2 ส.ค. 2023 เวลา 13:00 • กีฬา

#MainStand : เมื่อครั้งหนึ่ง NBAเคยอนุญาตให้นักกีฬาสกรีนชื่อเล่นที่ด้านหลังเสื้อ

ในการแข่งขันกีฬาประเภททีมทั้ง ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือวอลเลย์บอล ในระดับอาชีพหรือสากล ที่บริเวณด้านหลังเสื้อมักจะเป็นพื้นที่ของการสกรีนหมายเลขประจำตัวของนักกีฬาพร้อมกับชื่อจริงหรือนามสกุลเพื่อบ่งบอกตัวตนของบุคคลนั้น
ทว่าครั้งหนึ่งการแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพอย่าง NBA เคยอนุญาตให้นักกีฬาสามารถสกรีนชื่อเล่นของตัวเองลงบนเสื้อแข่ง และแน่นอนว่ามีนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์หลายต่อหลายคนที่ได้ร่วมแคมเปญนี้พร้อมทั้งใส่ชื่อเล่นที่แสดงความเป็นตัวเองที่แอบแฝงไปด้วยความหมายสุดกินใจ และได้สวมใส่ในเกมระดับอาชีพจริง ๆ
เหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อไรและมีเรื่องราวเป็นอย่างไร ร่วมย้อนวันวานไปกับ Main Stand
เสื้อแข่งถือเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์กีฬาที่แฟน ๆ สามารถเลือกซื้อและจับจองเป็นเจ้าของได้ ซึ่งในการแข่งขัน NBA มักจะมีเสื้อแข่งรูปแบบใหม่ที่ได้รับการเปิดตัวออกมาจนสร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนกีฬาทั่วโลกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในปี 2014 ที่มีการเปิดตัวใช้เสื้อบาสรูปแบบใหม่
ย้อนกลับไปในการแข่งขัน NBA เมื่อฤดูกาล 2013-14 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แม้รูปลักษณ์และดีไซน์ของเสื้อแข่งจะดูเหมือนเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างจากปีก่อน ๆ คือชื่อของนักกีฬาที่อยู่ด้านหลังเสื้อ เมื่อทางลีกอนุญาตให้ผู้เล่นสามารถสกรีนชื่อเล่นของตัวเองลงบนเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันได้ และวางเป้าให้ผู้เล่นสวมใส่ถึงหนึ่งในสี่ของฤดูกาลปกติ จนทำให้หลาย ๆ ทีมมีการผลิตเสื้อที่กรีนชื่อเล่นของนักกีฬาจนกลายเป็นหนึ่งในสีสันของฤดูกาลดังกล่าว
เกมแรกที่ชื่อเล่นของนักกีฬาปรากฏอยู่บนเสื้อคือเกมที่ ไมอามี ฮีต แข่งขันกับ บรูคลิน เน็ตส์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 2014 ทางทีมไมอามีได้เปิดเผยเสื้อแข่งที่ถูกสกรีนชื่อของผู้เล่นภายใต้ชื่อคอลเล็กชันว่า “Name Collection” โดยที่บริเวณด้านหลังเสื้อของนักกีฬาซูเปอร์สตาร์มีการใช้ชื่อเล่นอันเป็นที่รู้จักของแฟนบาสและซ่อนเรื่องราวเอาไว้อย่างน่าสนใจ
เสื้อแข่งของ เลบรอน เจมส์ ใช้ชื่อเล่นว่า “King James” ซึ่งเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นหูและรู้จักกันเป็นอย่างดี การ์ดจ่ายตัวเก่งอย่าง ดเวย์น เวด ที่สกรีนชื่อ “D-Wade” และ เรย์ อัลเลน ที่สกรีนชื่อ “J.Shuttlesworth” ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในภาพยนตร์บาสเกตบอลเรื่อง He Got Game ที่มือปืนสามคะแนนรายนี้ได้เข้าไปร่วมแสดง ร่วมกับนักกีฬาคนอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี การเปิดตัวเสื้อที่ถูกสกรีนชื่อเล่นในครั้งนั้นถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการแข่งขันและยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ NBA ที่ด้านหลังเสื้อแข่งเป็นชื่อเล่นของนักกีฬาแทนที่นามสกุล
ซึ่งอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ทางลีกผลักดันให้นักกีฬาสามารถสวมเสื้อเหล่านี้ก็คือการทำการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าจากการขายเสื้อ
เรย์ อัลเลน อดีตนักกีฬาของไมอามี ฮีต เผยถึงความเปลี่ยนแปลงของลีกที่อนุญาตให้มีการสกรีนชื่อเล่น ซึ่งเขารู้สึกเห็นด้วยเนื่องจากชื่อดังกล่าวสามารถแสดงและบ่งบอกถึงตัวตนได้อย่างดี
“มันแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของลีกเราและแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ตอนที่เราเป็นเด็กเรายังเล่นเกมสำหรับเด็ก แม้ว่าในตอนนี้เราจะยังกลับไปเล่นเกมสำหรับเด็กอีก แต่เราทุกคนก็รู้ว่าตัวเองมาจากไหน ทุกคนมีชื่อเล่น ซึ่งมันเป็นอีกวิธีที่ทำให้แฟน ๆ เข้าถึงเรามากขึ้น”
แน่นอนว่าเหรียญมีสองด้าน ในความเป็นจริงแล้วการใช้ชื่อเล่นของนักกีฬายังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ทำให้ชื่อเล่นบางชื่อไม่สามารถใช้งานได้ อย่างกรณีของ เชน แบทเทียร์ ที่ไม่สามารถใช้ชื่อ “Batman” ได้ เนื่องจากอาจจะเข้าค่ายละเมิดลิขสิทธิ์ตัวละครชื่อดัง และยังมีนักกีฬาบางรายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อเล่นที่ด้านหลังเสื้อ
คริส บอช เซ็นเตอร์ชาวสหรัฐฯ ของไมอามี ฮีต ได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ชื่อเล่นบนเสื้อ ซึ่งเขาเองไม่ค่อยเห็นด้วยถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อีกทั้งยังมองว่าการใช้ชื่อเล่นเหมาะสมกับเด็กมากกว่า
เสื้อแข่งที่ได้รับการสกรีนชื่อสุดพิเศษเหล่านี้ถูกใช้ในการแข่งขันช่วงฤดูกาลปกติเท่านั้น แม้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อความทันสมัยและการเข้าถึงแฟนกีฬา แต่การผลิตเสื้อในลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งที่แฟนกีฬาย่อมกระทำได้เอง เนื่องจากการการคัสตอมชื่อเล่นนักกีฬาบนเสื้อกีฬาเป็นที่นิยมสำหรับแฟนบาสอยู่แล้ว และเชื่อว่าการได้เห็นนักกีฬาสวมเสื้อที่มีนามสกุลอาจสร้างความทรงจำอันแสนพิเศษได้มากกว่า
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว นับตั้งแต่ฤดูกาลดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน เสื้อที่ได้รับการสกรีนชื่อเล่นของนักกีฬายังไม่มีการใช้งานอีกครั้ง เนื่องจากหลาย ๆ คนมองว่าชื่อเล่นนั้นไม่ได้มีอิทธิพลต่อพวกเขามากนัก หรือในบางครั้งนักกีฬาบางรายไม่มีชื่อเล่นและไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างทำให้เสื้อดังกล่าวไม่ได้ส่งผลทางการตลาดเท่าที่ควร ทำให้เสื้อแข่งรุ่นพิเศษนี้กลายเป็นของแรร์ไอเทมสำหรับผู้ที่ครอบครองอยู่ในตอนนี้
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเกือบจะเกิดขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ของประเทศไทย ที่จะอนุญาตให้นักกีฬาฟุตบอลสามารถสกรีนชื่อเล่นของตัวเองลงบนเสื้อแข่งได้เพื่อเพิ่มสีสันให้กับการแข่งขันฟุตบอลในบ้านเรา แต่แล้วโปรเจ็กต์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา