22 ก.ค. 2023 เวลา 12:07 • อาหาร

เหลียวมองถ้วยข้าวกับอาหารชุดสไตล์ญี่ปุ่น

“อาหารญี่ปุ่น” สารพัดเมนูมักเสิร์ฟกันในรูปแบบ “อาหารชุด” เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เทโชขุ – 定食” ประกอบไปด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ซุปมิโสะ ผักดองหรือสลัดผัก เครื่องเคียงถ้วยเล็ก ๆ และกับข้าวจานหลัก โดยทั้งหมดจะถูกจัดวางอย่างบรรจงลงไปอย่างพอดีกับพื้นที่ในถาดรอง
1
อาหารชุดเป็นการจัดเสิร์ฟอาหารที่สะดวกทั้งคนปรุงและคนกิน เสิร์ฟได้รวดเร็ว เช็คความเรียบร้อยง่าย ได้รับประทานอาหารที่หลากหลาย และประหยัดเวลาในการเก็บทำความสะอาด
1
เทโชขุ เป็นคำย่อมาจาก “อิทเต – 一定” คือการกำหนดไว้แน่นอน ตายตัว และ”โชขุจิคนดาเตะ – 食事献立” คือเมนูอาหาร นั่นก็แปลว่า เทโชขุเป็นเมนูอาหารที่มีการกำหนดเอาไว้แล้วในมื้อนั้น ๆ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง จัดวางอย่างครบครันภายในหนึ่งถาด ซึ่งแตกต่างจากเมนูอาหารแบบคอร์ส Fine Dining สไตล์ตะวันตกที่จะค่อย ๆ เสิร์ฟทีละเมนูไปเรื่อย ๆ จนครบ
1
ชินเซ็น เป็นการจัดวางอาหารใส่ถ้วยเล็กเพื่อบวงสรวงแด่เทพ เครดิตภาพ : https://kome-academy.com/teishoku_library/history.html
การรับประทานอาหารที่จัดเป็นชุดสำหรับหนึ่งคน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวญี่ปุ่นทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ด้วยวัฒนธรรมการกินข้าวเป็นอาหารมาตั้งแต่ยุคยาโยอิ (弥生時代、ศตวรรษที่ 10 – 3 ก่อนคริสตกาล)
เมื่อเข้าสู่ยุคเฮอัน (平安時代、ค.ศ. 794 – 1185) ภายในราชสำนักจะทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าโดยเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ บรรจงใส่ลงในถ้วยเล็ก ๆ วางบนแท่นปรัมพิธี หวังให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในการเกษตร เรียกอาหารเหล่านั้นว่า “ชินเซ็น – 神饌”
ไดเคียว อาหารสารพันเมนูเพื่อการเฉลิมฉลองของราชสำนัก เครดิตภาพ : https://kome-academy.com/teishoku_library/history.html
ส่วนบรรดาชนชั้นสูงเองก็มีธรรมเนียมการเลี้ยงอาหารแบบ “ไดเคียว – 大饗” คือการเตรียมสำรับอาหารชนิดต่าง ๆ แบ่งใส่จานเล็กวางเรียงกันเป็นสำรับต่อหนึ่งที่ นิยมทำในงานพิธีฉลองต่าง ๆ นอกจากถ้วยที่ใส่ข้าวสวยจนพูนล้นขึ้นมา ยังมีอาหารปรุงสดใหม่ อาหารแห้งชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรุงรสอย่างเกลือ น้ำส้มหมัก สาเก และโชหยุ ไว้เคียงกันด้วย
โชจินเรียวริ อาหารเจ ต้นกำเนิดของการปรุงรสอาหารที่ซับซ้อนขึ้น เครดิตภาพ : https://kome-academy.com/teishoku_library/history.html
ในยุคคามาคุระ (鎌倉時代、ค.ศ. 1185 – 1333) ศาสนาพุทธนิกายเซนจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้แผ่ขยายเข้ามาในญี่ปุ่นพร้อมแนวคิดงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ เกิดวิธีการปรุงอาหารที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นการทอด ตุ๋น ยำ แม้แต่ซุปมิโสะเองก็มีขึ้นในยุคนี้ สำรับอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์เรียกกันว่า “โชจินเรียวริ – 精進料理” เกิดขึ้นครั้งแรกในวัด แล้วแผ่ขยายไปยังกลุ่มชนชั้นสูง จนกระทั่งเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวบ้านทั่วไปด้วย
ฮนเซ็นเรียวริ อาหารที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของอาหารชุดสไตล์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน เครดิต : https://kome-academy.com/teishoku_library/history.html
เมื่อความอุดมสมบูรณ์ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ตั้งแต่ยุคมุโรมาจิ(室町時代、ค.ศ. 1336 – 1568)ยุคที่เหล่านักรบ ซามูไรเริ่มมีอำนาจ ส่งผลให้วัฒนธรรมการกินมีความพิถีพิถันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของนักรบชั้นสูง ไดเมียว และโชกุนเอง ต่างก็มีวิธีต้อนรับแขกไปใครมาด้วยมื้ออาหารที่มีเอกลักษณ์ เรียกว่า “ฮนเซ็นเรียวริ – 本膳料理” โดยการจัดเรียงอาหารอย่างปราณีตลงบนถาดวางที่มีขาตั้ง จำนวนถาดใส่อาหารจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามยศถาบรรดาศักดิ์ของอาคันตุกะผู้นั้น
เข้าสู่ยุคเอโดะ (江戸時代、ค.ศ. 1603 – 1868) วัฒนธรรมการกินเปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เนื่องจากบรรดาซามูไรที่ต้องผลัดเวรกันเข้าทำงาน หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงอย่างเอโดะเพียงลำพัง ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดเตรียมอาหาร เกิดเป็นร้านขายอาหารชุดที่จัดเรียงอาหารใส่ถาดสำหรับ 1 ที่ สร้างความสะดวกสบายแก่คนกินจนกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
เทโชขุ ประกอบด้วยวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน เครดิตภาพ : https://www.suguki-narita.com/blog/2021/09/ichijusansai.html
【เทโชขุ – อาหารชุดที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม】
แม้เซ็ตอาหารญี่ปุ่นจะมีให้เลือกรับประทานอย่างหลากหลาย แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเมนูประเภทใด ตำแหน่งการวางจานต่าง ๆ ในถาดนั้นเหมือนกัน โดยมีคอนเซ็ปต์ “กับสาม น้ำหนึ่ง : 一汁三菜” ดังนั้นในหนึ่งถาดเทโชขุ จะประกอบด้วย ซุป 1 ถ้วย กับข้าวจานหลักที่เป็นเนื้อสัตว์ 1 อย่าง กับข้าวจานรองเมนูผักอีก 2 อย่าง ไม่นับรวมเครื่องเคียงอย่างผักดอง
【ตำแหน่งจานสอดประสานตามความเชื่อ】
ลองนึกภาพถึงเซ็ตอาหารญี่ปุ่นที่เคยรับประทานกัน ถ้วยใส่ข้าวจะถูกจัดวางไว้ด้านซ้ายมือและใกล้ตัวเสมอ ขวามือจะเป็นถ้วยซุป ถัดออกไปจะเป็นกับข้าวจานรองวางเรียงติดกัน และตามด้วยกับข้าวจานหลัก โดยเรียงจากซ้ายไปขวา
เนื่องจากญี่ปุ่นมีแนวคิดเรื่องลำดับขั้นที่เรียกว่า “สะโจอุเงะ – 左上右下” ด้านซ้ายมีความสำคัญเพราะเป็นทิศทางที่พระอาทิตย์ขึ้นเมื่อหันหน้าไปทางทิศใต้ ข้าวก็ถือเป็นอาหารที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นตำแหน่งของชามข้าวจึงเป็นจุดที่สำคัญที่สุดในถาดอาหาร และการจัดวางกับข้าวจานหลักไว้ในทิศทางตรงกันข้ามกับชามข้าว นอกจากสะดวกต่อการตักรับประทานแล้วยังสร้างความสมดุลของน้ำหนักเมื่อยกถาดอาหารอีกด้วย
ร้านอาหารในโอซากาส่วนใหญ่ นิยมวางจานกับข้าวไว้ใกล้ถ้วยข้าว เครดิตภาพ : https://creators.yahoo.co.jp/ai/0100336477
นอกจากตำแหน่งการวางจานอาหารแบบทั่วไปแล้ว ในบางท้องที่อย่างแถบคันไซโดยเฉพาะโอซาก้าจะมีลักษณะการวางที่แตกต่าง โดยนิยมวางถ้วยซุปไว้ด้านซ้ายเหนือถ้วยข้าว แล้ววางกับข้าวจานหลักทางด้านขวาใกล้ตัว ด้วยแนวคิดด้านวัฒนธรรมการกินของดินแดนแห่งพ่อค้าที่เน้นการกินดื่มอย่างสุขสำราญอิ่มหมีพีมัน การวางกับข้าวไว้ใกล้ตัวช่วยสร้างอรรถรสการกินได้ดีกว่า
【อาหารชุดกินอย่างไรให้อร่อย】
แม้ไม่ได้มีข้อบังคับตายตัวว่าต้องกินอะไรก่อนหลัง แต่หากลองกินตามลำดับอย่างการตักข้าวสวยเข้าปากแล้วตามด้วยซดน้ำซุป กลับมากินข้าวแล้วตามด้วยกับ สลับกันไปแบบนี้ นอกจากช่วยสร้างสมดุลในการกิน ไม่ให้ร่างกายได้รับไขมันมากจนเกินไปแล้ว ข้าวสวยยังช่วยลดความเข้มข้นของรสชาติอาหารลง แล้วยังเป็นการปรับลิ้นเพื่อรับรสของอาหารจานอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย
เคล็ดลับในการรับประทานอาหารชุดให้อร่อยมากยิ่งขึ้น เครดิตภาพ : https://kome-academy.com/teishoku_library/
อาหารเป็นวัฒนธรรมเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น นอกจากการทำสืบเนื่องต่อกันมาแล้ว อย่างตำแหน่งการวางถ้วยต่าง ๆ ในถาดอาหารก็เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เข้าเรียนชั้นประถม พวกเขาต้องช่วยกันจัดเตรียมอาหารกลางวันที่ปรุงสุกแล้วโดยนักโภชนาการ วางอย่างเรียบร้อยให้กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันอยู่เสมอโดยสลับหน้าที่ทำกันไปเรื่อย ๆ
เครดิตรูปปก : https://1200irori.jp/content/learn/detail/case07
โฆษณา