2 ส.ค. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

‘โคกโพธิ์’ และ ‘หนองจิก’ ไม่เคยเป็นของอาณาจักรปัตตานีโบราณ

เมื่อเร็วนี้มีบทความหนึ่งในเฟซบุ๊กอ้างว่า ‘เมืองหนองจิก’ เคยเป็น 1 ใน 7 ของเมืองบริวารของเมืองปัตตานีโบราณ (ปตานี) และมีการกล่าวใส่ร้ายอีกด้วยว่า ชาวเมืองหนองจิกในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 2 ได้ร่วมกันก่อกบฏต่อสยาม
ซึ่งถ้าใครติดตามประวัติศาสตร์ในช่วงนี้อย่างดีจะทราบว่า สิ่งที่บทความดังกล่าวพูดถึงนั้น ล้วนเต็มไปด้วยความเท็จและไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับแต่อย่างใด ทั้งยังถูกเขียนขึ้นไปในทางยุยงสร้างความเกลียดชังแก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
เพราะข้อเท็จจริงจากหลักฐานชั้นต้นต่างๆ นั้นล้วนยืนยันว่า เมืองหนองจิกไม่เคยเป็นของปัตตานีโบราณ (ปตานี)
หลักฐานชิ้นสำคัญดังกล่าวคือ ฮิกายัตปัตตานี (พงศาวดารราชสำนักปัตตานี) ซึ่งไม่มีข้อความใดกล่าวอ้างถึงการครอบครองพื้นที่ปัตตานีตอนบนอันมีบริเวณติดกับตอนใต้ของสงขลาเลย และราชสำนักปัตตานีในสมัยอยุธยาก็ไม่เคยพูดถึงชื่อของเมืองหนองจิกหรือบริเวณที่เกี่ยวข้องด้วยซ้ำ
แม้แต่อำเภอโคกโพธิ์ในปัจจุบันที่อยู่ติดกัน ทุกวันนี้จะพบว่าทั้ง 2 อำเภอ (โคกโพธิ์และหนองจิก) มีคนไทยนับถือศาสนาพุทธอาศัยมาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม อีกทั้งคนมุสลิมดั้งเดิมในพื้นที่ดังกล่าว ก็ไม่ใช่คนนายู (มลายูปัตตานี) หากแต่เป็นคนมุสลิมพูดปักษ์ใต้ (คนแขก) นั่นย่อมแสดงว่าประชาชนในพื้นนี้ไม่สามารถนับรวมเข้าพวกกับคนนายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ หากแต่พวกเขามีความใกล้ชิดกับคนแขก 4 อำเภอของสงขลามากกว่า (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี)
ข้ามไปดูเอกสารบันทึกจากปากคำชาวต่างชาติในยุคทองของปัตตานีเมื่อ 439 ปีก่อน นั่นคือ เอกสาร ‘Roteiro de Patane’ ของ D. Joao Ribeiro Gaio (1584) ของบิชอปชาวโปรตุเกสแห่งมะละกา ก็กล่าวถึงเพียงว่า ปัตตานีในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดมีอาณาเขตถึงแค่เพียงกรือเซะและปะนาเระบริเวณอ่าวปัตตานีเท่านั้น หาได้กินพื้นที่ไปถึงอำเภอหนองจิกและโคกโพธิ์แต่อย่างใด
1
จริงๆ แล้ว ‘เมืองหนองจิก’ ถูกสถาปนาขึ้นมาเมื่อครั้งที่มีการแบ่งเมืองปัตตานีเป็น 7 เมืองในสมัยรัชกาลที่ 2 จนทำให้เกิดหน่วยการปกครองที่เรียกว่า ‘เมืองหนองจิก’ (Nong Chik) ขึ้น ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองการปกครองใหม่ของสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในการสถาปนาให้มีเมืองใหม่ (establishment) ขึ้น โดยยกฐานะจาก ‘บ้านหนองจิก’ ที่มีมาแต่เดิมนั่นเอง
ส่วนวาทกรรมที่ว่า พระราชวงศ์หนองจิกถูกฝ่ายสยามทำลาย ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะราชวงศ์หนองจิกไม่มีจริง
เมื่อมีการแบ่งปัตตานีเป็น 7 เมืองตามที่รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ แล้ว ทางกรุงเทพฯ ก็ได้มีการแต่งตั้งรายา (เจ้าเมือง) ขึ้นเพื่อปกครองเมืองที่แยกมาตั้งใหม่อีก 6 แห่ง ได้แก่ หนองจิก ยะหริ่ง สาย ยะลา รามันห์ และระแงะ และสำหรับเมืองหนองจิกนั้น ได้มีการแต่งตั้งให้ ‘ต่วนหนิ’ เป็นเจ้าเมือง และตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลดาโต๊ะ-คอลอตันหยง ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ‘ราชวงศ์หนองจิกไม่มีจริง’ หากแต่เป็นเพียงตระกูลเจ้าเมืองที่ถูกคนสยามตั้งขึ้นให้มีฐานะเป็น ‘เจ้าเมือง’ (ในทำนองคล้าย governor) เท่านั้น
และเมื่อสิ้นสุดตระกูลต่วนหนิ เมืองหนองจิกก็กลายเป็นพื้นที่ปกครองของตระกูลอื่น อาทิ นายเม่น ตนกูปะสา (บือซา) พระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) จากตระกูล ‘เค่ง’ และพระยาหนองจิก (เวียง) เป็นต้น
โดยในสมัยของ พระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) ได้ย้ายที่ทำการของวังเจ้าเมืองจากตำบลคลองใหม่ เขตยะรัง มาไว้ที่ตำบลงตุหยง เมืองหนองจิก และทางราชการก็ได้ใช้ตำบลตุหยงเป็นสถานที่ราชการมาโดยตลอด กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการในอีกหลายสิบปีต่อมา เมืองหนองจิกจึงกลายสภาพมาเป็น ‘อำเภอหนองจิก’ อันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานีจวบจนปัจจุบัน
รายละเอียดในหลักฐานชิ้นสำคัญข้างต้น ที่ลบล้างวาทกรรมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้กล่าวถึง ‘เมืองหนองจิก’ ไว้อย่างไร ติดตามได้ใน https://www.luehistory.com/?p=20516
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory #โคกโพธิ์ #หนองจิก
โฆษณา