20 ก.ค. 2023 เวลา 06:11 • การเมือง

อดีตคณบดี นิติ มธ.ชี้ ไทยกำลังล้มละลายทางนิติศาสตร์

POLITICS: 'รศ.ดร.มุนินทร์' ชี้ไทยกำลัง "ล้มละลายทางนิติศาสตร์" ที่ไม่ใช่นิติสงคราม แต่ล้างเผ่าพันธุ์ทางการเมือง เผยบ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังทางกฎหมาย เหมือนหัวใจประชาชนถูกทิ่มแทงในรัฐสภา แม้จะเคยชินและคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น แต่พอเกิดขึ้นก็เจ็บปวดอยู่ดี
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ถึงปฏิกิริยาทางการเมืองหลังการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ว่าประชาชนคงมีความรู้สึกแตกต่างหลากหลายเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา นำหัวใจประชาชนไปทิ่มแทงในรัฐสภา ทำให้รู้สึกว่าเสียงเราไม่มีความหมายแม้จะเคยชินและคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น แต่พอเกิดขึ้นก็เจ็บปวดอยู่ดี
1
เพราะเกิดขึ้นภายใต้กฏหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม ทุกคนถูกกำหนดตามกรอบที่วางไว้ เหมือนหัวใจประชาชนไปตบไปทิ่มแทงกลางสภาฯ ให้รู้สึกว่าเสียงประชาชนไม่มีความหมาย การเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนต่อไป ต่อให้ สว.ไม่สนับสนุนก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบ ไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯ เป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุดของคนที่มีสิทธิมีเสียงไปใช้เสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ในฐานะนักกฏหมายรู้สึกเจ็บปวดหนัก ผมมีความหวังเล็ก ๆ ตลอด เราเป็นนักกฏหมายหวังว่าจะมีคนรักษาหลักการอยู่บ้างในศาลรัฐธรรมนูญควรต้องปฏิเสธให้ กกต.ไปดำเนินการใหม่ แต่กลับมีเสียงเอกฉันท์ที่รับไว้พิจารณา และมีเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ สุดท้ายจะเป็นบทพิสูจน์ว่าหลักการในทางตำรา เป็นหลักการที่ใช้ในดินแดนอื่น แต่ไม่ถูกใช้จริงในบ้านเรา มีความหมายแต่ในห้องเรียน แต่ความเป็นจริงเป็นอีกแบบ
ส่วนข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภา ที่ประชุมรัฐสภามีมติ เสียงข้างมากเห็นด้วยเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ซ้ำไม่ได้ เป็นการทำลายทุกหลักการทางกฏหมายนำไปสู่ทางตันทางการเมือง นักกฏหมายทุกคนรู้ว่าลำดับศักดิ์ไม่เท่ากัน เหมือนไม้จิ้มฟันไปงัดต้นซุง เข้าใจได้ว่านักการเมืองพยายามเอาทุกช่องทางกฏหมายมาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าจะทำลายหลักการ และผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมา ในเชิงหลักการผิด
แต่มีวิธีการที่ดีกว่านั้น สอดคล้องนักกฏหมายส่วนใหญ่ที่มองว่าประธานสภาฯ สามารถตีความแก้ปัญหาได้เอง สุดท้ายผลอาจต่างกันแต่การเลือกให้ โหวต ผลจะเป็นอย่างไร วิธีการแก้ปัญหาผิดพลาดหมดทั้งในเชิงหลักการก่อให้เกิดการเข้าใจว่า ข้อบังคับสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ กลายเป็นตราบาปทางกฏหมาย
รศ.ดร.มุนินทร์ เห็นว่ามีวิธีการที่ดีกว่า เช่น ประธานรัฐสภาสามารถตีความ การทำลายหลักกฏหมายเมื่อเกิดบรรทัดฐานมาแล้วอาจจะไม่เป็นบรรทัดฐาน ถ้าเป็นบรรทัดฐานต้องรักษาไปเรื่อย ๆ แต่ละพรรคเสนอแคนดิเดตนายกฯ เสนอซ้ำไม่ได้ในสมัยประชุมเดียวกันอาจหมดตัวเลือก ในรัฐธรรมนูญยังมีการเสนอคนให้รัฐสภาพิจารณาในหลายตำแหน่ง ไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้มา
มีตำแหน่งอื่นอีกมากมาย ควรต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีมาตรฐาน จะตีความตามอำเภอใจอีกอาจจะคิดเฉพาะหน้าว่าเอาแบบนี้ไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน ส่วนตัวเชื่อว่าคนที่พยายามใช้ช่องทางนี้ อาจมีแผนและผลทางการเมืองบางอย่างที่ต้องการว่าห้ามเสนอซ้ำ อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง
สถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่ใช่นิติสงคราม ที่ทำให้เห็นการสู้รบโดยใช้กฏหมายเป็นอาวุธ แต่เป็นการใช้กฏหมายเป็นอาวุธสู้กันของสองฝ่าย แต่กรณีเป็นอีกฝ่ายที่ถูกกระทำโดยไม่มีทางสู้ ไม่ว่าจะอ้างอิงกฎหมายใด ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะหลักกฎหมายถูกบิดเบือน เป็นการล้างเผ่าพันธุ์ในทางการเมือง โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ อาจจะตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และอนาคตใหม่
ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความระบุว่าผิดหวังกับมติที่ประชุมรัฐสภา ในความเห็นทางกฏหมายการโหวตนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ เราปล่อยให้การเมืองมาแทรกแซงบิดเบือนกฏหมาย โดยไม่มีเกราะกำบังอะไร หวังผลในทางการเมือง มีอะไรบางอย่างต้องการจากการทำแบบนี้ การเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ถูกปิดประตูไปแล้ว
เมื่อสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ สส.ความชอบธรรมในทางจิตวิทยาเกิดขึ้น แต่สถานะแคนดิเดตนายกฯ ยังอยู่ ประธานรัฐสภา เลือกใช้วิธีตีความ ใช้เสียงข้างมาก ประธานสภาฯ สามารถตีความเพื่อรักษาหลักการทางกฏหมาย ไม่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองที่ไม่พึงประสงค์ คนที่อยากให้โหวตคงจะมีเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง สุดท้ายไม่สามารถทัดทานการเมืองแบบนั้นได้ เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง
ทั้งนี้ในวันที่ 27 ก.ค.66 จะมีการโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง หากต้องเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งน่าจะเป็นชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน หากโหวตไม่ผ่าน ครั้งต่อไปก็ต้องเสนอชื่อนายเศรษฐาไม่ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพราะเคยวินิจฉัยไว้เองโดยเสียงข้างมาก สามารถตีความใหม่ได้โดยไม่ต้องยึดตามบรรทัดฐานเดิม เนื่องด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไปขอโหวตใหม่เพื่อตีความข้อบังคับรัฐสภาที่ 41 เพื่อให้เสนอชื่อซ้ำได้
เพราะไม่มีหลักการอะไรให้ยึดอีกแล้ว เป็นเรื่องขำปนเศร้าเพราะหลักการถูกทำลายลงหมด การทำตามอำเภอใจถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติ ทั้งนี้เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ในการตีความ ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความข้อบังคับที่ 41 จะทำให้การเลือกนายกฯ ต้องชะลอไปก่อนหรือไม่ ส่วนตัวขอเขียนคำวินิจฉัยไว้เลยว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง เพราะการลงมติเห็นชอบแล้ว
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายหลักการ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อไปเราจะเริ่มเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เราเริ่มเห็นชัดว่าละครน้ำเน่าเรื่องนี้มีใครเป็นผู้เล่น คอการเมืองอาจจะรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย
แต่ความน่าตื่นเต้นต้องแลกมากับทำลายหลักการทางกฎหมาย ส่วนอาจารย์นิติศาสตร์ คงไม่มีใครคิดจะออกแถลงการณ์อีกแล้วเพราะไม่มีความหมายที่จะต้องรักษาหลักการ ทุกสิ่งถูกทำลายย่อยยับทุกครั้ง เชื่อว่าอาจารย์นิติศาสตร์แต่ละท่านได้แสดงออกและยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง ขนาดประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกตั้งแล้ว ยังไม่มีความหมาย ต่อให้อาจารย์นิติศาสตร์รวมกัน 100 คนเพื่อออกแถลงการณ์ก็คงไม่มีใครสนใจ
"เป็นเหมือนความสิ้นหวังทางนิติศาสตร์ เป็นสภาวะการล้มละลายทางนิติศาสตร์ ไม่เหลือเครดิตอะไรแล้ว ไม่แคร์ประชาชน ไม่แคร์หน้าที่ในการรักษากฎหมาย เป็นสถานะความสิ้นหวังทางการเมือง แต่ผมไม่อยากให้หมดหวัง เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งคือพัฒนาการขั้นหนึ่ง อาจจะต้องใช้เวลา เพียงแต่ตอนนี้ต้องทำใจให้ได้"
เรียบเรียง: ณัฐพร สร้อยจำปา
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #รัฐสภา #จัดตั้งรัฐบาล #พิธา
โฆษณา