16 ก.ค. 2023 เวลา 13:30 • ธุรกิจ

‘ป.อุบล’ หมูยออร่อยที่สุด! กลยุทธ์ขยายธุรกิจอาหารแปรรูป เจาะตลาดผู้บริโภคคนเมือง

‘ป.อุบล’ ธุรกิจครอบครัว (Family business) ก่อตั้งโดยคุณประยงค์ เหรียญรักวงศ์ (พ่อ) ผู้มีแนวคิดธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล เช่น เนื้อกุ้ง เนื้อปลา เนื้อปู และสินค้าทะเลอื่น ๆ ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางหน้าร้าน
อาทิ แฮ่กึ๊น ฮ่อยจ๊อ จำหน่ายในตลาดสด เริ่มต้นทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนในปี 2519 ชื่อร้าน มหาชัยวาริน ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นแบรนด์ ป.อุบล ที่ได้ชื่อว่าเป็น แบรนด์หมูยอที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอุบลฯ เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ (47 ปี)
ที่ได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายสินค้ากว่า 50 รายการ โดยได้รับรางวัลการันตีความอร่อยระดับประเทศมากมาย
คุณสมนึก เหรียญรักวงศ์ ผู้ดูแลในส่วนโรงงานและกระบวนการผลิต ตลอดจนซัพพลายวัตถุดิบทั้งหมดให้ร้าน ป.อุบล สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีธุรกิจร้านของฝากในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 9 สาขา มองว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของแบรนด์ ป.อุบล เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ธุรกิจได้ขยายเป็นโรงงาน และพัฒนาการผลิตให้ทันสมัยมากขึ้น
โดยปรับแผนผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งตอนนั้นจำหน่าย กุนเชียง แฮ่กึ๊น ฮ่อยจ๊อ ไก่จ๊อ แหนม หมูเด้ง ต่อมาในปี 2548 เริ่มผลิต ‘หมูยอ’ ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นสินค้าเรือธงที่ทำให้ ป.อุบล มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
ในปี 2555-2556 ‘หมูยอ’ ร้าน ป.อุบล ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 งานเกษตรแห่งชาติ การันตีว่าเป็นแบรนด์หมูยอที่อร่อยระดับโอทอป 5 ดาวของจังหวัดอุบลฯ ทั้งยังมีรางวัลการันตีความอร่อยอีกมากมาย อาทิ ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว หลายสมัย และได้นำจุดเด่นนี้มาพัฒนาจนเป็นจุดขายถึงปัจจุบัน
📌‘เคล็ดลับ’ ความอร่อย
เริ่มจากการผลิตที่เน้นวัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ ไม่ใส่แป้ง ใส่ใจ ‘รสชาติความอร่อย’ มากกว่าการลดต้นทุนผลิต มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย รักษาคุณภาพสม่ำเสมอ เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีมาตรฐาน GMP และ HACCP
และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย อาทิ บอแรกซ์และสารกันเสียต่าง ๆ ด้วยมาตรฐานดังกล่าวจึงสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้
คุณสมนึก บอกเคล็ดลับว่า ป.อุบล นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาสร้างมาตรฐานการแปรรูปสินค้า ตลอดจนมีการวัดค่าต่าง ๆ และทดสอบทุกรอบการผลิต เป็นเคล็ดลับความอร่อยที่ทำให้ถูกปากคนไทยทั่วประเทศ
แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านการพบปะลูกค้าและออกงานแสดงสินค้าทั่วประเทศมานับสิบปี ได้รับคำติชมจากลูกค้ามากมาย และได้นำมาปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาสูตรและรักษาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอจน ป.อุบล เป็นร้านของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับสูตรหมูยอ ป.อุบล นับเป็นสูตรลับเฉพาะที่เป็นการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์และการถนอมอาหารต่าง ๆ มายาวนาน กับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารสมัยใหม่ โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่อุบลราชธานี รวมทั้งปัจจุบันกำลังสร้างโรงงานการผลิตแห่งที่ 3 เพื่อขยายตลาดของฝากท้องถิ่นอื่น ๆ เพิ่มเติม
📌เจาะตลาดของฝากเมืองกรุง
คุณสมหมาย เหรียญรักวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งดูแลแบรนด์ ป.อุบล ในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑล กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2550 ได้วางแผนนำแบรนด์ ป.อุบล รุกตลาดในกรุงเทพฯ โดย 2-3 ปีแรกเน้นนำสินค้ามาแสดงและจำหน่ายในงานโอทอป
เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของ ป.อุบล เช่น หมูยอ ไส้กรอกอีสาน แหนมกระดูกอ่อน แหนมใบมะยม กุนเชียง หมูสวรรค์ เนื้อสวรรค์ หมูหยอง แต่สินค้าที่มีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้ามากที่สุด คือ ‘หมูยอ’ ซึ่งแบรนด์ ป.อุบล ที่ลูกค้ายกย่องว่าเป็นหมูยอที่อร่อยที่สุดในประเทศ
“รางวัลความอร่อย จึงเป็นเหมือนใบเบิกทาง ตอนออกงานแสดงสินค้าโอทอปจะมีโชว์ ‘โบแดงหมายเลข 1’ สัญลักษณ์ของรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงานเกษตรแห่งชาติ โดยแบรนด์ได้ออกแบบโบแดงขนาดประมาณ 2 เมตร นำมาติดไว้ที่บูทแสดงสินค้าเป็นจุดเด่นชัดเจน
ช่วงออกงานโอทอป หมูยอ ป.อุบล เป็นสินค้าขายอันดับ 1 ประเภทอาหาร โดยเทคนิคในการขายสินค้า คือ ‘ให้ลูกค้าทดลองชิม’ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าที่เดินผ่านอาจไม่ได้ต้องการซื้อ แต่เมื่อได้ทดลองชิมแล้วอร่อย ก็วนกลับมาซื้อ แบรนด์ของเราเชื่อมั่นอย่างมากว่าสินค้าต้องถูกปากลูกค้าจนนำไปสู่การซื้อในที่สุด”
📌นำ ‘ป.อุบล’ เข้าโมเดิร์นเทรด
ภายหลังสร้างชื่อจากการออกงานโอทอป มีห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามาติดต่อไปร่วมธุรกิจ ด้วยข้อเสนอในการให้พื้นที่ห้างเพื่อจัดโปรโมชั่นสินค้า หรือให้พื้นที่นำสินค้าไปวางจำหน่าย ทั้งนี้ จึงผลักดันสินค้าหลัก อาทิ หมูยอ กุนเชียง แหนม จำหน่ายใน Top Supermarket
โดยจัดแสดงในพื้นที่แนะนำสินค้าด้านหน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน (Super Out) ที่แยกส่วนจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต (Super In)
นอกจากนี้ ป.อุบล ต้องการกระจายสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดในเขตปริมณฑล เพื่อให้ลูกค้ารู้จัก ป.อุบล ให้มากที่สุด จึงร่วมมือกับห้างเดอะมอลล์ เพื่อจัดรายการและส่งเสริมการขายสินค้าในห้างอีกด้วย
📌แบรนด์ของฝากภูธร รุกตลาดคนกรุง
คุณสมหมาย มองว่าการตลาดของ ป.อุบล ในเมืองหลวง ช่วงแรกต้องเน้นนำเสนอสินค้าในรูปแบบของฝาก จากนั้นจึงพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ ก๋วยจั๊บญวน ยำหมูยอ ยำแหนม ขนมปังปาเต๊ะ มาจำหน่ายในร้านของฝากด้วย
เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้ลูกค้า ส่วนนี้จะมีการพัฒนาสูตรน้ำยำขึ้นมาเป็นรสชาติกลาง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปรุง และรับประทานได้ทุกเพศ ทุกวัย
สำหรับแนวคิดของแบรนด์ คือเลือกจะไม่วางสินค้าในชั้นวางของซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงแรก เนื่องจากต้องการแนะนำสินค้าให้ผู้สนใจได้ทดลองชิมก่อน โดยใช้พื้นที่จัดโปรโมชั่นในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จัดรายการแนะนำสินค้า
ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าจะต้องชอบสินค้า ป.อุบล และที่ผ่านมาไม่ได้เน้นใช้เงินเพื่อลงโฆษณาในสื่อ แต่จะใช้วิธีการนำเสนอสินค้าส่งตรงถึงผู้บริโภคตัวจริง ให้ได้ทดลองรับประทาน
คุณสมหมาย ยอมรับว่า แม้ว่าการเลือกวางสินค้าบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตปกติทั่วไป ข้อดีคือไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้าง PC (Product Consultant) มาแนะนำและขายสินค้า ทั้งยังสามารถให้ทางห้างกระจายสินค้าให้ได้
แต่ข้อเสีย คืออาจจะทำให้ขาดความมั่นใจในข้อมูลด้านการตลาดของแบรนด์ เช่น จะทราบได้อย่างไรว่า ลูกค้าซื้อหมูยอไปแล้วจะกลับมาซื้ออีกหรือไม่? วิธีที่แบรนด์เลือกใช้พื้นที่จัดโปรโมชั่นของห้าง อาจจะมีต้นทุนในด้านบุคลากร และการดำเนินการต่าง ๆ สูงกว่า แต่ถือเป็นการสร้างกลไกตลาดที่แท้จริงในการจำหน่ายสินค้า
“ดังนั้น ช่วงแรก ป.อุบล จึงเน้นการแนะนำเพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ (Brand awareness) เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯ และดีมานด์ในตลาดเกิดขึ้นได้แล้ว ก็สามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องเน้นการจัดโปรโมชั่น หรือส่งเสริมการขาย เพราะเชื่อว่าเมื่อผ่านมาระยะหนึ่งผู้บริโภคในกรุงเทพฯ จะจดจำแบรนด์และเลือกซื้อเรา”
ปัจจุบัน สินค้าป.อุบล วางจำหน่าย อาทิ Top Supermarket และห้างสรรพสินค้า ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ
📌เปิดร้าน Stand Alone ภายในปั๊ม
คุณสมหมาย กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ทำให้ต้องคิดใหม่ว่า อาจจะต้องหาพื้นที่จำหน่ายสินค้า ‘นอกห้าง’ โดยตอนนั้นเจรจากับทางปั๊มน้ำมัน ปตท.
และด้วยชื่อเสียงที่ดีของ ป.อุบล จึงได้เป็น Exclusive Brand ของร้านค้าในปั๊มน้ำมัน ปตท. สามารถจำหน่ายได้ในปั๊มน้ำมันทุกสาขา และได้สิทธิพิเศษ อาทิ ได้ดูข้อมูลเชิงลึกในด้านต่าง ๆ ก่อนที่ปั๊มจะเปิดสาขา ได้สิทธิ์เลือกทำเลก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการทั่วไปจะได้เลือกทำเลภายหลังจากที่ปั๊มน้ำมันเปิดบริการแล้ว
พร้อมกับการพัฒนาร้าน ป.อุบล ที่เป็น Stand Alone ภายในปั๊ม ปตท. เน้นจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารให้มากขึ้น อาทิ อาหารพร้อมทาน (Ready to eat) เมนูของกินเล่น อาทิ แฮ่กึ๊นทอด ฮ่อยจ๊อทอด ที่เป็นสูตรดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ
หรืออาจจะเรียกว่าเป็นเมนู ‘อาหารเวียดนาม’ ที่นอกจากก๋วยจั๊บญวนแล้ว ยังมีขนมปากหม้อญวน เมี่ยงสด แหนมเนือง เมี่ยงทอด เป็นเมนูที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของ ป.อุบล ทั้งหมด
ร้าน ป.อุบล ที่เปิดเป็น Stand alone ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.ปัจจุบันมี 6 สาขา สาขาแรกคือที่จังหวัดนครปฐม สาขา 2 อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเปิดในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นขยายไปจังหวัดฉะเชิงเทรา
และล่าสุดคือบางกรวย นนทบุรี สัดส่วนยอดขายจะไปทางห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 70% และ Stand alone ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.ประมาณ 30%
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมยอดขายในส่วนของห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตจะมากกว่า เนื่องจากสาขาที่มากกว่า แต่หากพิจารณาจากผลกำไร และโอกาสในการขายสินค้ารายการอื่น ๆ ร้านอาหารที่เปิดเป็น Stand alone จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
คุณสมหมาย กล่าวว่า การนำสินค้าของฝากมาขายที่กรุงเทพฯ นับเป็นเรื่องท้าทาย การทำอาหารที่เป็นของพื้นถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อของฝากหรือรับประทานอาหารในร้าน เคล็ดลับง่าย ๆ คือพอลูกค้าได้รับประทานแล้วอร่อย ก็ต้องอยากซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือซื้อเป็นของฝากนั่นเอง
📌มองอนาคตธุรกิจแบรนด์ ป.อุบล
คุณสมหมาย กล่าวอีกว่า อาจด้วยแนวคิดการทำธุรกิจแบบคนไทยเชื้อสายจีนที่สอนว่า ไม่ควรไปร่วมหุ้นทำธุรกิจกับใคร แต่ควรพยายามทำด้วยตัวเอง ดังนั้น แม้บางขณะธุรกิจประสบปัญหาก่อนหน้านี้ คือ ยอดขายลดลงอย่างมาก
เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 แต่เราพยายามประคับประคองธุรกิจโดยการหาแหล่งสินเชื่อเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานให้อยู่กับเราต่อไป แม้ช่วงนั้นแทบจะไม่มียอดขายก็ตาม
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ตลาดเริ่มกลับมา แบรนด์สามารถกลับมามียอดขายและผ่านพ้นวิกฤติ พร้อมจะรุกตลาดเมืองหลวงและเขตปริมณฑลด้วยของดีจากจังหวัดอุบลราชธานีได้อีกครั้ง
รวมทั้งการรุกเปิดสาขา Stand alone ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.และปั๊มบางจากที่เตรียมจะขยายอีก 3 สาขาภายในปีนี้ โดยเปิดเป็นโมเดลคู่กัน คือ ก๋วยจั๊บญวน By ป.อุบล
นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะเปิดร้านอาหารแนวร้านข้าวแกง ที่รับประทานง่าย สะดวก รวดเร็ว สำหรับนักเดินทางที่มาแวะปั้มน้ำมัน ชื่อร้าน ข้าวแกงครัวสยาม จำนวน 2 สาขาปั๊มน้ำมัน ปตท. ควบคู่ไปด้วย
สำหรับแนวคิดการเปิดแฟรนไชส์ ปัจจุบันมองว่ายังต้องมีการสร้างมาตรฐานที่มั่นคงเสียก่อน อาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง ขณะที่ล่าสุด ป.อุบล ได้ทำงานร่วมกับห้างแม็คโคร เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนการทำการตลาดร่วมกันเพื่อพัฒนายอดขายให้ดียิ่งขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่แบรนด์ต้องการไม่ใช่แค่นำของไปวางขาย แต่ต้องการทำการตลาดให้โตไปด้วยกัน
ติดตามข้อมูลแบรนด์ ป.อุบล เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา