‘สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ’ หน่วยงานสำคัญในการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย

‘ช้าง’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และสามารถสร้างประโยชน์ให้ผืนป่ามากมาย เช่น สร้างแหล่งน้ำโดยการใช้งาขุดเจาะพื้นดินเพื่อให้สัตว์อื่นๆ มีแหล่งน้ำใช้ หรือการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชในป่าผ่านการขับถ่าย นอกจากนี้ ‘ช้าง’ ยังเป็นสัตว์มังสวิรัติขนาดใหญ่ที่กินอาหารเฉพาะจำพวกพืช เช่น หญ้า ไผ่ อ้อย เป็นต้น...
อย่างไรก็ตามหากกล่าวถึงในบริบทของช้างกับสังคมไทย ‘ช้าง’ นับได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากตั้งแต่ในอดีต เพราะเป็นสัตว์ที่เคียงคู่พระมหากษัตริย์ในการร่วมรบกอบกู้บ้านเมือง หรือการนำรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดงมาใช้เป็นธงชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกได้ว่า ‘ช้าง’ เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและสื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ...
จากความสำคัญของ ‘ช้าง’ ข้างต้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย จึงได้ก่อตั้ง ‘สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ (ส.คช.)’ ขึ้นที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นสถานที่รองรับ ดูแล รักษา และบริบาลช้างเลี้ยงที่เจ็บป่วย พิการ ช้างชรา ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ต่อมา อ.อ.ป. จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการดูแลและบริบาลช้าง ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดกับช้าง เพื่อให้เกิดแนวทางในการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง ไว้เป็นมรดกของประเทศไทย และเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ เกี่ยวกับช้างไทยครบวงจรอีกด้วย
ปัจจุบัน ส.คช. มีช้างที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 100 เชือก โดยแบ่งช้างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มแรก เป็นช้างแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 60 ปี เป็นช้างที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี จะทำงานด้านการท่องเที่ยวและอยู่ในพื้นที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
และกลุ่มสอง เป็นช้างชรา ช้างเจ็บป่วย ช้างดุร้าย ช้างพิการ ช้างบริจาค รวมถึงช้างของกลางที่ถูกจับกุมมาและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งช้างกลุ่มนี้จะได้รับการเลี้ยงดูและพักอยู่ในบริเวณพื้นที่ของศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเปรียบเสมือนบ้างหลังสุดท้ายของช้าง ประกอบกับช้างแต่ละเชือกจะบริโภคอาหาร เฉลี่ยวันละ 6 – 12 %ของน้ำหนักตัว และหากช้างมีอาการเจ็บป่วยจะต้องใช้ปริมาณยามากกว่าการรักษาพยาบาลสัตว์อื่นหลาย 10 เท่า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษา “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยที่เป็นทูตสันทวไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา โดย ส.คช. ได้ดำเนินการนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เข้าพื้นที่เขตเฝ้าระวังกักกันโรค เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากต่างประเทศ 30 วัน ควบคู่กับการตรวจร่างกาย รักษา ฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้น และสร้างความคุ้นเคยกับควาญ และคุณหมอที่จะต้องดูแลเจ้าพลายตลอดไปหลังหมดเวลาช่วงกักกันโรค
สองสามวันมานี้ “พลายศักดิ์สุรินทร์” สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้
อย่างดี นอนหลับ กินอาหาร ขับถ่ายเป็นปกติ อารมณ์ดี ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากผู้ดูแล ขออาหารบ้าง เรียกเล่นบ้าง อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจในการดำเนินงานของ ส.คช. หรืออัพเดตอาการของ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ สามารถติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang
โฆษณา