19 ก.ค. 2023 เวลา 13:46 • หนังสือ

อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีสามภพชาติ

นักอ่านที่ชอบบทกวีล้วนต้องรู้จักชื่อและผลงานของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้ประพันธ์ “ปณิธาณกวี” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาท่านได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี ๒๕๓๒
.
หนังสือ “อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีสามภพชาติ” เป็นหนังสือที่รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวกับท่านและผลงานต่าง​ๆ​ อย่างละเอียดน่าอ่านมากอีกเล่มหนึ่ง
.
ท่านอังคารเป็นชาว จ. นครศรีธรรมราช โดยกำเนิด​ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยเดิม (ไชยา) คนปักษ์ใต้ต่างรู้ว่านับจากชุมพร สุราษฎร์ เรื่อยลงไปจนสุดปลายแหลมมลายูถึงบุโรพุทโธ อินโดนีเซี​ย​นั้น​ เชื่อกันว่า นี่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ลัทธิลังกาวงศ์เกิดขึ้น ครอบครัวคนใต้ก็จะเลี้ยงดูบุตรธิดาให้อยู่ในศีลธรรม
.
พ่อของท่านเป็นกำนัน และอยากให้ชื่อ 'สมประสงค์'​ แต่ย่าตั้งชื่อใหม่ว่า 'บุญส่ง'​ เพราะเมื่อยังเยาว์วัยท่านเคยป่วยหนักสองครั้งแต่ก็รอดชีวิตมาได้
.
สดุดีอยุธยา
ในวัยเด็กท่านจะเรียนได้คะแนนดีสองวิชาคือ การวาดเขียน และวรรณคดีไทย ครั้นเมื่อเติบโตและย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง​ และมหาวิทยาลัยศิลปากรในกรุงเทพฯ
.
บางช่วงชีวิตท่านยากไร้ลำบากและต้องอาศัยวัดเป็นที่พักพิง และภายหลังก็ออกจากสถานศึกษาแห่งนั้นได้ใช้ชีวิตอิสระเรียนรู้ชีวิต และยังเขียนรูปอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เคยละทิ้งงานบทกวี ...
.
วันหนึ่งท่านได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อตนเองใหม่ ไม่คิดส่าต้องรอให้บุญส่งคอยส่งตัวเองแต่ต้องใช้ความสามารถของตนเองจะดีกว่า จึงเลือกใช้ชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ว่า อังคาร ซึ่งหมายถึงขี้เถ้าจากกระดูกคนตายที่เผาแล้ว มิใช่ชื่อของดาวอังคารที่สูงส่งแต่อย่างใด และใช้ อังคาร กัลยาณพงศ์ ตลอดมา
.
ท่านอังคารเสียชีวิตเมื่อ​ปี​ พ.ศ.​ ๒๕๕๕ ชีวิตของท่านน่าศึกษาอย่างยิ่ง ใครที่ชอบผลงานภาพวาดของท่านก็จะได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตของกวีท่านนี้ด้วย ในเล่มนี้ยังมีประมวลภาพจิตรกรรม สีฝุ่น-เกรยองของท่าน รวมทั้งผลงานกวีนิพนธ์ร้อยแก้วร้อยกรองเรื่องต่าง ๆ เช่น ร้อยแก้วเรื่อง "แววตาของเวลา," บทนิพนธ์ร้อยกรอง "ดูถูกศิลปะ," บทกวีนิพนธ์ร้อยกรอง "แด่ท่านพุทธทาส"
.
เนื้อหาอื่น ๆ ในเล่มนี้ก็คือ
- แลหลังภาพชีวิต อังคาร กัลยาณพงศ์
- ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ สมาชิกหมายเลข ๑ ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
- สุนทรียศาสตร์ทางศิลปะกับอังคาร กัลยาณพงศ์ ปีการศึกษา ๒๔๙๘ รุ่นที่ ๔ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ท่านอังคาร จิตกร กวี ผู้กลับชาติมาเกิดฯ
- บทสัมภาษณ์พิเศษกวีศรีอยุธยา
ฯลฯ
.
เปรียบเทียบระหว่างอังคารและกวีต่างชาติ
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีที่ใช้ชีวิตอิสระ และวาดรูป ไม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานใดๆ ในสังคม เป็นกวีที่ไม่มีเงินเดือนกิน ท่านเคยพูดเปรยๆ ให้ได้ยินว่า "กวีต้องไปรับเงินเดือนที่ดวงจันทร์ นั่นหมายถึงว่า ชาตินี้ไม่มีหวัง ต้องไปรับเอาโลกอื่นหรือโลกหน้า ความหมายของท่านที่ว่า ชาติหน้าจะมาเกิดเป็นกวีอีกสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ก็คือ ชีวิตจิตวิญญาณของท่านมอบหรืออุทิศให้แก่กวีทุกภพชาติ" (น.๒)
.
หนังสือ “อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีสามภพชาติ” ยังมีบทกวีที่ท่านได้ประพันธ์ไว้เกี่ยวกับความรัก แต่ทว่าเป็นความรักที่ไม่สมหวัง เมื่อครั้งท่านยังเป็นหนุ่มได้เคยรักชอบหญิงสาวคนหนึ่งแต่ไม่ได้ลงเอยกัน
.
บทกวีนี้มีชื่อว่า “เสียเจ้า” ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่ทุกข์ระทมใจจากความพลาดหวังในความรักและหญิงที่เป็นที่รักในช่วงเวลานั้นได้อย่างลึกซึ้งละเมียดละไม มีความไพเราะอย่างยิ่ง ผู้อ่านหลายท่านเคยได้ยินได้อ่านมาบ้างแล้ว ขอนำเสนอบทกวี “เสียเจ้า” เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสรับรู้ความทุกข์ในใจของผู้แต่งด้วยกัน
๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย
๏ จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
๏ หากเจ้าอุบัติบนสรวงสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟ เราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ
๏ แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกาลปาวสาน
แม้นชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา
๏ ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย
หญิงสาวผู้เป็นที่มาของบทกวีเลื่องชื่อ “เสียเจ้า” นี้ ปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นสตรีสูงวัยใจดีที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนักศึกษาหน้าใสจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
.
หนังสือ “อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีสามภพชาติ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของกวีท่านนี้ไว้อย่างละเอียด มีเนื้อหาสมบูรณ์ทั้งประวัติของท่าน ผลงานที่เป็นภาพวาดและบทกวี และรูปภาพของท่านในช่วงวัยต่าง ๆ
.
ในภาคผนวกมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงในแวดวงวรรณศิลป์ วิชาการ และสื่อสารมวลชน ต่างเอ่ยถึงท่าน เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศ. คุณหญิงจินตา ยศสุนทร, อุชเชนี, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เจตนา นาควัชระ, สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, ศ.ระพี สาคริก ฯลฯ
.
ขอนำเสนอความเห็นบางส่วนที่บุคคลต่าง ๆ กล่าวถึงท่านอังคารเป็นตัวอย่าง ประกอบเช่น
.
📚 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
“คนไทยที่เขียนบทกวีแบบจีนและญี่ปุ่น คือมุ่งให้ความงามตางามใจเป็นคนแรก เห็นจะได้แก่คุณอังคาร กัลยาณพงศ์ กาพย์กลอนหรือโคลงของคุณอังคารนั้น หากจะพิมพ์ก็ควรกัดบล็อกพิมพ์ให้เห็นความงามแห่งตัวหนังสือที่คุณอังคารเขียนนั้นด้วย หรือมิฉะนั้นก็เอาใส่กรอบไว้เกิดผล เท่ากับภาพเขียนดี ๆ หนึ่งภาพ แต่ถ้าเอามาเรียงพิมพ์แบบกวีของคนอื่นแล้ว ความงามทางตาก็หายไป เหลือแต่ผลทางใจเท่านั้น” (น.๓๕๓)
.
📖 ศ. คุณหญิงจินตา ยศสุนทร
“อังคาร กัลยาณพงศ์ เขาไม่ใช่คนธรรมดานะ เป็นความยิ่งใหญ่ ซึ่งในศตวรรษหนึ่งเกิดขึ้นหนเดียว ต้องยอมรับนะ ถ้าคุณอ่านงานของเขาขนลุกเชียว” (น.๓๕๓)
.
บมสัมภาษณ์เปิดใจ
📚สุลักษณ์ ศิวรักษ์
“ผมประทับใจสิ่งวิเศษของนครศรีธรรมราช คือมีอังคาร กัลยาณพงศ์ ผมไม่ตื่นเต้นนักการเมืองหรือเศรษฐี ผมตื่นเต้นกวีและศิลปิน หากเศรษฐีตายสิ่งของก็เป็นของลูกหลานเขา ทางการเมืองก็กอบโกยอำนาจ แต่อังคารให้ความงาม ความไพเราะ
อังคารนอกจากเนรมิตศิลปะจิตรกรรมและวรรณกรรมร่วมสมัยแล้ว ยังสามารถล้วงลึกลงไปในความเป็นไทย ไม่เฉพาะแค่ไทยใต้ ไทยกลาง ศรีอยุธยา ธนบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ศรีสัชนาลัย อังคารฟ้องซากปรักหักพังอย่างมีชีวิตชีวา ให้เราเห็นความอลังการของอดีต เขาสามารถเชื่อมอดีตมาถึงปัจจุบัน ถ้าเข้าใจอังคารก็จะภูมิใจในปัจจุบันภูมิใจในอดีต และจะหาทางสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อไปในอนาคต...” (น.๓๕๔)
.
เมื่อได้หยิบมาอ่านใหม่ก็ยิ่งรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งแก่การอ่านเพื่อเข้าถึงอรรถรสของกวีนิพนธ์ ซึ่งนักอ่านทั่วไปที่ชื่นชอบบทกวีจะอ่านได้อย่างเพลิดเพลินมาก ขณะที่ผู้ต้องการศึกษาเรียนรู้ผลงานระดับกวีซีไรต์ก็จะได้อรรถรสความงามเชิงวรรณศิลป์ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองของท่านอังคาร
.
หนังสือเล่มนี้มีจำนวนจำกัดและไม่มีจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป เนื้อหามีทั้งสิ้น ๔๐๘ หน้า ผู้สนใจหนังสือเล่มนี้สามารถคลิกไปดูได้ที่ลิงก์นี้
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #อังคารกัลยาณพงศ์กวีสามภพสามชาติ #กวีซีไรต์ #ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ #บทกวีนิพนธ์ร้อยแก้วร้อยกรอง #ผลงานจิตรกรรม
โฆษณา