30 ก.ค. 2023 เวลา 07:43 • ศิลปะ & ออกแบบ

เรื่องราวที่ 998 “วิชาศิลปะ”

เรื่องราวที่ 998
วิชาศิลปะ
ภาพในหัวที่คิดออกหลังได้ยินคำว่า “วิชาศิลปะ” สำหรับผม มันคือหนึ่งในวิชาที่ผมรู้สึกชอบเรียนมากที่สุดแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเป็นวิชาที่เราสามารถปลดปล่อยอารมณ์และจินตนาการไปกับมันได้มากกว่าวิชาอื่นๆ ที่เราต้องใช้ทั้งความจำ ความคิด และตรรกะเข้ามาเกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่าเรากำลังเรียนวิชาคณิตศาตร์อยู่ แล้วอาจารย์หรือคุณครูเขียนโจทย์มาพร้อมกับตะโกนถามว่า “1+1 เท่ากับเท่าไหร่คะ/ครับ นักเรียน??”
ซึ่งคำตอบที่ได้ มันก็คือ 2 เท่านั้น
เพราะถ้าคุณตอบว่า 1+1 = 3 คุณจะถือว่าตอบผิดทันที เพราะมันคือสูตรที่ตายตัว
(แต่มันก็เข้าใจได้แหละ เพราะมันคือการคำนวณที่ต้องใช้ความแม่นยำมาเกี่ยวข้อง)
หรือวิชาอื่นๆที่ต้องใช้การท่องจำ ที่มักจะมีคำตอบที่ตายตัวของมันอยู่แล้ว
เช่น ใครคือผู้ก่อตั้ง….(อะไรสักอย่าง)…ของประเทศทายยยย(ไทย)? (สงสัยครูจะเป็นลูกครึ่ง)
เราก็ต้องตอบคำตอบที่มันถูกล็อคคำตอบเอาไว้อยู่แล้วว่าต้องตอบแบบนี้ และนักเรียนทุกคนจะก็ต้องท่องจำให้ได้เหมือนกันหมด(ทั้งประเทศ)
แต่ในทางกลับกัน ในวิชา”ศิลปะ”นั้น มันจะเป็นการนำภาพในจินตนาการของมนุษย์แต่ละคนออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันผ่านผลงานศิลปะ
เช่น คุณครูให้หัวข้อในการวาดภาพในหัวข้อ “ความฝันของตัวเอง”
หึหึหึ (ยิ้มมุมปาก) เอาแค่คำว่า “ความฝัน” คำจำกัดความของคำๆนี้ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแล้ว หรือแม้จะเป็นหมา แมวหรือคนก็ตาม ลองคิดตามว่าภาพวาดที่ออกมาจากนักเรียนทุกคนในห้อง มันจะเหมือนกันมั้ย? (แค่คิดก็สนุกแล้ว)
มันอาจจะมีภาพวาดคล้ายๆกันบ้างแหละ แต่ผมเชื่อว่าไม่เหมือนกันหมด 100% ทุกคนแน่นอน
ดังนั้น ด้วยเสรีทางความคิดผสมผสานเข้ากับจินตนาการของเรา ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร
ก็สามารถรังสรรค์ผลงานศิลปะชั้นเลิศ (หรืออาจจะไม่เลิศ) ออกมาได้แบบไม่มีขีดจำกัดกันทั้งนั้น หรือ เรียกอีกอย่างว่า”นอกกรอบ”นั่นเอง
เมื่อกี้พูดถึงข้อดีไปแล้ว ในอีกมุมมองมัน ผมคิดว่ามันก็มีข้อเสียของมันอยู่ เพราะว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นอกกรอบ” หรือความอิสระของ”ศิลปะ”นี่แหละ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็สามารถสร้างงานผลงานศิลปะได้ หรือใครๆก็เป็นศิลปินได้ ผลงานศิลปะมันเลยมีออกมาเยอะมากๆ (และก็ไม่ได้ดีทั้งหมดด้วย)
เอาง่ายเลยก็คือวิชานี้ มันคือวิชาที่ “นอกกรอบ” หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “นอกคอก”เกินไปจนบางทีเราอาจจะรู้สึกเข้าไม่ถึง และในอนาคต ผมก็คิดว่ามันจะยิ่งออก”นอกกรอบ”ไปมากกว่านี้อีก
ยกตัวอย่างผลงานศิลปะชิ้นนี้ของคุณพี่มาร์ติน (Martin Creed) ผลงานที่ 88 ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี 1995 ที่นักวิจารณ์หลายๆท่านต่างบอกว่า”นี่คือผลงานที่จะเปลี่ยนแปลงคำนิยามของคำว่าศิลปะไปตลอดกาล” โอเคแหละ มันน่าจะสื่อว่าใครๆก็สามารถสร้างผลงานศิลปะได้
แต่ผมมองว่า ยังไงมันก็เป็นแค่กระดาษที่ถูกขยำเป็นรูปทรงวงกลมเฉยๆรึเปล่า? (มันต้องdeep ขนาดไหนกันวะ ถึงมองว่ามันเจ๋งเนี่ยหรือว่าเราอาจจะเข้าไม่ถึงมันจริงๆ)
Martin Creed work no.88 Reference : http://www.martincreed.com/site/works/work-no-88
ไหนๆก็ยกตัวอย่างผลงานคุณพี่มาร์ตินแกมาอันนึงแล้ว ผมขอแถมอีกผลงานของคุณพี่เค้าอีกสักอันละกัน เป็นงานศิลปะที่มาจากการฉีกกระดาษขาวแล้วมาวางซ้อนกันตามรูปด้านล่างเลย (น่าจะใช้เวลาผลิตผลงานชิ้นนี้นานกว่า เบอร์ 88 นิดนึงแหละ)
Martin Creed work no.140 Reference : https://www.artsy.net/artwork/martin-creed-work-no-140-a-sheet-of-a4-paper-torn-up-as-issued
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นทั้งหมดมันเป็นแค่ส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของคำว่า “ศิลปะ” ในมุมๆเดียวของผม มันยังมีอีกหลายๆอย่างที่มีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเราหรือโลกของเรา เช่น ศิลปะในการพูด ศิลปะในการอาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือ แม้กระทั่งโลกแห่งทุนนิยมนี้ ที่ก็ต้องพึ่งพาศิลปะเข้าไปช่วยเติมเต็มให้มันมีสีสันมากขึ้นกว่าเดิม และ ศิลปะเองก็ต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยมด้วยเช่นเดียวกัน (ไม่งั้นจะขายได้ยังไงอะ)
สำหรับตอนนี้ขอพักไว้เท่านี้ก่อน ไว้มีโอกาสผมจะมาเรื่องราวของศิลปะในมุมมองอื่นๆของผมให้อ่านกันอีกนะครับ ขอบคุณมากๆที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะครับ 🙏
โฆษณา