31 ก.ค. 2023 เวลา 08:58 • ประวัติศาสตร์

จกรุกวุย การศึกคราวขงเบ้งรบสุมาอี้

ตอนที่ 1 ปฐมบทแห่งสงคราม
ราวปี ค.ศ. 227 ภายหลังกลับจากปราบเบ้งเฮ็กทางภาคใต้จนราบคาบได้แล้ว ‘ขงเบ้ง’ มหาอุปราชแห่งจกก๊กได้ยินข่าวการเสียชีวิตของ ‘โจผี’ ปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์เว่ย (วุยก๊ก) และได้แต่งตั้ง ‘โจยอย’ พระราชโอรสขึ้นเป็นพระเจ้าไต้งุยฮ่องเต้ สืบราชสมบัติต่อไป
ขงเบ้งเห็นว่าวุยก๊กอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน บ้านเมืองกำลังสับสนและอ่อนแอ จึงเป็นการดีที่จะยกพลขึ้นเหนือปราบวุยก๊กให้สิ้นซาก เพื่อเริ่มต้นปณิธานการรวมแผนดินให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ตามพระราชประสงค์ของ ‘พระเจ้าเล่าปี่’ ปฐมจักรพรรดิแห่งจกก๊กผู้ล่วงลับ
อีกหนึ่งประการคือจกก๊กเป็นรัฐที่เล็กกว่าวุยก๊กเป็นอย่างมาก หากเอาแต่นิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร ก็คงจะถูกวุยก๊กกลืนกินเข้าสักวัน
‘ม้าเจก’ ที่ปรึกษาคนสำคัญของขงเบ้ง เห็นว่ากองทัพเสฉวนพึ่งกลับมาถึง ‘เฉิงตู’ (เมืองหลวงจกก๊ก) ได้ไม่นาน พลทหารอ่อนล้าและอิดโรยอยู่ จึงได้กราบทูลมหาอุปราชขงเบ้งไปว่า
“ซึ่งท่านจะยกพลไปตีเมืองฮูโต๋อันไกลห่างนั้น เห็นทหารทั้งปวงจะได้รับความลำบากนัก ขอให้งดอยู่ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจะคิดกลอุบายให้โจยอยฆ่าสุมาอี้เสียจงได้”
ขงเบ้งว่าจึงถามว่า “ท่านจะทำกลอุบายประการใด”
ม้าเจกจึงตอบว่า
“บัดนี้โจยอยให้สุมาอี้อยู่รักษาเมืองเสเหลียง จึงพอคาดเดาได้ว่าโจยอยคงไม่ไว้ใจสุมาอี้เป็นทุนเดิม ข้าพเจ้าคิดกลอุบายจะเขียนหนังสือให้ทหารลอบไปปิดประตูเมืองลกเอี๋ยงแลหัวเมืองทั้งปวง ว่าสุมาอี้คิดขบถ โจยอยรู้ก็จะฆ่าสุมาอี้เสีย”
ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วยกับความคิดของม้าเจก เนื่องจากสุมาอี้เป็นขุนพลเพียงคนเดียวในวุยก๊กที่มีสติปัญญาหลักแหลมมากพอจะต่อกรกับขงเบ้งได้
สุมาอี้คนนี้ แม้จะเก็บตัวเงียบในยุคของโจโฉ (ค.ศ. 155 – 15 มีนาคม ค.ศ. 220) และพอจะมีผลงานอยู่บ้างในยุคของโจผี แต่ผู้คนใต้หล้าต่างรู้ดีว่าเขาเก็บซ่อนความสามารถไว้ในใต้ความสงบเงียบอย่างน่ากลัว
แต่ด้วยสถานการณ์ที่อาจถูกศัตรูจากก๊กอื่นโจมตีได้ทุกเวลา โจยอยจึงจำเป็นต้องใช้งานสุมาอี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกการเคลื่อนไหวของสุมาอี้จึงอยู่ในความสนใจของขงเบ้งเสมอ ซึ่งด้วยเหตุนี้โจยอยซึ่งได้ให้สุมาอี้เป็นเจ้าเมืองเสเหลียง ขงเบ้งเห็นว่าหากสุมาอี้สามารถซ่องสุมทหารได้มากแล้ว ก็จะต้องยกพลมาโจมตีจกก๊กอย่างแน่นอน ดังนั้นขงเบ้งจำต้องตัดกำลังสุมาอี้ให้ได้เสียก่อน เพราะหากวุยก๊กไม่มีสุมาอี้ การยกพลขึ้นเหนือเพื่อปราบวุยก๊กก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
อีกประการหนึ่งคือ การตัดกำลังสุมาอี้นอกจากจะทำให้วุยก๊กขาดขุนพลคนสำคัญแล้ว ยังเป็นการบีบบังคับให้สุมาอี้ไม่มีทางสู้ และเมื่ออับจนหนทาง สุมาอี้ก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย จำต้องหันมาพึ่งจกก๊กอย่างแน่นอน
ขงเบ้งจึงเขียนหนังสือใจความว่า
“ตัวเราผู้ชื่อสุมาอี้ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่บอกมาให้ท่านทั้งปวงแจ้ง เดิมพระเจ้าวุยอ๋องคิดจะมอบสมบัติให้โจสิด แต่มีผู้ยุยงว่ากล่าวพระเจ้าโจผีจึงได้สมบัติ บัดนี้พระเจ้าโจผีมอบสมบัติให้โจยอยผู้บุตร โจยอยหนุ่มแก่ความ จะทำการสิ่งใดก็ไม่ปรานีราษฎร เห็นจะรักษาสมบัติไม่ได้ เราเป็นผู้ใหญ่จะนิ่งอยู่ให้แผ่นดินจลาจลก็ไม่ควร
จึงซ่องสุมทหารไว้เป็นอันมาก คิดอ่านกำจัดโจยอยเสีย จะยกโจสิดขึ้นครองสมบัติตามดำริพระเจ้าวุยอ๋อง แม้ท่านทั้งปวงยอมสมัครทำการด้วยเรา ก็ให้เร่งชักชวนพร้อมกัน หากผู้ใดเห็นหนังสือนี้ไม่ทำตามเรา เมื่อสำเร็จราชการจะตัดศีรษะเสียให้สิ้นทั้งโคตร”
เมื่อได้ใจความในจดหมายแล้ว ขงเบ้งจึงใช้ให้คนนำไปโปรยทิ้งไว้ที่เมืองลกเอี๋ยงรวมถึงตามหัวเมืองของวุยก๊ก เมื่อทหารเฝ้าหน้าประตูเห็นความในจดหมายจึงนำไปถวายพระเจ้าโจยอยให้ทราบ
ฝ่ายโจยอยเมื่อทราบความก็ตกใจ จึงได้ปรึกษาขุนนางทั้งปวงแล้วได้ข้อสรุปว่า ควรปลดสุมาอี้ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเสเหลียง แล้วให้ไปทำมาหากินอยู่ที่บ้านเกิด ณ เมืองเหอเน่ย (โห้ลาย) จากนั้นจึงตั้ง ‘โจหิว’ คุมทหารอยู่เฝ้ารักษาเมืองเสเหลียงแทน
การตัดกำลังสุมาอี้จึงเป็นผล เพราะศัตรูเพียงคนเดียวที่ขงเบ้งหวั่นวิตกอย่างสุมาอี้บัดนี้ได้หมดสิ้นอำนาจตามแผนยืมดายฆ่าคนของม้าเจกลงอย่างสมบูรณ์ ขงเบ้งจึงเตรียมการยกพลขึ้นเหนือเพื่อโจมตีวุยก๊กต่อไป
ฝ่ายสุมาอี้แม้จะต้องกลของขงเบ้งจนถูกปลดเป็นเพียงสามัญชน แต่ก็ไม่มีท่าทีหวั่นวิตกแต่อย่างใด เขายังคงติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และประเมินว่าอีกไม่ช้าขงเบ้งจะต้องยกพลขึ้นเหนือเพื่อรบกับวุยก๊กอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ขุนศึกเพียงคนเดียวที่พอจะสู้รบกับขงเบ้งได้ คงมีเพียงเขาเท่านั้น
สุมาอี้จึงเฝ้ารอคอยโอกาสของตนอีกครั้งด้วยความอดทน แม้ว่าลมมรสุมครั้งนี้จะหนักหนาสำหรับเขาเพียงใด แต่สุมาอี้ก็รู้ดีว่าสักวันลมจะเปลี่ยนทิศ และเมื่อเวลานั้นมาถึง โอกาสที่จะได้สร้างผลงานของเขาก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
***โปรดติดตามตอนต่อไป***
Author: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
Refer:
ราชบัณฑิตยสภา. (2471).สามก๊ก .กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาก
เล่าชวนหัว. (2553).สามก๊กฉบับคนเดินดินเปิดหน้ากากขงเบ้ง .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
Link:
โฆษณา