะทำให้เกิดประสิทธิผลในการใช้งาน และ เป็นคุณต่อดวงชะตาของผู้ใช้ด้วย
ทั้งในส่วนชะตาดิน และ ชะตาคน โดยในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ตั้งวางไว้ภายในอาคารสถานที่ จะถือเป็นส่วนของชะตาดิน เช่น เฟอร์นิเจอร์ หรือ ของประดับสวน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับบุคคลโดยตรง ก็จะถือเป็นส่วนของชะตาคน เช่น เสื้อผ้า หรือ เครื่องประดับ ต่างๆ
(มิติทางผลิตภัณฑ์ ep.3 ออกแบบผลิตภัณฑ์)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางผลิตภัณฑ์
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย