14 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

“ทำน้อยแต่ได้มาก” แนวคิดบริหารชีวิต ให้มีเวลาไปทำอย่างอื่น

เคยเป็นแบบนี้กันไหม งานที่ต้องทำดูเหมือนเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ แต่พอทำๆ ไปเหนื่อยเสียยิ่งกว่าการทำงานใหญ่งานเดียวอีก!
เมื่อเจอสถานการณ์นี้ก็เชื่อว่าหลายคนคงจะต้องทำงานกันจนมือเป็นระวิงและไม่ได้มีแวะพักจิบน้ำสักนิดหรือพักสมองกันสักหน่อยเป็นแน่ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปทุกวันๆ สุดท้ายเราก็คงจะหมดแรง หมดไฟ และหมดใจในการทำงานอย่างแน่นอน
2
คำถามคือ แล้วคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้จนแทบจะหมดไฟในการทำงานไปเสียแล้ว ควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี?
ในพอดแคสต์ Mission To The Moon EP. “วิธีบริหารเวลาชีวิต ผ่านแนวคิดทำน้อยแต่ได้มาก” ได้พูดถึงแนวคิดหนึ่งที่สามารถช่วยให้เรารับมือกับเรื่องนี้และบริหารจัดการชีวิตได้ดีขึ้น จนทำให้ความโปรดักทีฟและไฟในการทำงานของเรากลับมาลุกโชนขึ้นได้อีกครั้ง! ซึ่งแนวคิดนั้นก็คือ “การทำน้อยแต่ได้มาก”
1
พลังของการทำน้อยแต่ได้มาก
เมื่อพูดถึงคำว่า “ทำน้อยแต่ได้มาก” หลายคนก็คงจะคุ้นหูกับคำนี้บ้างไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนที่พอฟังแล้วเกิดอาการ “เอ๊ะ” ว่าเราจะทำงานอย่างไรให้ทำน้อยแต่ได้มาก และบางคนก็อาจจะสงสัยอีกว่าเราต้องละทิ้งงานที่ได้รับมอบหมายมาเหรอ แบบนั้นเราจะไม่โดนหมายหัวจากเจ้านายเหรอ?
จริงๆ แล้วแก่นสำคัญของการทำน้อยแต่ได้มากไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ แต่มันคือ “การบริหารจัดการชีวิต” ให้ดีขึ้น เพื่อที่เราจะได้ทำน้อยลงแต่ประสิทธิภาพการทำงานยังคงอยู่เหมือนเดิม
โดยปกติแล้ว เรามักจะได้ยินหลายคนแนะนำว่า “ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ทำให้มากขึ้นสิ พยายามให้มากขึ้นสิ” หรือพูดอีกอย่างคือ หลายคนพยายามบอกเราว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เราลงมือลงแรงไปมากเท่าไร ผลตอบแทนก็จะออกมามากเท่าที่เราลงมือทำไป แต่จริงๆ แล้วมันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป หรือมันอาจจะตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ
1
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากยิ่งขึ้น สมมติว่ามีคนอยู่สองคน
[ ] คนที่หนึ่ง : ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันและใส่ความพยายามลงไปกับทุกๆ งาน ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่
[ ] คนที่สอง : โฟกัสไปทีละงานและพยายามตัดงานที่ไม่จำเป็นออก
ทุกคนคิดว่าผลลัพธ์สุดท้ายแล้วใครจะทำงานได้ดีกว่ากัน?
บางคนอาจจะคิดว่าคนแรกเพราะคนนั้นใส่ความพยายามลงไปกับทุกๆ งาน แต่จริงๆ แล้วถ้าเขาใส่ความพยายามลงไปกับทุกๆ งานและพยายามทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน แน่นอนว่าเขาจะทำงาน “เสร็จ” ตามเวลาได้ แต่สุดท้ายก็จะจบวันลงด้วยความเหนื่อยล้าเป็นแน่ เพราะพยายามทำหลายอย่างพร้อมกันเกินไป ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
ส่วนคนที่สองที่พยายามโฟกัสไปทีละงานและพยายามตัดงานที่ไม่จำเป็นออก โดยอาจจะเอาเครื่องมืออะไรหลายๆ อย่างเข้ามาช่วยในการทำงาน คนนี้รู้ว่าตัวเองต้องโฟกัสกับงานไหน เพื่อให้งานนั้นๆ ออกมาได้ดีที่สุด แล้วค่อยไปทำงานอื่นๆ ต่อ สุดท้ายแล้วคนนี้จะทำงานได้ “สำเร็จ” และผลลัพธ์ของงานก็น่าจะออกมาดีกว่าคนแรก
คนที่สองก็คือตัวอย่างของคนที่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” นั่นเอง
การทำน้อยไม่ได้หมายความว่าเราขี้เกียจ แต่มันคือการที่เราสามารถรวบรวมพลังงานของตัวเองไปลงมือทำงานที่ “ควรทำ” ส่วนงานเล็กๆ น้อยๆ เราก็หาวิธีอื่นมารับมือกับมัน อย่างตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นก็คือ การนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย
แก่นสำคัญง่ายๆ ที่เราควรจำไว้คือ ให้เน้นที่ “คุณภาพ” มากกว่าปริมาณ
ยิ่งทำงานเยอะ ยิ่งโปรดักทีฟ?
บางคนคิดว่ายิ่งทำงานเยอะ ชีวิตจะยิ่งโปรดักทีฟ จึงพยายามโอบรับงานทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง จนมีงานกองอยู่ตรงหน้าเต็มไปหมด พอวันไหนที่เราเริ่มรู้สึกไม่ไหว มันก็อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าสะสมและหมดไฟในการทำงานลง
จริงๆ แล้วการทำงานได้เยอะ ไม่ได้แปลว่าเราจะทำงานได้สำเร็จหรือมีคุณภาพเสมอไป รวมถึงไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความโปรดักทีฟด้วย เพราะความโปรดักทีฟมันคือการที่เราสามารถบริหารจัดการชีวิตและใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายมันก็จะวนกลับไปที่คำว่า “ทำน้อยแต่ได้มาก”
ซึ่งสอดคล้องกับการที่เดวิด อัลเลน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Getting Things Done: the Art of Stress-Free Productivity" ได้บอกไว้ว่า การทำน้อยแต่ได้มากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ความสนใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ข้างหน้าอย่างเต็มที่ เราจะต้องปล่อยให้จิตใจของเราพักผ่อนและมีที่ว่างอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง แล้วการที่เราพยายามทำงานในหนึ่งวันให้ได้หลายๆ อย่างโดยไม่มีกลยุทธ์อะไรเลย ก็ไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น เราต้องรู้จักวางแผนและค่อยๆ โฟกัสไปทีละงาน เพื่อบริหารจัดการเวลาให้ดีที่สุด
บริหารเวลาชีวิตให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีแห่งยุค!
1
เราทุกคนต่างรู้กันดีว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ตอนนี้มีเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราสามารถหยิบจับมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
ล่าสุดงานวิจัยใหม่จาก Stanford และ MIT พบว่า AI อย่างเช่น Chatbot ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในบริษัทเทคแห่งหนึ่งได้ถึง 14% แล้วยังพบอีกว่าพนักงานมือใหม่กับคนทำงานกลุ่ม Low-skilled นั้นสามารถทำงานได้เร็วขึ้นถึง 35%
จริงๆ แล้วไม่ว่าจะพนักงานระดับไหนก็สามารถนำ AI มาช่วยเสริมการทำงานได้ทั้งนั้น เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เราสามารถหยิบยกมาใช้ได้ และงานบางอย่าง AI ทำได้เร็วกว่ามนุษย์เสียอีก
ตัวอย่าง AI ที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีในตอนนี้คือ ChatGPT ตัวนี้เป็น Generative AI ที่เราเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งกับการทำงานและการใช้ชีวิตเลย เช่น การให้ช่วยการวางแผนการเที่ยวหรือการทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเขียนอีเมล เป็นต้น
ใครที่กำลังมีปัญหากับการจัดระเบียบชีวิต รู้สึกว่างานกองท่วมหัวและงานล้นมือจนไม่รู้จะทำอย่างไร ก็สามารถนำแนวคิด “การทำน้อยแต่ได้มาก” ไปลองปรับใช้กับชีวิตและการทำงานกันดูได้
หวังว่าทุกคนจะกลับมาทำงานได้อย่างสดใสและมีความโปรดักทีฟยิ่งขึ้นนะ (:
สามารถรับฟังพอดแคสต์ Mission To The Moon EP. “วิธีบริหารเวลาชีวิต ผ่านแนวคิดทำน้อยแต่ได้มาก” ได้ที่ :
1
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา