23 ก.ค. 2023 เวลา 12:23 • ความคิดเห็น

เฮียวิทย์

ผมรู้จัก ดร. วิทย์ สิทธิเวคินมานานมาก ตอนรู้จักแรกๆ ก็คิดว่าเขาเป็นคนเก่งทั้งด้านการเป็นพิธีกรและเป็นผู้บริหารที่เชี่ยวชาญงานด้านพีอาร์ รู้จักไปเรื่อยๆ ก็เพิ่งรู้ว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่อาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจนสามารถเล่าเรื่องยากๆ จนง่ายได้ทุกเช้าในรายการ The Standard Wealth และเมื่อไม่กี่ปีนี้ก็ได้ทึ่งเข้าไปอีกกับ Podcast 8 Minute History ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน
1
ดร. วิทย์มาได้ฉายาว่าเฮียวิทย์จากน้องๆ ในรายการ แป๊บเดียวทำมาได้สองร้อยกว่าตอน มีคนฟังตอนละหลายแสนคน เฮียวิทย์ได้ปลุกประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ และทำให้รู้ว่ามีชุมชนผู้สนใจประวัติศาสตร์โลกเยอะมาก จนมีผู้จองบัตร Talk Show ประวัติศาสตร์ครั้งแรกของเฮียวิทย์และของไทยนั้นเต็มภายในสองนาทีทั้งสองรอบจนต้องเปิดรอบสาม
ใครที่ไม่เคยฟัง 8 Minute History ก็คงงงว่าทำไมเฮียวิทย์ถึงหาอะไรมาเล่าได้ 200 กว่าตอนและมีทีท่าว่าจะเล่าได้อีกหลายร้อยตอน
แต่ใครที่เคยฟังก็คงรู้ถึงเกร็ดประวัติศาสตร์โลกที่เฮียวิทย์สรรหามาเล่า ทั้งมุมโลกตะวันตก โลกตะวันออก มุมของไทม์ไลน์แต่ละช่วงเวลา มุมประวัติศาสตร์สำคัญๆที่เปลี่ยนโลก มุมตัวบุคคล มุมการพัฒนาการของวิทยาการต่างๆ มุมของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ฯลฯ
นอกจากจะนำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาเล่าแล้ว เฮียวิทย์ยังเชื่อมโยงจุดต่างๆที่ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันว่าจริงๆแล้วเชื่อมโยงกันให้เห็นภาพอย่างน่าสนใจ อย่างเช่นความดื้อของกาลิเลโอนั้นลากเส้นมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสได้อย่างไร
หรือแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กนั้นนำมาสู่การค้นพบทวีปใหม่ๆได้อย่างไร หลายคนอาจจะตั้งคำถามถึงความรู้ที่สนใจเหล่านี้แม้จะไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไมก็ตาม แถมวิธีการเล่าของเฮียวิทย์ก็มีทั้งมุกตลก มีความสามารถพิเศษในการใช้ภาษาอิตาเลียน เยอรมัน จีน และอังกฤษได้อย่างลึกซึ้งทั้งการอ่าน การพูด เป็นเสน่ห์เพิ่มเติมเข้าไปอีกใน Podcast เข้าไปอีก
ผมเองฟังเฮียวิทย์มาตั้งแต่ตอนแรกๆที่ยังมีแนวทางว่าจะเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้จบภายใน 8 นาที ผมยังเคยเม้นไปว่าอยากฟังบางเรื่องนานกว่านั้นมาก จำได้ว่าตอนนั้นฟังเรื่องนวนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ของกิมย้งแล้วยังไม่จุใจเลย ในที่สุดก็คงมีคนอย่างผมมากพอที่ตอนหลัง 8 Minute History บางตอนก็เลยนานกว่าแปดนาทีไปพอสมควร
1
เป็น Podcast ที่ฟังได้พอดีๆเวลาวิ่งหรือก่อนนอน ยิ่งเวลาเครียด ไม่ค่อยอยากรับรู้เรื่องการเมืองมากนัก 8 Minute History นั้นทำให้ผมได้ตั้งหลักแล้วมองโลกได้อย่างเป็นอนิจจังมากขึ้นว่าสิ่งต่างๆ เรื่องราวของประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาตินั้นเกิดขึ้น รุ่งเรือง ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปมาหลายพันปีแล้ว
ล่าสุดเฮียวิทย์จัด Talk Show ที่เต็มเร็วมากๆ ผมได้ไปดูรอบแรกเมื่อวาน เฮียวิทย์เล่าสนุกด้วยน้ำเสียงทรงพลังเหมือนเดิม ที่สนุกกว่า Podcast ก็คือองค์ประกอบด้านภาพของทีมงาน The Standard ที่ทำให้เรื่องราวที่เฮียวิทย์เล่านั้นเห็นภาพมากขึ้น อย่างตอนที่เล่าถึงการเดินทางรอบโลก การพบดินแดนใหม่ของหกนักเดินทางจากสเปนและโปรตุเกส
1
รวมถึงอารมณ์ร่วมที่มากขึ้นเวลาเฮียวิทย์เล่าเรื่องประเทศจีนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แพ้อังกฤษ แพ้ญี่ปุ่น แม้ธงชาติตัวเองก็ยังชักขึ้นไม่ได้ จนมาถึงยุคที่จีนประกาศความยิ่งใหญ่ด้วยภาพการสวนสนามฉลองเอกราชของจีน ยิ่งเฮียวิทย์แปลเนื้อเพลงชาติจีนที่เขียนขึ้นตอนที่จีนตกต่ำที่สุดแล้ว ยิ่งได้ความรู้สึกร่วม รวมถึงนึกถึงประเทศของตัวเองไปด้วยในตัว
การที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชม 8 Minute History และได้อยู่ใน Talk Show ที่มีแต่คนเนิร์ดๆ สนใจประวัติศาสตร์โลกมาอยู่เต็มห้อง ทำให้ผมเพิ่งรู้ว่าเวลามีคนที่บ้าความรู้รอบโลกอยู่ด้วยกันนั้นเป็นบรรยากาศที่ดีงามมากๆ นอกจากนั้น การฟัง Talk Show ประวัติศาสตร์โลกรอบนี้ก็ยังได้เข้าใจมากขึ้นว่า การที่โลกเรา หรือประเทศบางประเทศก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องนั้น ก็เพราะมีวัฒนธรรมและมีกลุ่มคนที่กระหายใคร่รู้ (Curiousity)
2
ในทุกๆ เรื่อง อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ อยากเดินทางเพื่อไขปริศนาในใจ หลายความรู้นั้นอยากรู้ไปโดยที่ไม่รู้ว่ารู้ไปทำไมด้วยซ้ำ แค่ตั้งสมมติฐานและพยายามตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้จบสิ้นความสงสัย คนที่คิดแต่จะถามว่าจะรู้ไปเพื่อ? คนแบบนั้นมากกว่าที่ทำให้หยุดความรู้ไว้ตรงที่เดิม
นอกจากนั้น เฮียวิทย์ยังตกผลึกกับการสนใจประวัติศาสตร์ของตัวเองด้วยว่า ประวัติศาสตร์นั้นก็เหมือนกับการ Reverse Engineering ก็คือสามารถนำพาเราไปเพื่อแกะความซับซ้อนและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรียนรู้จากอดีตเพื่อที่จะไม่ทำผิดพลาดอีก หรือพยายามเลียนแบบกระบวนการที่ทำให้ดีขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์นอกจากจะสนุกไปกับตัวละครอย่างเพลิดเพลินแล้วก็มีความหมายแบบนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้ไม่ “รู้งี้” ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างที่หลายเหตุการณ์ต้องเจอ
การเล่าประวัติศาสตร์ให้ง่ายของเฮียวิทย์นั้นมีคุณูปการต่อคนรุ่นใหม่ที่ได้ฟังอย่างแน่นอน เป็นการทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องราวที่ดูจะน่าเบื่อ แต่ถ้ามีใครซักคนทำให้ย่อยง่าย สนุก และน่าติดตามแล้ว เฮียวิทย์หนึ่ง เฮียวิทย์สอง เฮียวิทย์สามก็คงจะตามมาไม่ยาก
1
เหมือนกับหนังสือสังคมศาสตร์ของอักษรเจริญทัศน์เล่มหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เล่าประวัติศาสตร์โลกได้สนุกมากๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้เฮียวิทย์ชอบประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ตอนนั้น Podcast ของเฮียวิทย์ก็น่าจะเป็นหนังสืออักษรเจริญทัศน์ในสมัยนี้เช่นกัน
แล้วเฮียวิทย์เป็นคนแบบไหนกันแน่ จึงเหมือนกับพัฒนาตัวเองเพิ่มพูนความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีเซอร์ไพรส์ในความเก่งและถ่อมตัวมาตลอด จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผม ที่ทำให้ผมออกงานที่ดีแทคก็มาจากความกระหายใคร่รู้ของเฮียวิทย์นี่แหละครับ
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมทำงานอยู่ดีแทคแล้วกำลังเบื่อๆกับความจำเจแต่ก็ไม่ได้อยากออกไปไหนเพราะที่ดีแทคก็สบายจนเคยตัว มีวันหยุดวันหนึ่ง ผมพาลูกสาวไปเล่นสเก็ตน้ำแข็งที่เซนทรัลเวิลด์ ในลานนั้นมีแต่เด็กๆ ลูกสาวผมเล่นแป๊บเดียวก็เล่นได้แต่คนอายุขนาดผมไม่คิดแม้แต่จะลอง กลัวหัวร้างข้างแตก ก็ไปนั่งดูเฉยๆ
ซักพักก็เจอ ดร. วิทย์ หรือเฮียวิทย์ในวันนี้ที่ลานสเก็ต เฮียวิทย์มาเล่นคนเดียว เป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กโข่งที่เด่นสะดุดตามากๆ ในลานทั้งตัวที่ใหญ่และความงุ่มง่าม เล่นๆ แล้วก็ล้มให้เด็กๆ ขำกัน พอล้มซักพักก็เดินมาทักทายกัน ผมถามเฮียวิทย์ว่ามาเล่นแล้วล้มๆ แบบนี้ทำไมเหรอ
1
เฮียวิทย์ในตอนนั้นอายุสี่สิบแล้วก็ตอบว่าปกติวันหยุดก็จะไปขี่ม้า ขี่จนชิน ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรแล้ว เลยอยากจะออกจาก Comfort Zone ของตัวเองบ้าง เลยมาลองอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน คุยกันแล้วก็ออกไปเล่นไปล้มไปต่อ
เจอกันอีกทีสามอาทิตย์ต่อมา เฮียวิทย์ก็เล่นได้คล่อง ไม่ล้มอีกแล้ว เหตุการณ์นั้นทำให้ผมคิดหนักถึงชีวิตที่ปลอดภัย สบายแต่น่าเบื่อของผม ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาผจญภัย ซึ่งก็ได้ล้มลุกคลุกคลานสมใจ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายเหลือเกินจากการตัดสินใจครั้งนั้น จนทำให้ผมมีประสบการณ์เยอะมากในวันนี้
ความกระหายใคร่รู้แบบไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม ความกล้าที่จะลองทำ ลองออกจาก Comfort Zone ของเฮียวิทย์นี่แหละ คือความลับของเฮียที่ทำให้เฮียเป็นอย่างที่เฮียเป็นในวันนี้จริงๆ ครับ
4
โฆษณา