4 ส.ค. 2023 เวลา 09:00 • สิ่งแวดล้อม
Thailand

หนึ่งเดียวในโลก THE ONE AND ONLY

อย่างแรกเลยคือต้องกราบขออภัยจากการที่ห่างหายไปอย่างยาวนานเกือบปี เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้ามหาลัยและมีอะไรถาโถมมาให้ทำเต็มไปหมด จนไม่มีเวลามาตั้งใจเขียนโพสต์ยาวๆเลย………ว่าไปนั่น เอาจริงๆคือแค่ขี้เกียจแหละ นี่ผมก็ปิดเทอมจนอีกไม่กี่วันก็จะเปิดเทอมขึ้นปี2แล้ว ก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า”เออเรามีเพจในblockditนี่หว่า” เลยขอมาปัดฝุ่นปัดหยักไย่ด้วยหัวข้อนี้กัน ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมเก็บประสบการณ์มาตลอด1ปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้
สำหรับหัวข้อที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ “ตุ๊กกาย”
หื้ออ นั่นตัวอิหยังนิ? นี่อาจจะเป็นคำคำแรกที่อยู่ในหัวของคุณ หรืออาจจะเป็น หื้อออ นั่นตุ๊กแกปะนิ? หรืออะไรก็ตามแต่ ผมหวังว่าโพสต์นี้จะให้คำตอบกับคุณได้
แต่ตุ๊กกายเนี่ยแหละ คือสัตว์ที่ผมเพิ่งได้เคยเห็นตัวเป็นๆครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และตั้งแต่นั้นมา มันก็กลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ผมพร้อมที่จะหามันทุกๆครั้งที่มีโอกาส มาจนถึงทุกวันนี้….
1
ตุ๊กกายลายผีเสื้อ (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘱𝘢𝘱𝘪𝘭𝘪𝘰𝘯𝘰𝘪𝘥𝘦𝘴) จาก สระบุรี
ตุ๊กกาย หรือ ตุ๊กแกป่า (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴) เป็นสกุลหนึ่งของวงศ์ gekkonidae ที่พบได้ในทวีปเอเชีย
ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ค่อนข้างคล้ายตุ๊กแกมากพอสมควร แต่สิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของมันเลยก็คือ นิ้วของมันที่ไม่มีปุ่มดูด มีแต่กรงเล็บ ทำให้มันไม่สามารถปีนบนผนังเรียบๆตามกำแพงหรือเพดานแบบตุ๊กแกได้ (ปล.ผมเรียกว่าปุ่มดูดเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่หลักการแบบสูญญากาศนะครับ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับประจุไฟฟ้า)
ซึ่งสำหรับตุ๊กกายที่พบได้ในไทยนั้้น ตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า45ชนิด และยังคงพบชนิดใหม่อีกเรื่อยๆ แถมยังมีบางพื้นที่ที่คาดเดาได้ว่าควรจะมีแต่ยังขาดการสำรวจอีกด้วย
แต่ในตอนนี้ 1ปีที่ผ่านมาผมก็พยายามหาโอกาสไปตามดูตุ๊กกายชนิดต่างๆในไทย จนผมก็ได้เห็นมาถึง8ชนิดแล้ว ซึ่งนั่นทำให้ผมยิ่งสนใจและสนุกกับการได้เจอตุ๊กกายมากขึ้นเรื่อยๆเพราะแต่ละชนิดก็มีสิ่งที่น่าสนใจให้กลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม บางชนิดก็มีสีสันที่โดดเด่น บางชนิดก็หน้าตาคล้ายๆกันแต่ที่อยู่อาศัยต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกมันมีคุณค่าจนไม่สามารถประเมินค่าได้คือ มีหลายชนิดมากที่ถูกเรียกเป็น endemic species หรือ สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น สิ่งมีชีวิตที่พบได้เพียง”ที่เดียวบนโลก”
ผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตุ๊กกาย8ชนิดนี้ทีละชนิด เรียงตั้งแต่ตุ๊กกายตัวแรกที่ผมได้เจอ จนถึงตัวล่าสุดที่ผมเพิ่งเจอมาเมื่อไม่กี่วันก่อน มาค่อยๆเรียนรู้ไปด้วยกันครับ
TO THE BEGINNING
18/6/2022
ใช่……นี่แหละรูปตุ๊กกายรูปแรกของผม555555
รูปแบบเกินจะบรรยาย(เพราะไม่มีอะไรให้บรรยาย) ถ่ายมาเหมือนให้รู้แค่ว่าเคยเจอ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้จักคำว่าตุ๊กกายด้วยซ้ำ แต่ก็ได้มารู้ทีหลังว่าน้องมีชื่อว่าตุ๊กกายมลายู(𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘤𝘰𝘯𝘴𝘰𝘣𝘳𝘪𝘯𝘶𝘴) ตุ๊กกายที่สามารถพบได้ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ในไทยสามารถพบได้แค่ในนราธิวาสและยะลาเท่านั้น ซึ่งครั้งนี้ผมก็ได้ไปเดินในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลาตอนกลางคืน และก็ได้เจอน้องเกาะอยู่บนพูพอนต้นไม้ที่ใหญ่มากๆต้นนึง ถ่ายมาได้รูปเดียวน้องก็รีบปีนเข้าไปหลบอยู่ในซอกต้นไม้ทันที
ตอนนั้นผมก็แค่ตื่นเต้นกับการได้เจอสัตว์ชนิดใหม่สำหรับตัวเอง แต่พอไปหารูปน้องดูชัดๆเท่านั้นและ……แทบจะเป็นลม
ตุ๊กกายมลายู (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘤𝘰𝘯𝘴𝘰𝘣𝘳𝘪𝘯𝘶𝘴) ขอบคุณภาพจาก Andaman Kaosung
สีสันน้องอลังการมากกกกกกก เห็นแล้วผมอยากกลับไปตามหาอีกรอบเลย🥲
หลังจากที่ได้เจอตุ๊กกายชนิดแรกไป ที่ไม่ได้เห็นแม้กระทั่งหน้าตา…..ผมก็ได้มีโอกาสไปดูตุ๊กกายชนิดที่สอง ในบริเวณถ้ำหินปูนจังหวัดสระบุรี
ตุ๊กกายถ้ำหางขาว (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘤𝘩𝘢𝘯𝘩𝘰𝘮𝘦𝘢𝘦)
8/6/2022
วันนั้นเป็นวันแรกที่ผมได้เห็นตุ๊กกายแบบชัดๆ ซึ่งหนึ่งในลักษณะที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว้าวมากๆคือ ดวงตาของน้องใหญ่ม๊ากกกกกกก ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า ตุ๊กกาย เป็นสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน(Nocturnal) แถมมันยังเป็นตุ๊กกายที่มักจะอาศัยอยู่ในบริเวณปากถ้ำตามแนวเขาหินปูนจังหวัดสระบุรีเท่านั้นอีกด้วย ตอนกลางวันมันก็จะหาที่นอนตามซอกหลืบต่างๆ แล้วค่อยออกมาหาแมลงกินตอนกลางคืน
ตุ๊กแกสยาม 𝘎𝘦𝘬𝘬𝘰 𝘴𝘪𝘢𝘮𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 จาก สระบุรี
อันนี้แถมนะครับ ตัวนี้คือตุ๊กแกสยาม หรือ ตุ๊กแกตาเขียว เป็นสัตว์อีกชนิดที่พบได้เฉพาะแนวเขาหินปูนจังหวัดสระบุรีอีกเช่นกัน
ซึ่งก็น่าเสียดาย ที่แนวเขาหินปูนนี้กำลังโดนรุกรานอย่างหนักจากการทำเหมืองปูน🥲 ถ้าแนวเขานี้หายไป สิ่งมีชีวิตพวกนี้ คงจะเหลือแค่ชื่อไปตลอดกาล…
พัฒนาการของผมเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พอรู้ว่าจะมีโอกาสเจอตุ๊กกาย ก็เริ่มเตรียมเลนส์มาโคร เตรียมแฟลชไปถ่าย ให้ทุกคนได้เห็นภาพที่สวยงามมากขึ้น
ตุ๊กกายลายผีเสื้อ (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘱𝘢𝘱𝘪𝘭𝘪𝘰𝘯𝘰𝘪𝘥𝘦𝘴) จาก สระบุรี
8/1/2023
ชนิดนี้จะมีจุดเด่นตรงที่ลายบนหลังที่คล้ายปีกผีเสื้อ จึงเป็นที่มาของชื่อ
และถึงแม้จะพบตามแนวเขาหินปูนในบริเวณจังหวัดสระบุรีเหมือนกัน แต่เท่าที่ผมสังเกตคือตุ๊กกายแต่ละชนิดดูจะมีเขตการกระจายพันธุ์ที่ไม่ทับซ้อนกันซักเท่าใหร่ ซึ่งนั่นก็เป็นตัวบ่งบอกว่าตุ๊กกายแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปตามที่อยู่อาศัยที่มันอยู่
เจ้าตัวนี้ผมเห็นว่าดวงตาของน้องไม่ได้ใหญ่เท่าตุ๊กกายถ้ำหางขาวชนิดก่อนหน้า ผมเดาว่าเป็นเพราะมันจะอยู่บนเขาหินปูน ไม่มีการเข้าไปอยู่ในถ้ำที่มืดจนต้องมีดวงตาที่ใหญ่ขึ้น(เดาล้วนๆ อย่าเชื่อนะ55555)
จิ้งจกดินข้างดำ (𝘋𝘪𝘹𝘰𝘯𝘪𝘶𝘴 𝘮𝘦𝘭𝘢𝘯𝘰𝘴𝘵𝘪𝘤𝘵𝘶𝘴)
แน่นอนว่าระบบนิเวศเขาหินปูนในภาคกลางของไทยก็ไม่ได้มีแค่ตุ๊กแกกับตุ๊กกายที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีก ตัวอย่างเช่นเจ้าจิ้งจกดินข้างดำที่พบได้เฉพาะบริเวณเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาดงพญาเย็น (ยังมีนกจู๋เต้นสระบุรีอีกที่พบได้เฉพาะเขาหินปูนภาคกลาง แต่ขออุบไว้ก่อนละกัน😉)
หลังจากตุ๊กกายลายผีเสื้อ ผมก็ได้ไปงานนับนกที่เขาใหญ่ ซึ่งตอนกลางคืนที่ค่ายสุรัสวดี ซึ่งพี่ที่ไปด้วยกัน(คนที่ให้ยืมรูปตุ๊กกายมลายู) เจอตุ๊กกาย เราก็เลยมีโอกาสได้เห็นน้องงงงง
ตุ๊กกายป่าตะวันออก (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘪𝘯𝘵𝘦𝘳𝘮𝘦𝘥𝘪𝘶𝘴) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
18/2/2023
เท่าที่ผมสังเกต ตุ๊กกายที่มีการปรับตัวให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าได้ จะมีเขตการกระจายพันธุ์ที่กว้างกว่า เพราะของตุ๊กกายป่าตะวันออก ในไทยจะพบได้บนเทือกเขาดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง เทือกเขาจันทบุรี และเทือกเขาบรรทัด และจากเทือกเขาบรรทัด ก็ยาวลงไปถึงกัมพูชาเลยทีเดียว แต่พวกตุ๊กกายที่อาศัยอยู่บนเขาหินปูน ก็จะพบได้แค่พื้นที่เขาหินปูนเลย ไม่มีการเจอนอกพื้นที่แต่อย่างใด
และผมสังเกตเห็นอย่างนึงคือ เหมือนน้องตัวนี้จะไม่สามารถหดรูม่านตาข้างขวาได้ สงสารเลย
ชนิดถัดไปนี่เป็นความผิดพลาดขั้นหนักสำหรับผมเลย…เพราะผมไม่ได้ถือกล้องไปยังไงล่ะ🥹
ตุ๊กกายดงพญาเย็น (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘢𝘯𝘨𝘶𝘭𝘢𝘳𝘪𝘴) จาก สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ขอบคุณภาพจากอาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
คือ….ผมก็ถ่ายมานะ ด้วยโทสับอะ55555
อยากเปลี่ยนโทสับโว้ยยยยย
20/5/2023
แต่อย่างน้อยเราก็ได้อะไรหลายๆอย่างจากตุ๊กกายชนิดนี้
1. ตุ๊กกายชนิดนี้เวลาน้องขู่ น้องจะชูหางขึ้นมาแบบรูปแรก
2. จะสังเกตเห็นได้ว่า น้องมีความคล้ายกับตุ๊กกายลายผีเสื้อพอสมควรเลย ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเพราะว่าแต่เดิมพวกมันเคยมีสายวิวัฒนาการด้วยกันมาก่อน (angularis complex) แต่แยกกันไปตามถิ่นอาศัย
เพราะตุ๊กกายลายผีเสื้อจะพบเฉพาะบนเขาหินปูนภาคกลาง แต่ตุ๊กกายดงพญาเย็น จะอาศัยอยู่ในป่าเฉพาะบนเทือกเขาดงพญาเย็นเท่านั้น
@เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โตนงาช้าง จังหวัดสงขลา
จริงๆแล้วทริปนี้ผมไปค่ายค้างคาว ไปเรียนรู้เกี่ยวกับค้างคาวชนิดต่างๆในไทย
แต่ช่วงที่ว่างๆก็พยายามไปเดินหาสัตว์กลางคืนชนิดอื่นๆเหมือนกัน
แล้วเราก็เจอนี่!!!!!!!!
ตุ๊กกายท้าวแสนปม (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘮𝘢𝘤𝘳𝘰𝘵𝘶𝘣𝘦𝘳𝘤𝘶𝘭𝘢𝘵𝘶𝘴) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โตนงาช้าง
22/6/2023
ถ้าไม่นับตุ๊กกายมลายูที่ได้เห็นแค่หลังแบบไกลๆ ตุ๊กกายชนิดนี้คงเป็นตุ๊กกายที่สวยที่สุดสำหรับผมแล้ว
ตุ๊กกายท้าวแสนปม จะพบได้ในจังหวัดสงขลาและยะลา รวมไปถึงเกาะ Langkawi และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย
เอาจริงๆถ้าชื่อท้าวแสนปมไม่ใช่ชื่อโรค คงเป็นชื่อที่เท่มากๆชื่อหนึ่ง แต่สาเหตุที่ตุ๊กกายชนิดนี้ได้ชื่อว่าตุ๊กกายท้าวแสนปม หรือตุ๊กกายตุ่มใหญ่เพราะผิวของมันขรุขระมากๆ มีตุ่มเต็มตัว
ชื่อวิทย์ของมันเลยมีชื่อว่า macrotuberculatus
โดย Macro แปลว่า ใหญ่ tubercula แปลว่า ตุ่ม
หลังจากได้เจอตุ๊กกายท้าวแสนปมไปไม่นาน ผมก็ได้ไปดูนกที่แก่งกระจานต่อ
ตอนกลางคืนพวกผมก็ออกมาเดินกลางคืนในที่พักที่ชื่อบ้านมะค่า ซึ่งที่นี่ก็มีโอกาสเจอตุ๊กกายได้เหมือนกัน…..และก็เจอจริงๆ
ตุ๊กกายเพขรบุรี (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘱𝘩𝘦𝘵𝘤𝘩𝘢𝘣𝘶𝘳𝘪𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴) @บ้านมะค่า เพชรบุรี *ไม่สนับสนุนการจับสัตว์ป่าโดยขาดความรู้ความเข้าใจสัตว์ โปรดอย่าลอกเลียนแบบ*
แต่ตอนนั้นผมถ่ายแบบลวกๆเกินไปหน่อย ลืมเช็ครูปตัวเองว่ามันโฟกัสแค่หัว ช่วงตัวเบลอหมดเลย5555 ด้วยความที่ตัวที่ผมเจอมันยังเด็กอยู่ ตัวเลยเล็ก โฟกัสยาก ผมเลยขอยืมภาพชัดๆมาเป็นตัวอย่างเพิ่มเติมละกัน
ขอบคุณภาพจาก Andaman Kaosung
28/6/2023
ตามชื่อเลย ตุ๊กกายชนิดนี้พบได้ในจังหวัดเพชรบุรี แต่ก็สามารถพบในจังหวัดที่ติดกันอย่างราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์ได้เหมือนกัน ก็คือตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีนั่นแหละ
การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตในบางครั้งเราก็จะตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันมีแค่ที่นั่นที่เดียว เพราะเราก็อาจจะพบมันอยู่ที่อื่นในอนาคตได้เช่นกัน
มาถึงชนิดสุดท้ายกันแล้ว ตุ๊กกายชนิดนี้เป็นชนิดที่ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อไม่นานมานี้เลย และน้องก็สวยงามมากๆ
ตุ๊กกายถ้ำปล้องทอง (𝘊𝘺𝘳𝘵𝘰𝘥𝘢𝘤𝘵𝘺𝘭𝘶𝘴 𝘢𝘶𝘳𝘪𝘣𝘢𝘭𝘵𝘦𝘢𝘵𝘶𝘴) พิษณุโลก
30/7/2023
ตุ๊กกายถ้ำปล้องทอง หรือตุ๊กกายเข็มขัดทอง เป็นตุ๊กกายที่สามารถพบได้ตามถ้ำหินปูนต่างๆในจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ซึ่งสำหรับผมแล้ว การที่จะมาดูตุ๊กกายชนิดนี้ได้ เป็นอะไรที่ยากพอสมควร เพราะปกติเวลาผมหาสถานที่ดูนก มักจะไม่ค่อยมาดูนกในจังหวัดนี้ซักเท่าใหร่ ถ้าจะขึ้นเหนือทั้งทีผมก็คงขึ้นไปลำพูน เชียงใหม่เชียงรายไปเลย แต่ครั้งนี้เรามาเพื่อมาตามหามันกับการดูสัตว์ในถ้ำโดยเฉพาะ
แต่สำหรับการเจอตุ๊กกายครั้งนี้เป็นครั้งที่แตกต่างออกไปจากครั้งอื่น เพราะครั้งอื่นผมมักจะเจอแค่ตัวเดียว แต่ครั้งนี้เราเจอเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า5ตัวแน่นอนในทริปเดียว
และการที่เจอมากกว่า1ตัวในครั้งนี้ มันทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบตุ๊กกายแต่ละตัว ซึ่ง2รูปบนนี้ เราเจอมันอยู่ตามหินปูนนอกถ้ำ
ภาพที่2คือน้องพยายามโก่งตัวเพื่อขู่ คล้ายๆแมว
แต่2รูปนี้ เป็นอีกตัวที่เราเจอในถ้ำ
สีสันไม่เหมือนกันเลย!!!! คือตำแหน่งของลวดลายยังคงเป็นเข็มขัดตามชื่อ แต่ตัวที่2สีจางกว่ามาก แถมดวงตายังคนละสีกันอีก
โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นเพราะอายุครับ เพราะเจ้าตัวแรกยังเป็นตัวที่ยังเด็กอยู่ สีเลยสด กลับกันคือเจ้าตัวที่สองที่เจอในถ้ำนี้โตเต็มที่และพร้อมผสมพันธ์ุ(เป็นตัวผู้ อวัยวะเพศบวม) ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับสัตว์เลื้อยคลาน ตอนเด็กมักจะสีสดกว่าตอนโตเต็มวัย
สัตว์1ชนิดไม่ได้หมายความว่าหน้าตาจะต้องเหมือนกันทุกระเบียดนิ้ว มันอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างตามสภาพแวดล้อม อารมณ์ อายุ และความแปรผัน(variation)ของแต่ละตัว หรือบางทีถ้ามันต่างกันมากเกินไปก็อาจจะถูกแยกเป็นชนิดใหม่ ซึ่งเราก็ต้องศึกษากันเป็นรายชนิด อาจจะด้วยการตรวจDNAหรือกระบวนการอื่นๆ ก็ต้องศึกษาเก็บข้อมูลกันต่อไป
และก็อีกอย่างนึงคือ ตุ๊กกายสามารถสลัดหางได้นะครับ และแน่นอนว่าสัตว์เลื้อยคลานที่สลัดหางได้ พอหางงอกออกมาใหม่แล้วมักจะไม่สวยงามเท่าเดิม อย่างเช่นเจ้าตัวที่เจอในถ้ำนี้จะชัดเจนมากว่าน้องเคยสลัดหางมาแล้ว เพราะสีสันบนหางของน้องไม่สัมพันธ์กับสีบนตัวเลย
….หมดไปแล้วสำหรับตุ๊กกายทั้ง8ชนิดที่ผมได้เจอมาและอยากจะพูดถึง เป็นโพสต์ที่ค่อนข้างยาวเลยแต่สุดท้ายผมก็เขียนเสร็จจนได้(มีอยู่โพสต์นึงที่เขียนยาวกว่านี้แต่มันไม่จบซักที เลยพับเก็บไป555555)
สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านได้รู้ก็คือ ผมอยากให้รู้ว่าในประเทศไทยของเรามีสิ่งมีชีวิตที่ทรงคุณค่าถึงขนาดที่มีเพียงแค่ประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่มีอยู่มากมาย ทั้งชนิดที่เรารู้จักอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่รู้คุณค่าของมัน หรืออีกหลายชนิดที่ยังคงรอการค้นพบอยู่ และหลายๆชนิดก็กำลังเผชิญกับการถูกรุกรานโดยมนุษย์…บางทีคงจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่หลายชนิดเหมือนกันที่อาจจะสูญพันธุ์ไปโดยไม่มีใครได้รู้จักเลยด้วยซ้ำ
สำหรับผมแล้ว การที่ได้ออกเดินทางไปดูสัตว์เช่นตุ๊กกายพวกนี้ มันเป็นอะไรที่สนุกและมีความสุขมากๆ เพราะทุกๆการเดินทางเรามักจะได้ค้นพบอะไรใหม่ๆตลอด เช่นสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ (อย่างเช่นตอนที่ขึ้นไปถึงดอยอินทนนท์เพื่อไปหาตุ๊กกายดอยอินทนนท์…..แต่หาไม่เจอ ไม่งั้นโพสต์นี้คงจะเป็น9ชนิดไปแล้ว) และผมก็หวังว่าหลังจากที่ทุกคนได้อ่านโพสต์นี้แล้ว จะได้รู้จักตุ๊กกายเหล่านี้มากขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
Zoology has always been interesting to me.
Nature is fascinating.
Nicolas Cage
แล้วเจอกันใหม่…….ในวันที่ผมว่าง🥹
ถ่ายคู่กับตุ๊กกายป่าตะวันออก
อ้างอิง:
- ขอบคุณภาพจาก อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, อันดามัน เขาสูง, กตัญญู วุฒิชัยธนากร
- ข้อมูลการกระจายพันธุ์ของตุ๊กกาย inaturalist.org, https://www.researchgate.net/publication/234032436
โฆษณา