2 ก.ค. 2023 เวลา 03:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ครบรอบ 26 ปี ไทยปล่อยค่าเงินลอยตัว - สรุป วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997

"2 กรกฎาคม 1997 - ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปล่อยค่าเงินลอยตัว" ดับฝันวาทกรรม "เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย"
วิกฤตต้มยำกุ้ง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เอเชียประสบกับช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายซึ่งเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรงซึ่งส่งคลื่นสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาค โดยโดมิโนชิ้นแรกที่ล้มและทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 1997 (Asian Financial Crisis/Tom Yum Kung Crisis) มาจากประเทศไทยนั่นเอง
วิกฤตการณ์นี้เป็นวิกฤตครั้งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” หรือ “Tom Yum Kung Crisis” เมื่อไทยประกาศปล่อยเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 (พ.ศ. 2540) หลังจากที่ทุนสำรองของประเทศลดลงเป็นจำนวนมากเนื่องจากการพยายามที่จะตรึงค่าเงินบาทไว้และจากเหตุการณ์นี้เอง ความหวังที่ว่าประเทศไทยกำลังจะผงาดขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียก็ได้พังสลายลง…….
สาเหตุของ วิกฤตต้มยำกุ้ง
ย้อนไปในช่วงปี 1990 – 1995 ต้องบอกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดเรียกว่าเริ่มเป็นฐานการผลิตที่ใครๆก็อยากโยกเงินเข้ามาลงทุน ด้วยทั้งค่าแรงถูกและมีโครงสร้าง Infrastructure ที่พร้อม ประเทศไทยเองก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด
เสือตัวที่ 5
เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1985 โดย GDP ต่อหัวของประชากรในช่วงปี 1985 – 1995 นั้นก้าวกระโดดกว่า 300% ซึ่งอัตราการเติบโตนั้นตามหลังเศรษฐกิจใหญ่ๆในเอเชียเพียงแค่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกงเท่านั้น และในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็คือจุดเริ่มต้นขอวาทะกรรม “เราจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย”
ในปี 1993 ประเทศไทยได้เปิดการค้าเสรีโดยเซ็นยินยอมให้มีการชำระค่าสินค้าบริการระหว่างประเทศได้อย่างเสรีกับ Internation Monetary Fund (IMF) และอีก 3 ปีต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก็ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities) ซึ่งคือบริการที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตนี้ไม่ได้มาจากการเติบโตโดยมากจากปัจจัยที่ส่งเสริมจริงๆ เงินที่หมุนสะพัดอยู่ในประเทศนั้น แท้จริงแล้วมาจากการ “กู้หนี้” ต่างประเทศมาลงทุน
ในฝั่งสถาบันการเงินเอง ก็หละหลวมในการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อ คิดว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโต ไม่มีอะไรที่จะต้องน่ากังวล ธนาคารที่ปล่อยกู้ ก็ไม่ได้คำนึงว่าโปรเจกต์ที่ปล่อยกู้ไปนั้นจะได้กำไรหรือไม่ แถมเป็นการกู้ระยะสั้นที่นำไปลงทุนในระยะยาว ในฝั่งของอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงเวลานั้นได้เกิดตึกใหม่ คอนโดใหม่ หรือหมู่บ้านใหม่ๆมากมาย ซึ่งก็ถือว่าอสังหาฯได้เข้าสู่ยุคฟองสบู่อย่างเต็มตัว
หนึ่งในนโยบายที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยคือการ “ตรึงค่าเงินบาท” ไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นตรึงไว้ที่ 1USD = 25 บาท และนั่นถือเป็นการฝืนกฎอุปสงค์-อุปทานโดยหาคำนึงถึงหายนะไม่ เมื่อเงินถูกตรึงคงที่ นักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเองก็ไม่มีความจำเป็นที่จำต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยน
เมื่อเศรษฐกิจในประเทศร้อนแรงเกินไป ธปท.จึงจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น….เมื่อไม่มีความเสี่ยงทางด้านอัตราค่าแลกเปลี่ยน แถมดอกเบี้ยในประเทศยังสูง นักลงทุนและสถาบันการเงินใหญ่ๆก็จะไปกู้เงินจากต่างประเทศ แล้วเอามาปล่อยในประเทศเพื่อกินส่วนต่างทางดอกเบี้ยโดยไม่ต้องรับความเสี่ยงจากอัตราการแลกเปลี่ยนเลย นั่นทำให้หนี้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก
สงครามเงินบาท
แม้ว่า IMF และนักเศรษฐศาสตร์จะคอยเตือนประเทศไทยเองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะในการฝืนกฎเหล็กของเศรษฐศาสตร์อย่าง “The Impossible Trinity” หรือกฎสามอย่างที่ห้ามทำพร้อมกันนั่นคือ
1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate)
2. การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี (Free Capital Flow)
3. การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ (Monetary Autonomy)
ทางฝั่งธปท.แม้ว่าจะรู้และพยายามที่จะแก้ไข แต่ฟองสบู่ที่อยู่ในเศรษฐกิจนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ไหว เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อนักลงทุนต่างชาติและ Hedge Fund เริ่มมองเห็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะระเบิด
ผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนชื่อดังเจ้าของฉายา “พ่อมดแห่งการเงิน” อย่าง George Soros ได้เริ่มมีการ Short เงินบาท พร้อมออกมาเตือนว่าไม่มีทางที่ค่าเงินบาทจะสามารถถูกตรึงไว้แบบนี้ได้ตลอดเพราะมันไม่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นและทยอยเทขายเงินบาท สงครามโจมตีเงินบาทเกิดขึ้นเป็นระลอกๆตั้งแต่ช่วงปลายปี 1996 ในขณะเดียวกัน ธปท.ก็นำเงินสำรองในประเทศไปช้อนซื้อเงินบาทเพื่อตรึงมูลค่าไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ โดยเงินในคลังค่อยๆหายไปจนเรียกได้ว่า หนี้เยอะกว่าเงินในคลัง
George Soros - พ่อมดแห่งโลกการเงินผู้โด่งดัง
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 1997 สถานการณ์สงครามเงินบาทเริ่มกลับมาหนักหน่วง เงินในคลังมีอยู่ 20,000 ล้านดอลลาร์ในต้นเดือน ลดลงเหลือ 2,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน และในเดือนถัดมา นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ก็ได้ประกาศลาออกเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเงินนี้ได้
นั่นยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในเงินบาทแทบจะไม่เหลือ และนำมาสู่การประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ลงมาเป็น 30 บาท….. 40 บาท….. และลงมาถึงจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 56.5 บาท ในวันที่ 12 มกราคม 2541 โดยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ George Soros ทำกำไรไปกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บาดแผลต่อเศรษฐกิจ จาก วิกฤตต้มยำกุ้ง
Sathorn Unique Tower ตึกระฟ้าใจกลางสาธรที่มีแผนจะทำเป็นโครงการคอนโดมีเนียม ถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์แห่งร่องรอยของวิกฤตต้มยำกุ้งโดย Museum Siam - รูปโดย – Supanut Arunoprayote
จากการประกาศปล่อยเงินบาทลอยตัว ธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากมีหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายและในท้ายที่สุดก็ต้องยื่นล้มละลาย ในฝั่งสถาบันการเงิน ผู้คนก็ทยอยไปถอนเงินออกจากธนาคารตั้งแต่ในช่วงที่มีการโจมตีค่าเงินบาทในช่วงแรกๆ เมื่อรัฐประกาศปล่อยเงินบาทลอยตัว สถาบันการเงินยิ่งขาดสภาพคล้องอย่างหนัก ต้องเผชิญกับภาวะผิดนัดชำระหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ เกิด “หนี้เสีย” หรือ “Non Performing Loan” ในระบบเป็นจำนวนมหาศาล และท้ายที่สุด ธนาคารกว่า 50 แห่งถูกกระทรวงการคลังสั่งปิด
ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศรวมกว่า “แสนล้านดอลลาร์” โดยเป็นหนี้ภาครัฐกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์ และหนี้ภาคเอกชน 85,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นทำให้ประเทศไทยต้องเข้าโปรแกรมกู้ยืมเงินจาก IMF เป็นจำนวนกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
SET Index ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ในช่วงที่ฟองสบู่กำลังเติบโตในช่วงเดือนมกราคม 1994 ที่ 1789.16 มาเป็นจุดต่ำสุดหลังฟองสบู่แตกที่ 204.59 ในเดือนกันยายน ปี 1998 หรือคิดเป็นการปรับตัวลงถึง 88.57% โดยตลาดใช้เวลากว่า 24 ปี ในการฟื้นตัวกลับมาเบรกจุดที่เคยทำสูงสุดไว้ได้ในปี ​2018 แต่ก็เป็นการ False Break และปรับตัวลงมา เพราะยังไม่มีปัจจัยที่แข็งแกร่งที่ทำให้ SET ยืนเหนือ 1789.16 ได้
ผลกระทบจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ได้ลุกลามขยายเป็นวงกว้างไปยังอีกหลายประเทศในเอเชีย อย่างเช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ จนถูกเรียกอีกชื่อว่า “วิกฤตการเงินเอเชีย” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศไทย
GDP ต่อหัวในช่วงปี 1995 – 2000 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินเอเชีย
วิกฤตต้มยำกุ้งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยและสถาบันการเงินในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี คู่แข่งที่เคยสูสีกับประเทศไทยในตอนนั้นอย่าง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือมาเลเซียเอง ก็ได้นำหน้าทิ้งห่างเราไป โดยในปี 2022 เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่เรียกว่าเกือบรั้งท้าย โดยมีอัตราเติบโตสูงกว่าเพียงแค่ติมอร์เลสเต กับ พม่า และแม้จะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตต้มยำกุ้งนับว่าเป็นบาดแผลที่สาหัสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดับความฝันที่จะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย อย่างไม่มีวันหวนกลับ
ถ้าหากคุณชื่นชอบในการย้อนอดีตเพื่อศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจ เราขอแนะนำบทความอื่นๆที่ทีมงาน ChartTrail ได้เจาะลึกถึง
- วิกฤต Subprime
- The Great Depression ของประเทศสหรัฐอเมริกา
หรือ ติดตาม ChartTrail ได้ที่
โฆษณา