13 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ท่องเที่ยว
มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์

“บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี”

น้ำพักน้ำแรงจากการรับราชการ สู่ศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
อีกหนึ่งบ้านโบราณในย่านเก่าแก่ริมถนนนครสวรรค์อันทรงคุณค่า ก่อสร้างขึ้นได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการรับราชการของผู้เปรียบดั่งบิดาแห่งการวางรากฐานการศึกษาไทย
1
วันนี้ เป็นอีกคราที่ #ที่โปรด จะพาทุกท่านเปิดกลอนประตูเข้าไปดูความสวยงามของ “บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” ที่ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้ศึกษา แต่ยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านศิลปะอีกด้วย
📌 แรกเริ่มก่อสร้าง
คฤหาสน์ยุโรปโบราณแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2442 หลังจากที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหวังเป็นเรือนหอของท่านและภรรยาของท่านเอง โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นามเดิม นายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของบ้านโบราณแห่งนี้ ถือเป็นบุคคลสำคัญผู้วางรากฐานการศึกษาไทย
ท่านเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มการเล่นกีฬาฟุตบอลตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬาในนามของ “ครูเทพ” อีกด้วย
📌 สรรค์สร้างออกแบบ
นายมาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถเป็นผู้ออกแบบบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแห่งนี้ ที่โปรดเชื่อว่าผู้อ่านคงคุ้นชื่อนายมาริโอ ตามาญโญ กันเป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นสถาปนิกคนสำคัญผู้ออกแบบอาคารยุโรปที่สำคัญมากมายในพื้นที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ โบสถ์ซางตาครู้ส และอีกหลากหลาย
บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนั้นถือได้ว่ามีความงดงามตามแบบฉบับอาคารยุโรป โดยตัวอาคารนั้นตึกก่ออิฐผสมปูน หรือเรียกได้ว่าเป็นแบบครึ่งอิฐครึ่งไม้ มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล หรือที่รู้จักกันในนามของสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม อันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ภายในตกแต่งอย่างเรียบง่าย ไม่มีการประดับประดาอะไรมากนัก แต่ให้บรรยากาศของความอบอุ่นคล้ายคลึงกับบ้านของคุณปู่คุณย่าที่หลานๆ อย่างเราเฝ้ารอจะไปเยี่ยมเยียนในทุกๆ วันหยุดเสียทีเดียวเชียว
ภายในตัวอาคารกล่าวได้ว่ามีความปลอดโปร่งยิ่งนัก หน้าต่างล้อมรอบบ้านเป็นแบบบานเกล็ดไม้สัก เหนือหน้าต่างมีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเท โดยมีรายละเอียดเล็กๆ อย่างการฉลุไม้ตามรูปแบบขนมปังขิงเรียบๆ ดูอ่อนหวานน่ามอง การกั้นแบ่งผนังห้องมีการใช้ไม้ทำเป็นช่องลูกฟัก ด้านบนสุดจะเป็นช่องลมโปร่ง ให้ความรู้สึกโล่งสบาย
📌 ฟื้นคืนชีพอีกครา
หลังจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีถึงแก่อนิจกรรมแล้ว อาคารหลังนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสตรีจุลนาคโดยบุตรสาวทั้งสองของท่าน แต่ถึงกระนั้น หลังจากที่โรงเรียนปิดไป บ้านโบราณอันทรงคุณค่าแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้นานนับหลายปี
จนเมื่อปีพุทธศักราช 2562 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในนามของ “Bangkok 1899” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านศิลปะ โดยบูรณะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ผู้คนทั่วไปได้จัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวมต่างๆ อีกทั้งชั้นบนของตัวอาคารยังเปิดเป็นที่พักให้ศิลปินต่างชาติได้เข้าพักผ่อน แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้าพักจะต้องทำการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศิลปะกับบุคคลอื่นๆ กล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดการยกระดับในเรื่องของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปะที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกัน “Na Cafe” คาเฟ่เพื่อสังคมที่หอมกรุ่นไปด้วยกาแฟออร์แกนิกพันธุ์ไทยได้ถูกสรรค์สร้างขึ้นภายในบ้านโบราณเก่าแก่แห่งนี้ ที่น่าสนใจของคาเฟ่นี้คือ ทางร้านจัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่อยากจะหยิบยื่นโอกาส โดยมีการเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนเปราะบางได้เข้ามาฝึกงานภายในร้าน อีกทั้ง Na Cafe ยังดำเนินการภายใต้แนวคิด Zero waste ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
📌 ปัจจุบันนี้นอกจากจะผันแปรจากมรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามาเป็นศูนย์รวมแห่งศิลปะแล้ว “บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” ยังเป็นศูนย์รวมแห่งแรงบันดาลใจ และความช่วยเหลือของเพื่อนมนุษย์ ได้เปลี่ยนแปรไปเป็นแหล่งที่แบ่งปันประโยชน์จากพื้นที่อันกว้างขวางได้อย่างไม่รู้จบ
ที่มา : หนังสือชมบ้านโบราณ ชิมของอร่อย
#บ้านโบราณ #บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี #ที่โปรด #ผู้กำกับน้อย
โฆษณา