12 ก.ค. 2023 เวลา 15:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นานมาแล้ว เคยอ่านประวัติคนคนนึงโดยบังเอิญ แต่กระแทกใจอย่างแรง กับเรื่องราวของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนนึงของอินเดียและชาวพุทธ
“ ดร. ภีมราว รามชี อัมเพทการ์ “
เขาผู้มาจากวรรณะ “จัณฑาล” แต่สามารถทะยานขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของประเทศ เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทลายระบบวรรณะที่เคยทำให้เค้าเจ็บปวดมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญที่สุด เป็นผู้ฟื้นคืนชีพพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากพระพุทธศาสนาหายไปจากอินเดียอย่างยาวนาน
สิ่งที่กระแทกใจอย่างแรงคือเรื่องราวของ”ระบบวรรณะ”ในอินเดียที่รู้มาว่ามีวรรณะ แต่ไม่เคยรู้ว่าระบบวรรณะ ทำให้มนุษย์ปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันได้ถึงขนาดนี้
ชีวิตที่ถูกดูแคลนเหยียดหยามไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เช่น
* โดนไล่ลงจากเกวียนที่ว่าจ้างเพียงเพราะรู้ว่าเป็นจัณฑาล
* ช่างตัดผมที่ยินดีตัดผมให้ทุกคน แต่จะไม่ยอมให้กรรไกรแตะต้องผมของพวกจัณฑาล
* เป็นนักเรียนที่ไม่มีสิทธิ์อ่านโคลงกลอน ภาษาสันสกฤต เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เพราะเป็นภาษาที่สงวนให้ชนชั้นสูงเท่านั้น
* ครูประจำชั้นไม่ยอมให้แตะต้องสมุด หนังสือ หรือแม้แต่เดินเฉียดมาใกล้ เพียงเพราะมีความเชื่อว่าเป็นตัวเสนียดจัญไร ที่ใครเข้าใกล้แล้วจะมีมลทิน
* ไม่มีสิทธิ์ไปตักน้ำดื่มด้วยตัวเองเพราะจะทำให้บ่อน้ำอัปมงคล
* หากทนกระหายไม่ได้ต้องเป็นฝ่ายขอร้องเพื่อนที่มีใจเมตตาตักให้แล้วค่อยๆรินน้ำลงใส่ปากตัวเองอย่างระวังไม่ให้ส่วนใดถูกภาชนะ หรือถูกตัวเพื่อน
* ไม่ว่าเดินไปทางไหนฝูงชนจะแตกเป็นทาง พร้อมเสียงสาปแช่งก่นด่า
เพราะต้องทนอยู่กับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมในทุกเรื่องแบบนี้เอง เขาจึงเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
สักวันนึงเราจะต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นไปเพื่อให้พ้นจากภาวะอันต้อยต่ำนี้ให้ได้
ในการที่จะทำเช่นนั้นได้มีวิธีเดียว
คือต้องตั้งไจเรียนให้ถึงที่สุด
เพราะด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ
และปณิธานที่ก่อรูปขึ้นในใจอย่างเงียบๆนี่เอง ที่ส่งผลให้เขากลายเป็นเด็กเรียนดีที่สอบได้คะแนนสูงสุดทุกวิชาในทุกภาคการศึกษา ได้รับทุนการศึกษาและสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก จากในประเทศและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 7 ปริญญา
เขากลับมาและอุทิศตัวทำงาน มีชื่อเสียงในฐานะนักปฏิรูปสังคมผู้ต้องการทำลายระบบวรรณะให้หมดไป
จนวันหนึ่งเมื่อเห็นว่าได้เวลาเหมาะสมแล้ว เขาจึงประกาศทำพิธีเผาคัมภีร์ “ มนูธรรมศาสตร์”ที่กำหนดให้มีระบบวรรณะ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับคนจำนวนมหาศาลในอินเดีย
เขากล่าวสรุปในตอนท้ายว่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
คนเราไม่ใช่ดีเพราะโคตร
ไม่ใช่ดีเพราะตระกูล
ไม่ใช่ดีเพราะทรัพย์
แต่จะดีหรือชั่ว
อยู่ที่การกระทำของบุคคลนั้นๆ
เขายังก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา 2 แห่งเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่คนจากทุกวรรณะ ได้มีโอกาสเข้ามารับการศึกษาได้อย่างเสมอภาคกัน
และในที่สุด เขาก็ได้ทำหน้าที่ปลดปล่อยคนอินเดียให้เป็นอิสระจากระบบวรรณะ ด้วยการเขียนในรัฐธรรมนูญอินเดียที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ตอนหนึ่งว่า
ไม่ให้ประชาชนชาวอินเดีย
มีการเลือกปฏิบัติต่อกันและกัน
ด้วยเหตุผลทางวรรณะ
และวรรณะจัณฑาลนั้น
ก็ให้ยุบทิ้งเสียให้สิ้นซาก
หลังจากนั้นเขาก็หันกลับมาทำงานปลดปล่อยคนจัณฑาล ให้เป็นอิสระอีกทางหนึ่ง ด้วยการประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เป็นประธานทำพิธีปฏิญญาณตนเป็นพุทธมามกะที่มีคนจัณฑาลเข้าร่วมปฏิญาณตนหลายแสนคน
เขาได้รับการยกย่องจากมหาชนว่า “เป็นผู้เปิดประตูดินแดนภารตะเพื่อนำพระพุทธศาสนาคืนมาตุภูมิ”
พระพุทธศาสนาที่เลือนหายไปจากอินเดียกว่า 1500 ปีจึงมีโอกาสกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งในยุคสมัยของ ดร. อัมเพทการ์นี่เอง
โฆษณา