8 ก.ค. 2023 เวลา 08:57 • อาหาร

ซากุรัมโบ – อัญมณีแห่งฤดูร้อน

ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ลมฝนเริ่มโปรยปราย อากาศเย็นผิวสลับกับลมร้อนที่พัดเอาความชื้นเหนอะหนะตัวเข้ามา เป็นสัญญาณการมาถึงของฤดูร้อน แม้อากาศร้อนและความชื้นสูงจะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากกระดิกตัวออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่กลับกันหลายคนก็เริ่มตั้งตารอชิมของอร่อยในฤดูกาลนี้
โดยเฉพาะต้นฤดูร้อน ช่วงเวลาของ “เชอรี่ญี่ปุ่น – ซากุรัมโบ” ผลสีแดงสด ลูกกลมเล็ก แต่รสชาติเข้มข้นแบบไม่ยอมแพ้ต่อแสงแดดแรงกล้าในช่วงเวลาที่อุณหภูมิระอุที่สุดของปี จนถึงกับมีคนเปรียบเปรยเจ้าเชอรี่นี้ว่าเป็น ทับทิม, อัญมณีที่กินได้
สวนเชอรี่ของคุณเอสุเกะ ซาโต้ ตำนานผู้พัฒนาเชอรี่สายพันธุ์ซาโต้นิชิกิ ถ่ายในปี ค.ศ. 1927 credit : https://satonishiki.com/history
【เชอรี่ – ของอร่อยจากต่างแดน】
ปัจจุบันนี้หากพูดถึงเชอรี่ เกือบทุกคนจะนึกถึง ซาโต้นิชิกิ (佐藤錦) สายพันธุ์เลื่องชื่อจากจังหวัดยามากาตะ ทว่าจริง ๆ แล้ว เชอรี่กลับไม่ใช่ผลไม้ประจำถิ่นในญี่ปุ่นแต่อย่างใด
ถิ่นกำเนิดของเชอรี่คือบริเวณเอเชียตะวันตกเฉียงใต้อย่างตุรกี หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายพันธุ์ไปทั่วยุโรปและอเมริกา Reinhold Gärtner พ่อค้าชาวเยอรมันได้นำต้นกล้าของแอปเปิล, ลูกแพร์ และเชอรี่ อย่างละ 6 ต้น เข้ามาทดลองปลูกที่เมืองฮาโกดาเตะ เกาะฮอกไกโด ในปีเมจิที่ 1 (ค.ศ. 1868)
1
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการทะยอยนำเข้าต้นเชอรี่มากถึง 25 สายพันธุ์ โดยทำแปลงสาธิตในโตเกียว และส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทว่าท้องที่ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกต้นเชอรี่กลับมีเพียงแค่ภูมิภาคโทโฮขุ – ตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และฮอกไกโด
เชอรี่เป็นพรรณพืชที่มีลักษณะพิเศษและข้อจำกัดมากมายในการปลูก แม้จะประสบความสำเร็จในการปลูก แต่ไม่ใช่ว่าจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพในทุก ๆ ปี เนื่องจากเชอรี่ไม่สามารถทนต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็น ลมพายุ ฝน หรือแม้กระทั่งน้ำค้าง นอกจากนี้ยังไม่สามารถติดผลได้กับสายพันธุ์ชนิดเดียวกัน จำเป็นต้องใช้เกสรจากเชอรี่ต่างสายพันธุ์มาผสมเพื่อให้ติดผล
แดงแข่งกับพระอาทิตย์ ซาโต้นิชิกิ - อัญมณีที่กินได้ credit : https://www.visityamagata.jp/topics-yamagata-cherry2020/
【ซาโต้นิชิกิ – ราชาแห่งเชอรี่】
เชอรี่ลูกกลมแดงขนาดราว ๆ เหรียญ 500 เยน ของขึ้นชื่อแห่งยามากาตะคือ เชอรี่สายพันธุ์ซาโต้นิชิกิ ที่ไม่ได้มีดีแค่ขนาด แต่ด้วยรสชาติที่หวานอร่อย อมเปรี้ยวติดปลายลิ้น และเมล็ดด้านในที่เล็กจิ๋ว กลายเป็นผลไม้ประจำฤดูร้อนที่ครองใจคนญี่ปุ่นมาทุกปี และจังหวัดยามากาตะก็กลายเป็นแหล่งผลิตเชอรี่คุณภาพที่ให้ผลผลิตมากที่สุดในญี่ปุ่น ครอบครองสัดส่วนการตลาดมากถึง 75% หรือราว ๆ 13,800 ตัน จากผลผลิตทั่วประเทศ 17,200 ตัน (ข้อมูลปี 2020 จากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น)
【กว่าจะมาเป็นซาโต้นิชิกิ – ความมุ่งมั่นของชายผู้ไล่ตามความฝัน】
จังหวัดยามากาตะเริ่มปลูกเชอรี่โดยได้รับต้นกล้าจากโตเกียวในปีเมจิที่ 8 (ค.ศ. 1875) ปีถัดมา คุณมิจิสึเนะ มิชิมะ (三島 通庸), ปลัดจังหวัดได้นำต้นกล้าเชอรี่จากเกาะฮอกไกโดเข้ามาผสมและทดลองปลูกที่เมืองซากาเอะ แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไรนัก
คุณมิจิสึเนะ มิชิมะ ผู้ที่นำต้นกล้าเข้ามาปลูกในจังหวัดยามากาตะ credit : https://mag.japaaan.com/archives/201283
เมจิปีที่ 20 คุณเซอิง ฮอนดะ (本田 成充) พยามยามปลูกต้นเชอรี่ เพาะขยายพันธุ์จนเต็มพื้นที่ ให้ผลผลิตจำนวนมาก ทว่าผลเชอรี่สดที่มีความเปราะบางกลับเป็นอุปสรรคต่อการส่งไปขายนอกพื้นที่ เขาจึงร่วมมือกับคุณคัมเบ อิโนอุเอะ (井上 勘兵衛) คิดค้นวิธีแปรรูปเชอรี่โดยทำเป็นเชอรี่ในน้ำเชื่อมอัดกระป๋อง และประสบความสำเร็จในการส่งไปขายที่เมืองโยโกฮามา ทำให้เกษตรกรในเมืองซากาเอะหันมาปลูกเชอรี่กันมากขึ้น
ไม่ไกลจากเมืองซากาเอะ คุณเอสุเกะ ซาโต้ (佐藤 栄助) ชายผู้เกิดมาในตระกูลค้าขาย มีกิจการผลิตโชหยุ ทว่าตัวเขากลับมีความสนใจด้านเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตเป็นหนุ่มกิจการที่บ้านกลับเจอวิกฤตหนัก สุดท้ายต้องปิดตัวลง แต่ด้วยสะสมความรู้ด้านการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับมีความสนใจเรื่องเชอรี่เป็นพิเศษ เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการย้ายมาทำเกษตรปลูกต้นเชอรี่ที่เมืองฮิงาชิเนะ พร้อมทั้งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาและขยายสายพันธุ์ไปด้วย
รูปหล่อของคุณเอสุเกะ ซาโต้ หน้าสถานีรถไฟ JR Higashine, credit : https://satonishiki.com/history
ในปีไทโชที่ 1 (ค.ศ. 1912) คุณซาโต้ได้ชักชวนคุณโทซากุ โอกาดะ (岡田 東作) เพื่อนสนิทซึ่งมีความรู้ด้านเกษตรกรรม มาช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์เชอรี่ คุณซาโต้มีความคิดที่จะนำเชอรี่สายพันธุ์นโปเลียนที่มีเนื้อแน่นรสชาติอมเปรี้ยวมาผสมกับสายพันธุ์คิดามะ (黄玉) ที่โดดเด่นเรื่องความหวานหอม แต่เปลือกบางแตกง่าย
ทั้งสองพยายามเพาะพันธุ์ลูกผสมจนกระทั่งได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ต้นแรกในปีไทโชที่ 11 (ค.ศ. 1922) คุณไซโต้ส่งต่อต้นกล้าให้คุณโอกาดะนำไปทดลองปลูกและขยายพันธุ์ ด้วยประสบการณ์งานเกษตรที่ชำนาญของคุณโอกาดะ ทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปด้วยดี
เชอรี่สายพันธุ์เบนิชูโฮ จังหวัดยามากาตะ credit : https://www.visityamagata.jp/topics-yamagata-cherry2020/
คุณซาโต้เองตั้งใจจะตั้งชื่อเชอรี่สายพันธุ์ใหม่ว่า เดวะนิชิกิ (出羽錦) ทว่าเพื่อนสนิทที่ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกันอย่างคุณโอกาดะได้เสนอให้ตั้งชื่อว่า ซาโต้นิชิกิ (佐藤錦) ตามนามสกุลของคุณซาโต้ และคำว่าซาโต้เองก็มีเสียงพ้องกับคำว่า “น้ำตาล” ด้วยเป็นเชอรี่ที่มีรสชาติหวานอร่อยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
หลังจากนั้นในปีโชวะที่ 3 (ค.ศ. 1928) คุณโอกาดะก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในการเพาะและขายต้นกล้าเชอรี่สายพันธุ์ซาโต้นิชิกิ ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วประเทศญี่ปุ่นก็ได้รู้จักเชอรี่รสอร่อยจากจังหวัดยามากาตะ
เบนิซายากะ อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาโดยจังหวัดยามากาตะ credit : https://www.visityamagata.jp/topics-yamagata-cherry2020/
ปัจจุบันเชอรี่รสอร่อยไม่ได้มีแค่ซาโต้นิชิกิ จังหวัดยามากาตะได้พัฒนาสายพันธุ์เชอรี่มาอย่างต่อเนื่อง โดย 7 สายพันธุ์ที่กลายมาเป็นที่นิยมได้แก่
"ซาโต้นิชิกิ - 佐藤錦"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง นโปเลียนกับคิดามะ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดเล็ก ผิวสวยสีแดงอมเหลือง
"นันโยว - 南陽"
พัฒนาสายพันธุ์มาจากนโปเลียน มีรสหวาน เนื้อในใสคล้ายสีน้ำผึ้ง
"เบนิชูโฮ - 紅秀峰"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง ซาโต้นิชิกิกับเทนโคนิชิกิ ผลใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหวาน
เบนิยุทากะ สายพันธุ์น้องใหม่ ที่ต้องอาศัยความเร็วในการกดลงตะกร้า เพราะหมดไวมาก credit : https://todoku-yo.net/products/beni-yutaka
"เบนิซายากะ - 紅さやか"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง ซาโต้นิชิกิกับเซเนกะ ผลสีแดงก่ำ อมเปรี้ยว รสชาติคล้ายซาโต้นิชิกิแต่หวานน้อยกว่า
"เบนิเทมาริ - 紅てまり"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง BIG กับซาโต้นิชิกิ ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างแน่น มีรสหวานจัด
"เบนิคิราริ - 紅きらり"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง Rainier กับ Compact Stella ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ สีแดงเข้ม รสหวานอร่อย
"เบนิยุทากะ - 紅ゆたか"
สายพันธุ์ผสมระหว่าง BIG กับ C21-7 สายพันธุ์น้องใหม่ล่าสุด โตเร็ว ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ กลมสวย
ของดี ของอร่อย ของขึ้นชื่อประจำจังหวัดยามากาตะ ฤดูกาลรับประทานเชอรี่มีแค่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมเท่านั้น credit : https://satonishiki.com/cultivate
แม้ว่าเชอรี่จะไม่ได้เป็นไม้ผลประจำถิ่นของญี่ปุ่น แต่ด้วยความมุ่งมั่นและพัฒนาสายพันธุ์อย่างไม่หยุดยั้งมากว่า 150 ปี ทำให้ปัจจุบันเชอรี่โดยเฉพาะสายพันธุ์ซาโต้นิชิกิได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รสชาติหวานอร่อยมีเอกลักษณ์ทำให้มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี
※Credit รูปหน้าปก : https://satonishiki.com/cultivate
โฆษณา