Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2023 เวลา 13:41 • ธุรกิจ
สัญลักษณ์องค์กร
บุคคลมีหน้าตาเป็นที่จดจำ องค์กรย่อมต้องมีสัญลักษณ์ ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายตัวแทน เพื่อให้สังคมจดจำองค์กรได้ง่ายและแม่นยำเช่นกัน การออกแบบสัญลักษณ์ หรือที่เรียกกันว่า โลโก้ (Logo) ขององค์กรนั้นจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะให้ผู้คนจดจำแล้ว ยังต้องให้พลังปราณจดจำ และดึงดูดเข้าหาด้วย
แน่นอนว่า พลังปราณนั้นมีทั้ง พลังเชิงบวก หรือ พลังมงคล และ พลังเชิงลบ หรือ พลังอัปมงคล ที่ไม่ระบุอย่างแน่ชัดว่า เป็นพลังหยางหรือพลังหยิน ก็เนื่องมาจาก ทั้งสองขั้วพลัง หรือ หยินหยาง ล้วนมีความเป็นมงคล และ อัปมงคล ได้ทั้งสิ้น
การออกแบบสัญลักษณ์ หรือ โลโก้ จึงต้องเน้นให้ดึงดูดพลังมงคล เป็นการเฉพาะ ส่วนจะเป็นมงคลพลังพยาง หรือ มงคลพลังหยิน ก็ขึ้นอยู่กับลักษณ์พลังของธุรกิจ ถ้าเป็นธุรกิจลักษณะหยาง ก็ต้องใช้มงคลพลังหยาง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นธุรกิจลักษณะหยิน ก็ต้องใช้มงคลพลังหยิน
การออกแบบให้โลโก้ ดึงดูดพลังมงคลขั้วตรงข้าม กับลักษณ์พลังของธุรกิจ ย่อมไม่ส่งผลดี แม้จะเป็นพลังมงคลก็ตาม เพราะพลังต่างขั้วย่อมขัดแย้ง และแปรเปลี่ยนกลืนกินกัน ขึ้นกับว่า พลังขั้วใดมีกำลังมากกว่า ถ้าหยางมากกว่า ก็จะดูดกลืนและแปรเปลี่ยนพลังหยินให้เป็น หยาง ในขณะที่หยินมากกว่า ก็จะดูดกลืนและแปรเปลี่ยนพลังหยางให้เป็นหยิน ซึ่งล้วนทำลายลักษณ์พลังของธุรกิจนั้นๆ ลงได้
หากจะนิยามคำว่า พลังมงคลนั้น ก็ต้องอาศัยหลักดุลยภาพ มาอรรถาธิบาย กล่าวคือ เป็นระดับของพลังปราณ ที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับ ระดับลักษณ์พลังของธุรกิจดังกล่าว เพราะทุกสิ่งในธรรมชาติ ที่มากไปหรือน้อยไป ย่อมส่งผลเสีย ที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ อาทิเช่น แสงสว่างที่มากเกินไป ย่อมทำให้ตาพร่าเลือน ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ในขณะเดียวกัน แสงสว่างที่น้อยเกินไป ก็ย่อมทำให้ตามืดมัว ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่นเดียวกัน
ระดับของพลังมงคลก็อาศัยหลักการเดียวกันนี้ ถ้าเป็นธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่ ก็ต้องอาศัยพลังมงคลระดับสูงเท่าเทียมกัน จึงจะก่อเกิดประโยชน์ได้ ถ้าธุรกิจมีขนาดเล็ก แต่ใช้พลังมงคลขนาดใหญ่ จะทำให้ธุรกิจนั้นล่มสลาย เปลี่ยนจากนิยมชมชอบ เป็นรังเกียจเดียดฉันท์ เหมือนการทำอะไรเกินตัว หรือ แบกของเกินกำลัง สร้างความผิดหวังแก่ผู้คน
เพราะพลังมงคลระดับสูง จะดึงดูดผู้คนในระดับเดียวกันเข้ามาหา ตามหลัก “สรรพสิ่งจัดกลุ่มตามสภาพ” หรือ ตงซีจี๋สู่หรูเถียวเจี้ยน (東西集組如條件) แต่เมื่อมาแล้ว กับพบกับสิ่งที่ต่ำต้อยด้อยค่ากว่าที่ผู้คนเหล่านั้นคาดคิดไว้ ก็จะทำให้เปลี่ยนจาก ทัศนะเชิงบวกเป็นเชิงลบได้โดยง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ใช้พลังมงคลระดับเล็กกว่า หรือ น้อยกว่า ย่อมไม่สามารถดึงดูดผู้คนในระดับเดียวกัน ให้เข้ามาหาได้
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผลประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่มุ่งหมาย หรือ ที่ตั้งเป้า ไว้ เพราะไปดึงดูดเอากลุ่มเป้าหมายผิดประเภทเข้ามาหา พูดง่ายๆ คือ ดึงดูดคนจน มาซื้อสินค้าราคาแพง พวกเขาเหล่านั้นย่อมไม่สามารถ มีกำลังทรัพย์พอจะมาซื้อได้ เท่ากับเสียเปล่าโดยใช่เหตุ
นอกจากเรื่องของระดับของพลังมงคล ที่ควรออกแบบให้โลโก้องค์กร สามารถดึงดูดเข้ามาได้อย่างเหมาะสมแล้ว ความถี่ในการนำเสนอ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ต้องคำนึงถึงหลังจากได้โลโก้ที่ต้องการแล้ว แม้จะมีโลโก้ที่ดึงดูดพลังมงคล ที่เหมาะสมต่อลักษณ์พลังของธุรกิจเพียงใด หากไม่ถูกนำเสนอต่อ สาธารณะชน อย่างพอเพียง ย่อมไร้ความหมาย เพราะความพัวพันของพลังปราณ จะไม่เกิดขึ้น
ความถี่ในการประชาสัมพันธ์โลโก้ดังกล่าว จึงต้องกระทำอย่างพอเหมาะพอควรเช่นกัน อย่าลืมว่า มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ การนำเสนอในสื่อที่เหมาะสม และกาละเทศะที่ถูกที่ควร ย่อมเป็นผลดีต่อการทำงานของโลโก้ ที่ออกแบบมานั้น เรื่องราวที่ยกมากล่าวข้างต้น ทั้งสองประการนี้ ถือได้ว่า เป็นหลักการพื้นฐาน ที่จะใช้ในการออกแบบโลโก้
เพื่อให้ได้ผลดีทั้งด้านพลังปราณ และ การประชาสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้รู้จัก ต่อไปนี้ก็จะบรรยายถึงรายละเอียด ของหลักการพื้นฐานทั้งสอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การออกแบบลักษณ์พลัง ถือเป็นปฏิบัติการฝั่งหยิน และ การออกแบบนำเสนอ ถือเป็นปฏิบัติการฝั่งหยาง เมื่อรวมประสานหยินหยาง จึงจะก่อเกิดผลเป็นความสำเร็จที่ทรงประสิทธิผลเต็มที่
ตามหลักการที่ว่า “หยางกระตุ้น หยินควบคุม” สามารถใช้เป็นแนวทางออกแบบโลโก้ได้เป็นอย่างดี โดยการออกแบบด้านลักษณ์พลัง จะต้องเป็นไป เพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมพลังปราณ และ การออกแบบด้านนำเสนอ จะต้องเป็นเพื่อจุดประสงค์ในการ กระตุ้นพลังปราณ โดยอาศัยหลักการทั้งสองดังกล่าวนี้ จึงจะได้โลโก้ หรือ สัญลักษณ์ขององค์กร ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
เราจะมาเริ่มต้นกันที่ การออกแบบเชิงลักษณ์พลังก่อน โดยก่อนอื่น เราจะมาพูดถึงหลักการออกแบบโลโก้ ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในแวดวง เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน ให้ท่านผู้อ่านพอจะมีหลักเกณฑ์ หรือ ขั้นตอนการทำงานไว้พอเป็นแนวทางเบื้องต้น ก่อนจะเข้าไปสู่การวิเคราะห์ด้านลักษณ์พลัง จากรูปแบบที่ผ่านขั้นตอนข้างต้นมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการต่อยอดจาก หลักวิชาการออกแบบ ที่มีอยู่เดิม
หลักการออกแบบโลโก้ แบบพื้นฐานโดยทั่วไป จะอิงอยู่ที่แนวคิดสำคัญ 6 ประการ คือ สื่ออารมณ์, ความหมาย, อายุกาล, เอกลักษณ์, โทนขาวดำ และ ย่อขยาย หลักการหรือแนวคิด ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถใช้ได้กับการออกแบบโลโก้ ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี เนื่องจาก เทคโนโลยีด้านเครือข่ายข้อมูล ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และ มีความนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ที่รู้จักกันในนาม อินเตอร์เน็ต (Internet) ทำให้การนำเสนอโลโก้ ต้องทำได้หลากหลายรูปแบบ มากกว่าในอดีต
โดยเฉพาะ รูปแบบที่เรียกกันว่า ไอคอน (Icon) ซึ่งมีได้หลายขนาด เพื่อให้สามารถนำเสนอ ในหลายขนาดของพื้นที่ โดยเฉพาะในเว็บไซท์ (Websit) ทั่วไป ซึ่งปัจจุบัน จะต้องมีคุณสมบัติในด้านการแสดงผล ในหลายขนาดจอภาพ โดยเฉพาะในอุปกรณ์พกพา (Mobile device) อย่าง โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ (Smart Phone) หรือ แท้ปเล็ต (Tablet) โดยมีศัพท์เทคนิคเรียก การออกแบบเว็บไซท์ลักษณะนี้เป็นการเฉพาะว่า การออกแบบที่ตอบสนองต่อทุกขนาดจอภาพ (Responsive Design)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้บ่อยครั้ง ที่พื้นที่การนำเสนอโลโก้ จะมีไม่มากนัก โดยเฉพาะถ้าโลโก้เราจะถูกนำไปแสดงผลร่วมกับโลโก้ขององค์กรอื่น แนวทางการนำเสนอที่ใช้กัน จึงมักจะเป็นไปในรูปแบบของไอคอนดังกล่าว หลักการออกแบบโลโก้ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องคำนึงถึง คุณสมบัติในข้อนี้ด้วย โดยจะกล่าวถึงต่อไป ในแนวคิดการย่อขยาย ขนาดโลโก้
แนวคิดสื่ออารมณ์ ถือเป็นแนวคิดสำคัญ อันดับที่หนึ่ง เพราะจะเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า โลโก้ของเราต้องการสื่ออารมณ์ถึงผู้คน ที่ได้พบเห็นในแนวทางใด โดยต้องอิงกับลักษณะของธุรกิจเป็นสำคัญ หากธุรกิจเป็นแบบเน้นความน่าเชื่อถือ เป็นทางการ โลโก้ที่สื่ออารมณ์น่ารัก หรือ สนุกสนาน ย่อมไม่เหมาะสม
แต่ต้องเป็นไปในแนวทางคลาสิค (Classic) ดูน่าเคารพยำเกรง รู้สึกถึงความมั่นคง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้พบเห็น ในขณะที่ธุรกิจบันเทิง หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็ก ก็ต้องเน้นความอ่อนโยน น่ารัก ชวนให้รู้สึกร่าเริงสนุกสนาน โดยปัจจัยในการออกแบบเพื่อให้ได้โลโก้ที่สื่ออารมณ์ดังกล่าว จะต้องเน้นไปที่ รูปทรง (Form) สีสัน (Color) และ ตัวอักษร (Font)
กรณีของโลโก้ที่ต้องการความเป็นทางการ จะต้องเน้นรูปทรงที่มีสมมาตร (Symmetry) เน้นลายเส้นตรง หรือ รูปสี่เหลี่ยม ที่มีฐานรองรับ ดูมั่นคง รูปภาพที่นำเสนอ จะต้องออกไปแนวเหมือนจริง (Realistic) อาทิเช่น รูปสัตว์ ก็ต้องดูให้เหมือนสัตว์ที่ต้องการนำเสนอจริง ไม่ใช่ภาพสัตว์แนว การ์ตูน (Cartoon) หรือ เส้นสายสัญลักษณ์ (Symbolic) ที่ใช้แทนสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้รู้สึกถึงความจริงจัง ที่เราต้องการสื่ออารมณ์ถึงผู้พบเห็น
ในทางตรงกันข้าม หากเป็นธุรกิจที่เน้นความบันเทิง ก็ต้องใช้รูปทรงที่อ่อนช้อย มีการเคลื่อนไหว (Movement) ไม่จำเป็นต้องมีสมมาตร เน้นไปที่เส้นโค้ง รูปวงกลม ไม่เน้นความเหมือนจริง เพราะต้องการสื่อถึง ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายอารมณ์ ไม่มีอะไรต้องเคร่งเครียดสีสันถือเป็น หลักเกณฑ์สำคัญ เพราะโดยธรรมชาติ สีจะสื่ออารมณ์ในตัวเองได้อยู่แล้ว นักออกแบบโลโก้ โดยส่วนใหญ่ มักจะเรียนจบมาทางศิลปะ (Art) จึงมีความรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีสี และ อารมณ์ของสี เป็นอย่างดี ในเรื่องนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่ประการใด
อารมณ์ของสี พอจะแบ่งได้คร่าวๆ คือ สีแดง (อันตราย เร่าร้อน รุนแรง), สีส้ม (สว่าง ร้อนแรง ฉูดฉาด), สีเหลือง (ร่าเริง สดใส ระแวดระวัง), สีเขียว (เติบโต ผ่อนคลาย สดชื่น), สีน้ำเงิน (สงบ ผ่อนคลาย งามสง่า), สีม่วง (หนักแน่น สงบงัน เล่ห์กล), สีน้ำตาล (เก่าแก่ มั่นคง เงียบงัน), สีขาว (บริสุทธิ์ สะอาด สดใหม่), สีดำ (จริงจัง มืดมน เศร้าหมอง), สีมันวาว (มั่นคง ทรงคุณค่า มีฐานะ), สีเทา (คลุมเครือ นิ่งเฉย ซ่อนเร้น)
นอกจากนี้ ยังมีว่า สีที่ผสมกับสีขาว จะให้ความรู้สึกเบาสบาย ผ่อนคลาย ดูกลมกลืน ถ้าผสมสีเทา จะให้ความรู้สึกสลดหดหู่ แก่ชรา เศร้ารันทด และ ถ้าเป็นสีสดใส ก็จะให้ความรู้สึก ร่าเริง กระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา
ตัวอักษร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟิค (Computer Graphic) มีความเจริญมาก ทำให้มีซอฟต์แวร์ (Software) หรือ แอพลิเคชั่น (Application) ที่เกี่ยวกับงานออกแบบ ที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยังมีตัวอักษร (Font) ให้เลือกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการออกแบบฟอนต์ชนิดต่างๆ ก็สามารถทำได้สะดวกง่ายดายขึ้น
ทั้งแบบใช้แอพพลิเคชั่นโดยตรง หรือ ผ่านระบบออนไลน์ (Online) ที่เป็นเว็บไซท์ที่มีบริการ ช่วยการสร้างฟอนต์ให้เป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ เรื่องรูปแบบของฟอนต์จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะมีให้เลือกมาก ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะเลือกฟอนต์อย่างไร ให้ได้สื่ออารมณ์ที่ต้องการ ในกรณีที่ต้องมีตัวอักษรประกอบในโลโก้ หรือ ใช้โลโก้ในรูปแบบของตัวอักษร อาทิเช่น ชื่อองค์กร
หลักการกว้างๆ ทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกใช้ฟอนต์ คือ ถ้าเป็นฟอนต์แบบมีหางตวัด (Serif Font) มักจะใช้กับความรู้สึกแนวจริงจัง มั่นคง โบราณ น่าเคารพ เหมาะใช้กับชื่อของสถาบันการศึกษา หรือ องค์กรที่ต้องการความนับถือ หรือไว้วางใจจากสังคม ส่วนฟอนต์แบบไม่มีหาง (San Serif Font) จะเหมาะกับการออกแบบแนวโมเดิร์น (Modern) ที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย ทันสมัย และ ฟอนต์แบบไม่เป็นทางการ (Casual) เป็นฟอนต์แนวน่ารัก หรือ ฟอนต์ที่เลียนแบบลายมือ ก็เหมาะใช้กับความรู้สึกสบายๆ สนุกสนาน ไม่มีอะไรจริงจัง (ดูรูปที่ 1)
รูปที่ 1 แสดงรูปแบบฟอนต์
แนวคิดด้านความหมาย กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องการให้โลโก้เราสื่อความหมายอะไรต่อสาธารณะชน สิ่งแรกที่ต้องเน้นก็คือ ความเป็นตัวแทนธุรกิจ (Business Representation) คือต้องสื่อถึงแบรนด์สินค้า อัตลักษณ์ หรือ ประเภทธุรกิจ ที่จะใช้โลโก้ดังกล่าว บอกให้รู้ถึงกิจกรรม สินค้า หรือ บริการ ที่ธุรกิจนั้นมีอยู่
สิ่งต่อไปที่ต้องพูดถึงก็คือ ความหมายแฝง ที่จะทำให้โลโก้ดูมีมิติเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง โลโก้ของ Amazon ที่มีลูกศรชี้จาก A ไป Z เป็นการสื่อความหมายแฝงว่า Amazon ขายสินค้าทุกประเภท คือมีสินค้าทุกอย่างที่ผู้คนต้องการ
แนวคิดด้านอายุกาล เป็นเรื่องของช่วงเวลา ที่จะใช้โลโก้ดังกล่าว แนวคิดนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัว เพียงแต่ถ้าองค์กรใด มีการปรับเปลี่ยนอัตตลักษณ์ ไปตามยุคสมัย ก็ต้องมาพิจารณาดูว่า โลโก้ที่ใช้อยู่เดิม ยังมีความร่วมสมัยกับปัจจุบันหรือไม่ กล่าวคือ ยังเป็นที่เข้าใจได้ของผู้คนหรือไม่ว่า โลโก้นั้นหมายถึงอะไร
โดยเฉพาะโลโก้ที่ใช้เส้นสายรูปทรง บ่อยครั้งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป อาจไม่เป็นที่รู้จัก หรืออาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่สังคมได้วิวัฒน์ไปจากเดิมมากแล้ว แนวคิดด้านเอกลักษณ์ คือความไม่เหมือนใคร ของตัวโลโก้ บ่อยครั้งที่มีการใช้ตัวอักษรภายในโลโก้ โดยมักใช้คำขึ้นต้นทำให้ เกิดการใช้ตัวอักษรซ้ำกัน หากขึ้นต้นด้วยตัวอักษรแรกของชื่อองค์กรเดียวกัน แม้จะออกแบบให้มีรูปทรงสีสันที่แตกต่าง แต่ความดูเหมือนก็สามารถทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ดังนั้น แม้การออกแบบโดยใช้ตัวอักษร จะทำได้ง่าย แต่ก็ยากที่จะรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของโลโก้ไว้ได้ และหากโลโก้ของธุรกิจอื่นที่ดูคล้ายของเรา เกิดเสียชื่อเสียงขึ้นมา ก็จะพลอยทำให้โลโก้ของเราถูกเข้าใจผิดตามไปด้วยได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อักษรตัวเดียวเป็นโลโก้ จะปลอดภัยกว่า
แนวคิดด้านโทนขาวดำ เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องพิจารณา เพราะทุกองค์กร จะต้องมีตรายาง สำหรับประทับในเอกสารต่างๆ และมักจะใช้รูปแบบเดียวกับโลโก้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของผู้คน ดังนั้นการออกแบบโลโก้ ที่มีสีสัน เมื่อต้องนำมาทำเป็นตรายาง ที่มีสีเพียงสองสี อาจไม่ใช่ขาวกับดำโดยตรง แต่ความที่มีสีน้อย จึงต้องทำให้โลโก้มีลายเส้นที่ชัดเจน และยังสื่อความหมายได้ ไม่ต่างจากโลโก้ที่มีสีสันตามปกตินั้น
แนวคิดด้านการย่อขยาย เรื่องนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ดังที่ได้เกริ่นนำไว้ข้างต้น การออกแบบโลโก้ที่มีความซับซ้อนมาก เมื่อนำเสนอในรูปแบบปกติ ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ ก็จะไม่พบปัญหาแต่อย่างไร แต่เมื่อต้องย่อขนาดลง เป็นไอคอน ก็อาจทำให้มองดูไม่รู้เรื่อง ไม่เหมือนกับโลโก้ขนาดปกติ การพิจราณาแนวคิดนี้ บอกให้เรารู้ว่า การออกแบบโลโก้ในปัจจุบัน ต้องไม่เน้นรายละเอียดมากเกิน เพื่อที่การย่อขยายจะยังคงรูปแบบโลโก้ที่สมบูรณ์ไว้ได้
เมื่อได้รูปแบบโลโก้ที่ต้องการแล้ว การวิเคราะห์ด้านลักษณ์พลัง จะใช้หลักการเดียวกับที่บรรยายไว้ใน อรัมภบท คือ ใช้หลักของวิชา อู่สิง หรือ เบญจธาตุ และ วิชา ปาหยู หรือ อัฐการ เหมือนกัน โดยในด้านวิชาเบญจธาตุ ก็ให้พิจารณาเรื่อง สีสัน รูปทรง องค์ประกอบ เป็นหลัก เพียงแต่เรื่องของโลโก้ จะต้องพิจารณาด้านเบญจธาตุที่สอดคล้องกับ ประเภทธุรกิจด้วย
แล้วเน้นให้รูปภาพ หรือ ตัวอักษร ที่เป็นธาตุตัวแทนธุรกิจ เป็นหลัก แล้วให้เอาองค์ประกอบอื่นๆ มาเป็นตัวส่งเสริมธาตุหลักดังกล่าว โดยจัดให้ธาตุส่งเสริมเหล่านั้น ไม่ขัดแย้งกันเอง และต้องไม่ขัดแย้งกับสีพื้นหลัง (Background color) ด้วย เนื่องจากบ่อยครั้งที่เราต้องนำโลโก้ไปแสดง บนสีพื้นหลังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีของกระดาษ หรือ พื้นหลังของเว็บเพจ (Web page) ก็ตาม ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างธาตุ จะต้องหาทางแปรธาตุด้วยธาตุประสาน เพื่อขจัดความขัดแย้งนั้น
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าตัวโลโก้เราเป็นสีเขียว (ธาตุไม้) แล้วไปปรากฏบนพื้นขาว (ธาตุทอง) ทำให้เกิดสภาพ ทองข่มไม้ ก็จะทำให้โลโก้เราเสียกำลัง ในกรณีนี้ ต้องส่งเสริมธาตุไม้ (ที่เป็นธาตุโลโก้) โดยใส่ขอบสีดำ หรือ น้ำเงิน ของธาตุน้ำ เพื่อให้ทองมาเกิดน้ำ แล้วน้ำไปเกิดไม้ ถ้าเป็นตรงกันข้าม โลโก้เราเป็นสีขาว แต่ไปแสดงบนพื้นสีเขียว แม้ธาตุทองโลโก้จะไปข่มธาตุไม้ แต่ก็ทำให้ธาตุทองเสียกำลัง และเกิดบทบาทขัดแย้งได้
กรณีนี้การแปรธาตุต้องทำสองระดับ คือให้ล้อมขอบนอกโลโก้ด้วย สีแดงของธาตุไฟ และเหลืองของธาตุดิน ตามลำดับ เพื่อให้สีเขียวธาตุไม้ไปเกิดไฟ ไฟไปเกิดดิน และ ดินไปเกิดทอง คือตัวโลโก้ หลักการทั้งหมดนี้ สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ ในการออกแบบสื่อโฆษณา หรือ ประชาสัมพันธ์โลโก้ได้เช่นกัน ในขณะที่วิชาอัฐการ ก็จะใช้อ่านความปรารถนาทั้งแปด ที่ถูกผลกระทบจากวงจรการ ก่อเกิด ทำลาย และ ลดทอน ของเบญจธาตุ เหมือนกับที่อธิบายไว้ในอรัมภบทนั้น
(มิติทางผลิตภัณฑ์ ep.2 สัญลักษณ์องค์กร)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางผลิตภัณฑ์
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย